จากกระแสราคาทุเรียนต่ำกว่า 100 บาท/กก. ดิ่ง 90-95 บาท/กก. เหตุจีนเจอ “ทุเรียนอ่อน” เพียบ ผู้นำเข้าจีนชะลอซื้อ บางแผงหยุดรับซื้อเคลียร์ 1-2 วัน และล่าสุดจับ “ทุเรียนเวียดนาม” ขนส่งทางเรือ เตรียมส่งห้องเย็นแช่แข็ง หวัง “สวมสิทธิ” เป็นทุเรียนไทย หวั่นเจอ “สารแคดเมียม” ขณะที่จีนเพิ่งผ่อนปรนตรวจเข้มสารย้อมสี BY2 ของทุเรียนไทยเหลือ 30%
อีสานอินไซต์เลยจะพามาเบิ่งทุเรียนแดนอีสาน
🌳ในปี 2566 ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียน อยู่ที่ 1,023,6741 ไร่ และมีจำนวนครัวเรือนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนอยู่ 162,293 ครัวเรือน แล้วรู้หรือไหมว่าภาคอีสานมีพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตทุเรียนมากแค่ไหน?
โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนกว่า 42,145 ไร่ หรือคิดเป็นสัดส่วน 4.1% ของพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนทั้งหมดในประเทศ และมีจำนวนครัวเรือนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนอยู่ 7,416 ครัวเรือน หรือคิดเป็นสัดส่วน 4.6% ของจำนวนครัวเรือนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนทั้งหมดในประเทศ
ตั้งแต่ปี 2554-2566 หรือในช่วง 12 ปี ที่ผ่านมา ไทยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เกษตรกรสามารถผลิตทุเรียนเพิ่มจาก 5 แสนตัน เป็น 1.4 ล้านตัน หรือได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 180% โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการขยายผลผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 1,500% เนื่องจากทุเรียนมีการส่งออกมากขึ้นและมีราคาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกษตรกรแต่ละจังหวัดหันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น
ในปี 2566 ไทยมีมูลค่าส่งออกทุเรียน 1.4 แสนล้านบาท ในตลาดจีนทุเรียนถือเป็นผลไม้ที่มีราคาสูงและได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคซึ่งมีกำลังซื้อสูง ในปีนี้หลายประเทศต้องเผชิญกับสภาวะอากาศแห้งแล้ง รวมทั้งประเทศไทย จึงทำให้ปริมาณการผลิตลดลงสวนทางกับความต้องการตลาดผู้บริโภค จึงทำให้เกิดปัญหาการลักลอบนำเข้าทุเรียนเพื่อสวมสิทธิและสอดใส้เป็นทุเรียนไทยเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดจีน
หากมาดูทุเรียนเป็นรายจังหวัดในอีสานก็จะพบว่าจังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุดในภาคอีสาน ก็คือ จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเพียง 2 จังหวัดมีพื้นที่รวมกันมากกว่า 22,085 ไร่ หรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 52.4% เลยทีเดียว
💛โดยทั้ง 2 จังหวัดมี “ทุเรียน GI” หรือทุเรียนขึ้นทะเบียนว่าเป็นสินค้าขึ้นชื่อในแต่ละพื้นที่ ที่เรียกได้ว่ามีรสชาติเด่น เป็นเอกลักษณ์ และหาได้เฉพาะถิ่นเท่านั้น
💛ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ขึ้นทะเบียน GI เมื่อวันที่ 27 มิ.ย 2561 เป็นทุเรียนพันธุ์ก้านยาว พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี ปลูกในพื้นที่ อ.ขุนหาญ อ.กันทรลักษณ์ และ อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ ดินบริเวณนี้เป็นดินที่เกิดจากภูเขาไฟโบราณผุพังมาจากหินบะซอลต์ มีธาตุอาหารชนิดต่างๆ ที่จำเป็นต่อพืชในปริมาณสูง ส่งผลให้ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษมีคุณสมบัติพิเศษคือ เนื้อทุเรียนละเอียด แห้ง เนียนนุ่ม รสชาติหวานมัน มีกลิ่นหอมปานกลาง สีเนื้อเหลืองสม่ำเสมอทั้งผล
💛ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ ขึ้นทะเบียน GI เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2563 ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่มีเนื้อสัมผัสเนียน แน่นหนึบ แห้ง ละเอียด เส้นใยน้อย มีสีเหลืองอ่อนสม่ำเสมอทั้งผล กลิ่นหอมอ่อน รสชาติหวาน มัน ปลูกในอำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา
อ้างอิงจาก:
– ประชาชาติธุรกิจ
– ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
– สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
– กรุงเทพธุรกิจ
– Thai PBS
#ISANInsight #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์#Business #Economy #ธุรกิจ #เศรษฐกิจ #ธุรกิจอีสาน #เศรษฐกิจอีสาน #ทุเรียนแดนอีสาน #ทุเรียนอีสาน #ทุเรียนไทย