ดัชนีราคาผู้บริโภค เป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการ โดยเฉลี่ยที่ผู้บริโภคจ่ายไป สำหรับกลุ่มสินค้าและบริการที่กำหนด
.
ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนพฤษภาคม 2565 เท่ากับ 106.62 สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 7.1% (YoY) โดยในเดือนเมษายน 2565 สูงขึ้น 4.65%
.
ปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยสินค้ากลุ่มพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับตัวสูงขึ้น การยกเลิกการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม และการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร
.
นอกจากนี้ ฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างต่ำ จึงมีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้อยู่ที่ 7.1%อย่างไรก็ตาม ข้าวสาร เครื่องนุ่งห่ม ค่าเช่าบ้าน การศึกษา ราคายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 2.28% (YoY)
.
เมื่อจำแนกดัชนีราคาผู้บริโภครายภาค พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคในทุกภาคเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอัตราเงินเฟ้อของภาคใต้สูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ โดยสูงขึ้น 7.95% รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ และกรุงเทพฯและปริมณฑล สูงขึ้น 7.46%, 6.98% และ 6.85% ตามลำดับ ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สูงขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ที่ 6.53%
.
พิจารณาเป็นรายสินค้า พบว่า สินค้าสำคัญที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นในทุกภาค ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า น้้ามันเชื้อเพลิง อาหาร สำเร็จรูป เนื้อสุกร และน้ำมันพืช สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลงในทุกภาค ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ผักสด เช่น ขิง ผักกาดขาว ถั่วฝักยาว เป็นต้น
.
อัตราการเปลี่ยนแปลงสำคัญของภาคอีสาน ที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าภูมิภาคอื่น
- หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร สูงขึ้น 12.54%
โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นถึง 34.22% ปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก
- หมวดเคหสถาน สูงขึ้น 5.85%
ค่ากระแสไฟฟ้าสูงขึ้น 45.44% ตามการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือนพฤษภาคม–สิงหาคม 2565 และราคาก๊าซหุงต้มสูงขึ้น 5.16% จากการทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ตั้งแต่เดือนเมษายนไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2565
- หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 5.41%
ในด้านกลุ่มอาหารสด เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการเลี้ยง ผักสดราคาเปลี่ยนแปลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ส่วนเครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาปรับขึ้นตามต้นทุน
.
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2565
.
มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงมีการขยายเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซล การปรับราคาก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นซึ่งจะสิ้นสุด ในเดือนมิถุนายนนี้ และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร นอกจากนี้ อาหารสดและอาหารสำเร็จรูปที่ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต รวมถึงต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ การระงับการส่งออกสินค้าในหลายประเทศ และอุปสงค์ที่เริ่มฟื้นตัว จากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังคงเพิ่มขึ้น
.
ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาที่ตามมาจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น คือความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง ซึ่งประชาชนอาจเลือกที่จะลดการบริโภคลงจากเดิม ทำให้การบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
.
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบร้อยละ 4.0 – 5.0 (ค่ากลางอยู่ที่ 4.5) ซึ่งเป็น ระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง (5 กรกฎาคม 2565)
ที่มา :
https://www.thailandplus.tv/archives/547306?
https://www.bangkokbiznews.com/business/1008362
https://www.price.moc.go.th/price/fileuploader/file_cpi/Cpi_tg.pdf
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #เงินเฟ้อ #ดัชนีราคาผู้บริโภค