พามาเบิ่ง “4 ภูเขาไฟ” ยอดฮิต บุรีรัมย์-สุรินทร์ 

พามาเบิ่ง

“4 ภูเขาไฟ” ยอดฮิต

บุรีรัมย์-สุรินทร์ 

 

เมืองไทยมีวิวภูเขาสวยๆ หลายแห่ง แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าประเทศของเราก็มี “ภูเขาไฟ” ด้วยเช่นเดียวกัน แต่เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว โดยมีมากนับสิบแห่งและพบในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ อีกทั้งบางแห่งในปัจจุบันยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เราสามารถไปเยี่ยมชมได้ ดังเช่นที่ “จังหวัดบุรีรัมย์-สุรินทร์” ในแถบอีสานใต้ ที่มีภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วหลายแห่ง

 

โดยทาง ISAN Insight & Outlook พามาเบิ่ง “4 ภูเขาไฟ” ยอดฮิต

บุรีรัมย์-สุรินทร์ 

 

ภูเขาไฟพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์

ขอบปล่องทางทิศใต้เป็นที่ตั้งปราสาทหินพนมรุ้ง เทวสถานที่เดิมสร้างขึ้นในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการก่อสร้างอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15-18

สำหรับตัวอาคารปราสาทประธานก่อสร้างด้วยหินทรายสีชมพูอันงดงามสมส่วน ตามจุดต่างๆจะมีภาพสลักหินฝีมือวิจิตรประณีต นำโดย “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” และภาพ “ศิวนาฏราช” รวมไปถึงภาพจำหลักหินเป็นเรื่องราวต่างๆ ที่งดงามและค่อนข้างสมบูรณ์

นอกจากความงดงามอลังการแล้ว ทุกๆ ปีปราสาทหินพนมรุ้งยังมีสิ่งอันน่ามหัศจรรย์เกิดขึ้น กับปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ลอดช่องผ่านบานประตูทั้ง 15 ช่องเป็นแนวเดียวกันได้อย่างพอดี โดยปีหนึ่งจะมีเพียง 4 ครั้งเท่านั้น คือ ขึ้น 2 ครั้ง ในช่วงเดือน เม.ย.และ ก.ย. ตก 2 ครั้ง ในช่วงเดือน มี.ค.และ ต.ค. นับเป็นความมหัศจรรย์และแสดงถึงความสามารถของผู้ออกแบบและสร้างปราสาทพนมรุ้งได้เป็นอย่างดี

 

ภูเขาไฟอังคาร จังหวัดบุรีรัมย์

เขาพระอังคารนี้เป็นเนินเขาฐานกว้าง เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟในยุคควอเทอร์นารีเมื่อประมาณ 700,000 ปีมาแล้ว หากมองจากที่สูงจะมองเห็นเป็นรูปพญาครุฑที่กำลังกระพือปีกหรือคว่ำหน้าหันหัวไปทางทิศใต้ โดยมีปากปล่องใหญ่อยู่ที่เขากระดูกซึ่งเป็นจุดสูงสุด เกิดจากหินหลอมละลายปะทุออกมาแล้วเย็นตัวอย่างรวดเร็ว

ก่อนที่จะมีการสร้างวัด มีหลักฐานว่าที่นี่เคยเป็นพุทธสถานมาแต่โบราณ โดยได้พบโบราณวัตถุคือใบเสมาหินบะซอลต์สมัยทวารวดีซึ่งพบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยตั้งอยู่รอบอุโบสถ ใบเสมาเหล่านี้มีภาพสลักรูปบุคคล สถูป ดอกบัว และธรรมจักร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 อายุประมาณ 1,300 ปี

 

ภูเขาไฟกระโดง จังหวัดบุรีรัมย์

นักท่องเที่ยวสามารถเดินบนสะพานแขวนเพื่อชมทัศนียภาพของปากปล่องภูเขาไฟที่มีลักษณะเป็นหลุมลึกได้ หรือหากอยากชมอย่างใกล้ชิดก็สามารถลงไปเดินบนทางเดินเท้าก่อด้วยหิน สามารถมองเห็นหินฟองน้ำ หรือหินลอยน้ำ กระจายอยู่โดยรอบ

บนยอดเขากระโดงยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระสุภัทรบพิตร” พระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์ เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 12 ม. ฐานยาว 14 ม. หันหน้าไปทางด้านทิศเหนือ ในพระเศียรพระสุภัทรบพิตรยังมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ อีกทั้งใกล้กับองค์พระยังเป็นที่ตั้งของ “มณฑปรอยพระพุทธบาทจำลอง” ที่มีรอยพระพุทธบาทจำลองสร้างประดิษฐานไว้ในปราสาทเขากระโดง

 

ภูเขาพนมสวาย จังหวัดสุรินทร์

นักท่องเที่ยวที่มายังเขาพนมสวายจะมาแวะกราบสักการะรูปเหมือนและอัฐิของหลวงปู่ดุลย์ อตุโล เกจิแห่งเมืองสุรินทร์ที่เจดีย์หลวงปู่ดุลย์เพื่อเป็นสิริมงคล ก่อนที่จะขึ้นไปยังเขาทั้ง 3 ยอด

ยอดเขาที่อยู่ใกล้เจดีย์หลวงปู่ดุลย์คือ “เขาคอก” บนยอดเขาคอกเป็นศาลาอัฐมุขที่ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และใกล้ๆ กันนั้นมีศาลาเจ้าแม่กวนอิมให้สักการะกันด้วย

จากนั้นขับรถต่อไปที่ “เขาชาย” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน “พระใหญ่” หรือ “พระพุทธสุรินทรมงคล” พระพุทธรูปปางประทานพร หน้าตักกว้าง 15 ม. ความสูง 21.50 ม. โดยจะต้องเดินขึ้นบันไดไปสู่องค์พระ ซึ่งมีระฆังแขวนเรียงรายตลอดเส้นทาง ซึ่งหากนับรวมระฆังทั้งหมดมีจำนวนถึง 1,080 ใบ เลยทีเดียว ด้านบนเขายังสามารถมองเห็นร่องรอยของปากปล่องภูเขาไฟในอดีต

ส่วนบริเวณ “เขาหญิง” ที่อยู่ห่างออกไปนั้น เป็นที่ตั้งของวัดพนมศิลาราม ทางวัดได้จัดสร้างพระพุทธรูปองค์ขนาดกลางประดิษฐานบนยอดเขา และยังมีสระน้ำโบราณ 2 สระที่เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของเต่าศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย

 

อ้างอิงจาก:

https://mgronline.com/travel/detail/9640000068278 

https://www.smk.co.th/newsdetail/2927 

#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ภูเขาไฟ #ภูเขาไฟในไทย #ระเบียบวาทะศิลป์ #บุรีรัมย์ #สุรินทร์ #ภูเขาไฟพนมรุ้ง #ภูเขาไฟอังคาร  #ภูเขาไฟกระโดง  #ภูเขาพนมสวาย

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top