“ เงินบาทอ่อนค่า ” ที่ 35.45 บาท/ดอลลาร์ ทำสถิติครั้งใหม่รอบ 5 ปีครึ่ง
ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มอ่อนค่า หลังทำสถิติครั้งใหม่รอบ 5 ปีครึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตามแรงเทขายหุ้นและพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาด ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดที่ระดับ 35.45 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดของสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.49 บาทต่อดอลลาร์
อีกทั้งยังมองว่ากรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.20-35.65 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทของวันที่ 27 มิ.ย. 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.35-35.55 บาทต่อดอลลาร์ โดยเฉพาะในกรณีที่ กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายนักลงทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่องในจังหวะที่ตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง
ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทอ่อนค่า ลงเกือบตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้เงินดอลลาร์ฯ จะเผชิญแรงขายจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันต่อรัฐสภาสหรัฐว่า เฟดมุ่งมั่นที่จะจัดการกับปัญหาเงินเฟ้ออย่างไม่มีเงื่อนไขเพื่อให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ กลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% แต่ก็ยอมรับว่า การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะถดถอย
ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอด้วยแรงขายของผู้ส่งออกที่ต่างรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่า
นอกจากนี้ หากราคาทองคำมีการดีดราคาขึ้นมา ก็อาจมีกระแสในการทำกำไรทองคำ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน ส่วนความกังวลแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องรุนแรง ยังมองว่า เงินบาทจะยังไม่อ่อนค่าทะลุระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ง่าย หากตลาดไม่กังวลการเริ่มใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้งในบางพื้นที่ของจีน จนหันมาเทขายสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia ทั้งหุ้นและพันธบัตรอย่างรุนแรง
อีกทั้ง ธนาคารกสิกรไทย ประเมิน จากนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากหากปล่อยไว้ จะยิ่งทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า และ ยิ่งเร่งเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่า ธปท. ได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินเฉลี่ยสัปดาห์ละ 3,000-5,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 106,000-177,500 ล้านบาท) เพื่อช่วยพยุงไม่ให้เงินบาทอ่อนค่า หรือ ผันผวนเกินไป โดยรวม ๆ มีการใช้เงินเข้าไปดูแลแล้วราว 1 แสนล้านดอลลาร์ ในช่วงที่เงินบาทผันผวน เพราะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น คาดว่าในปีนี้จะปรับขึ้น 2 ครั้ง (ในเดือนสิงหาคม และพฤศจิกายน)
อ้างอิงจาก:
https://www.bangkokbiznews.com/business/1012154
https://www.prachachat.net/finance/news-963294
https://www.tnnthailand.com/news/wealth/117557/