ปังคักหลาย ธุรกิจหมอลำ ฟื้นจากโควิด เดินสายโกยรายได้ก่อนปิดฤดูกาล

กำลังครึกครื้นทั่วไทยสำหรับกิจกรรมการแสดงหมอลำ หนึ่งในเวทีความบันเทิงที่ฟื้นตัวกลับมาแล้วอย่างเต็มรูปแบบหลังเกิดโควิด-19 โดยเฉพาะเวทีหมอลำใหญ่ “ลำเรื่องต่อกลอน” ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากทุกเพศทุกวัย รวมยอดคนดูนับหมื่นคนต่อคืน สร้างรายได้และเงินสะพัดหลายล้านบาทต่อเดือน

หมอลำเงินดีกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

เฉพาะในจังหวัดขอนแก่น 26 อำเภอ ที่เป็นเมืองหมอแคนแดนหมอลำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีวงหมอลำกระจายอยู่เกือบทุกอำเภอ ช่วงการแสดงคือออกพรรษา-ช่วงเข้าพรรษา ระยะเวลารวมประมาณ 9 เดือน หลังจากนั้นถึงจะหยุดพักงาน

โดยหมอลำกลอนแบบดั้งเดิมราคาจ้างอยู่ที่ 2-3 หมื่นบาท/งาน/วัน หมอลำซิ่งหรือหมอลำกลอนประยุกต์ราคาอยู่ที่ 4-6 หมื่นบาท/งาน/วัน ถัดมาเป็นหมอลำเรื่องต่อกลอน ซึ่งเป็นหมอลำวงใหญ่และได้รับความนิยมมากที่สุด ในจังหวัดมีเกือบ 20 วง ทั้งวงเล็กวงใหญ่ ราคาเริ่มต้นที่ 2 แสนบาทขึ้นไป

คณะใหญ่ที่มีชื่อเสียงหากไม่มีคนจ้างงานก็สามารถแสดงแบบเก็บบัตรหน้างานได้ เพราะมักจะมีแฟนคลับ มีพ่อยก แม่ยก เป็นจำนวนมาก

“สำหรับหมอลำที่โด่งดังที่สุดในภาคอีสานขณะนี้ จะเป็นหมอลำเรื่องต่อกลอน 3 อันดับแรก คือ ระเบียบวาทะศิลป์ ประถมบันเทิงศิลป์ และรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์ ราคาจ้างงานขั้นต่ำจะอยู่ที่ 2.5 แสนบาท/งาน/วัน บุคลากร 300-400 คน/วง คณะที่เหลือก็รองลงมา

ทั้งคนและราคาจ้างก็ลดหลั่นลงตามลำดับ เรียกได้ว่าในธุรกิจหมอลำสร้างเงินสะพัดได้หลายร้อยบาทต่อเดือนต่อปี แต่ประเมินค่อนข้างยากเพราะแต่ละวงมีขนาดไม่เท่ากัน อัตราการจ้างงานก็ต่างกัน ความถี่การรับงานหรือการแสดงก็เฉลี่ยไม่ได้”

“คุณราตรี ศรีวิไล” บอกว่า อาชีพหมอลำหากมีชื่อเสียงจะหาเงินได้มากกว่าเงินเดือนค่าแรงขั้นต่ำ อาจได้มากถึง 2-3 หมื่นบาท/เดือน ระดับแดนเซอร์เฉลี่ยขั้นต่ำ 500 บาท/คืน ยิ่งช่วงเทศกาลจะได้มากเป็นพิเศษ

โดยคณะหมอลำใหญ่ที่มีชื่อเสียงเมื่อหักค่าใช้จ่ายหลังการแสดงและแบ่งค่าแรงในวงแล้ว จะได้กำไรไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท/วัน แต่อาชีพนี้มีความเสี่ยงคือความไม่แน่นอน เพราะไม่ใช่งานประจำที่มีเงินเดือนตลอด เป็นอาชีพที่กอบโกยได้เฉพาะในช่วงนี้เท่านั้น

“อย่างไรก็อยากฝากถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้ามาช่วยดูแลสนับสนุนหมอลำพื้นถิ่นในพื้นที่มากขึ้น มากกว่าวงคอนเสิร์ตสตริงหรือเพื่อชีวิต และอยากให้เข้ามาพัฒนาหมอลำรุ่นใหม่เพื่อเชื่อมโยงศิลปะและวัฒธรรมมากขึ้น เพราะหมอลำยุคใหม่หลายคนไม่มีความรู้และวิ่งตามสื่อ วิ่งตามกระแสมากเกินไป จนขาดความเป็นศิลปะและวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าแท้จริง”

อ้างอิงจาก:

https://www.prachachat.net/local-economy/news-1209533

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top