ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระบุในวันพุธ(2เม.ย.) แถลงจะรีดภาษีพื้นฐาน 10% กับสินค้าทั้งหมดที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ และเรียกเก็บภาษีสูงกว่านั้นกับประเทศอื่นๆอีกหลายสิบชาติ ในนั้นรวมถึงบรรดาคู่หูทางการค้าหลักของอเมริกาบางส่วน ยกระดับสงครามการค้าที่เขาเริ่มขึ้นตั้งแต่กลับเข้าสู่ทำเนียบขาว
มาตรการรีดภาษีอย่างครอบคลุมครั้งนี้จะเป็นการตั้งกำแพงใหม่รอบๆเศรษฐกิจผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้ กลับลำจากนโยบายเปิดเสรีทางการค้าที่ยึดถือมานานหลายทศวรรษและเป็นตัววางทรวดทรงระเบียบโลก ในขณะที่คาดหมายว่าบรรดาคู่หูการค้าของอเมริกา จะมีมาตรการตอบโต้ของตนเอง ที่อาจทำให้ราคาข้าวของแพงขึ้นอย่างน่าตกตะลึง ไล่ตั้งแต่จักรยานไปจนถึงไวน์
“นี่คือการประกาศเอกราชของเรา” ทรัมป์ กล่าว ณ กิจกรรมหนึ่ง ณ สวนกุหลาบของทำเนียบขาว
ทรัมป์ได้แสดงแผนภูมิขณะกล่าวที่ทำเนียบขาว โดยระบุว่าสหรัฐฯจะเก็บภาษีนำเข้า 34% จากจีน, 20% จากสหภาพยุโรป, 25% จากเกาหลีใต้, 24% จากญี่ปุ่น และ 32% จากไต้หวัน เพื่อตอบโต้ภาษีที่ประเทศเหล่านี้เก็บกับสินค้าของสหรัฐฯ
ตัวอย่างประเทศที่ถูกประกาศขึ้นภาษี
- เวียดนาม: 46%
- ไต้หวัน: 32%
- ญี่ปุ่น: 24%
- ไทย: 36%
- สวิตเซอร์แลนด์: 31%
- อินโดนีเซีย: 32%
- มาเลเซีย: 24%
- กัมพูชา: 49%
- สหราชอาณาจักร: 10%
- แอฟริกาใต้: 30%
- บราซิล: 10%
- บังกลาเทศ: 37%
- สิงคโปร์: 10%
- อิสราเอล: 17%
- ฟิลิปปินส์: 17%
- ชิลี: 10%
- ออสเตรเลีย: 10%
- ปากีสถาน: 29%
- ตุรกี: 10%
- ศรีลังกา: 44%
- โคลอมเบีย: 10%
สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าไทย
ใครกระทบ?
มาตรการนี้จะกระทบสินค้าส่งออกไทย ไปสหรัฐฯ หลายประเภท ตั้งแต่สินค้าเกษตร ยันสินค้าอุตสาหกรรม
โดยหากย้อนดู 10 อันดับสินค้าส่งออก ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม – มิถุนายน) ได้แก่
- เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 4,740 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 32.56%
- เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 2,142 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 33.11%
- ผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า 2,123 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9.67%
- อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด มูลค่า 1,561 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8.68%
- อัญมณีและเครื่องประดับ มูลค่า 973 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8.63%
- หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ มูลค่า 949 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.79%
- เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล มูลค่า 921 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 16.22%
- รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 854 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 19.90%
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ มูลค่า 800 ล้านดอลลาร์ หดตัว -11.27%
- เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มูลค่า 736 ล้านดอลลาร์ หดตัว -17.66%
สินค้าส่งออกของไทยที่สำคัญที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่
- ยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ – ชิ้นส่วนยานยนต์เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย และสร้างรายได้เข้าประเทศเฉลี่ยปีละ 4-5 แสนล้านบาท เนื่องจากไทยมีความพร้อมด้านห่วงโซ่อุปทาน และมีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันสูง ทั้งนี้ ในช่วงต้นปี 2567 (มกราคม-กุมภาพันธ์) ยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์นับว่าเป็นสินค้าลงทุนสำคัญ 10 อันดับแรกที่มีการขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์เป็นจำนวนมากจากไทยนั้น สะท้อนถึงความต้องการผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่มีคุณภาพของตลาดสหรัฐฯ
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ – สกอ. กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (2) แผงวงจรไฟฟ้า (3) เครื่องโทรศัพท์ โทรสาร อุปกรณ์และส่วนประกอบ (4) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และ (5) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ โดยสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทยในสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
- ยางและผลิตภัณฑ์ยาง – ไทยถือว่าเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่ที่สุดของโลก และส่งออก ยาง ชิ้นส่วนยางและผลิตภัณฑ์ยางจำนวนมากไปยังสหรัฐฯ โดยเฉพาะถุงมือยาง นอกจากนี้ ยางนอกชนิดอัดลมและยางธรรมชาติเป็นสินค้าศักยภาพสำคัญของไทยที่การส่งออกไปสหรัฐฯ มีการขยายตัวในช่วงต้นปี 2567 อีกด้วย
- สินค้าเกษตร – การส่งออกสินค้าเกษตรจากไทยไปยังสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม 2567 คิดเป็นมูลค่า 339.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 18.53% ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดสินค้าเกษตรของไทยในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.94% และข้าวเป็นสินค้าศักยภาพสำคัญลำดับต้นของไทยที่การส่งออกไปสหรัฐฯ มีการขยายตัวในปี 2566 จนถึงต้นปี 2567 โดยสินค้าเกษตร 5 อันดับแรกที่สหรัฐฯ นำเข้าจากไทยสูงสุดในเดือนมีนาคม 2567 ได้แก่ ข้าว อาหารสุนัขและแมว ทูน่าและผลิตภัณฑ์ทูน่า ผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ กุ้งและผลิตภัณฑ์กุ้ง และ สินค้าเกษตรสำคัญอื่น ๆ ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ มะพร้าวและผลิตภัณฑ์มะพร้าว สัปปะรดกระป๋อง ทุเรียนสด และกล้วยไม้
สินค้าเกษตร 5 อันดับแรกที่สหรัฐฯ นำเข้าจากไทยสูงสุดในเดือนมีนาคม 2567
-
ข้าว คิดเป็นมูลค่า 73.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 50.06% และเพิ่มขึ้น 39.15% เมื่อเปรียบ เทียบกับเดือนมีนาคม 2566 โดยมูลค่าการนำเข้าข้าวหอมมะลิ (ข้าวขาวและข้าวกล้อง) เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 43.99% มีปริมาณการนำเข้าทั้งหมด 54,052 ตัน คิดเป็นมูลค่า 50.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 68.25% ของมูลค่าการนำเข้าข้าวจากไทยทั้งหมด
- อาหารสุนัขและแมว คิดเป็นมูลค่า 58.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 7.36% และเพิ่มขึ้น 18.48% จากเดือนมีนาคม 2566
- ทูน่าและผลิตภัณฑ์ทูน่า คิดเป็นมูลค่า 43.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 30.71% และเพิ่มขึ้น 0.63% จากเดือนมีนาคม 2566
- ผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ คิดเป็นมูลค่า 31.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 18.60% และลดลง 0.31% จากเดือนมีนาคม 2566
- กุ้งและผลิตภัณฑ์กุ้ง คิดเป็นมูลค่า 16.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 9.70% แต่ลดลงคิดเป็น 31.10% จากเดือนมีนาคม 2566
นอกจากนี้ สินค้าเกษตรสำคัญอื่น ๆ ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ มะพร้าวและผลิตภัณฑ์มะพร้าว สัปปะรดกระป๋อง ทุเรียนสด และกล้วยไม้
ตารางแสดงปริมาณและมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญระหว่างไทยและสหรัฐฯ
Credit: ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส

- สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม – ภาคสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยมีบทบาทสำคัญในการส่งออกไปยังสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ของไทยซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นตลาดหลัก ในไตรมาสแรก (มกราคม- มีนาคม) ของปี 2567 ลดลง 7.5% แต่เมื่อเทียบการส่งออกในเดือนมีนาคม 2567 กับเดือนกุมภาพันธ์ มีอัตราเพิ่มขึ้น 25.3%
ที่มา : https://www.thaibicusa.com/2024/06/17/thailand-export-goods-usa/
เครดิตรูปภาพ : www.thaitextile.org
นักเศรษฐศาสตร์เผยที่มาของ 36% ภาษีนำเข้าที่ไทยถูกเรียกเก็บ พร้อมแนะ 3 วิธี “สู้ หมอบ ทน” ต่อมาตรการทางภาษีนี้
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า งานแรกของรัฐบาลคือต้องไปหาก่อนเลยว่า 72% มาจากไหน
.
“Trump เล่นคิดว่าไทยเก็บภาษีสินค้าสหรัฐ (รวม nontariff barriers) 72%! ทั้งๆที่ค่าเฉลี่ยภาษีนำเข้าแค่ประมาณ 10% แปลว่าเขาคิด value ของ nontariff barrier เยอะมาก หรือไม่ก็ focus ตรงสินค้าที่เราคิดภาษีเขาเยอะๆ เช่นสินค้าเกษตรทั้งหลาย หรือไม่ก็เขียนผิด” ดร.พิพัฒน์ ระบุในโพสต์
ก่อนจะพบที่มาของการคำนวณภาษีในโพสต์ว่า “รู้ยังครับ 36% มาจากไหน ไม่ต้องไปนั่งคิด tariff gap, nontariff barriers, currency manipulation อะไรแล้ว แค่เอา deficits/imports *0.5 ก็ได้แล้ว Trade policy ง่ายนิดเดียว”
นอกจากนี้ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ยังระบุในโพสต์ถึง 3 วิธีรับมือ
“จากนี้คือเกมเจรจาล้วนๆ เราน่ามีทางเลือกอยู่สามทาง หรือไม่ก็ combination ของทั้งสามทาง
- หนึ่ง สู้ (แบบ แคนาดา ยุโรป หรือจีน) ซึ่งเราอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะเราพึ่งพาเขาเยอะกว่าเขาพึ่งพาเราเยอะมาก สหรัฐเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเรา เราเกินดุลสหรัฐปีนึงหลายหมื่นล้าน (แม้ว่ามูลค่าของการเกินดุลจำนวนมากเป็นสินค้านำเข้าจากจีนที่อาศัยไทยเป็นช่องหลบเลี่ยงก็ตาม)
- สอง หมอบ คือ เจรจาหาทางลงที่สหรัฐพอใจ เช่น ปรับลดภาษีที่เราเก็บเขาสูงๆ ยอมเปิดตลาดที่เราปกป้องอยู่ (เช่นสินค้าเกษตรทั้งหลาย) ยกเลิก nontariff barrier เช่น การห้ามการนำเข้าเนื้อหมู ค่าตรวจสินค้า นู้นนี่ และ แค่นี้อาจจะไม่พอ เราอาจจะต้องนำเสนอทางออกให้สหรัฐอีก เช่น การนำเข้าพลังงาน นำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มเติม นำเข้าสินค้าใหญ่ๆ อย่างเครื่องบิน อาวุธ เครื่องจักร หรือต้องหาทางเพิ่มการลงทุนในสหรัฐ
เราอาจจะต้องเปิดเสรีด้านต่างๆที่สหรัฐบ่นมาตลอด เช่น บริการทางการเงิน การคุ้มครองสิทธิทางปัญญา ประเด็นสิทธิของแรงงาน
แต่แน่นอนว่าทางเลือกนี้ นอกจากการเจรจา “ภายนอก” แล้วต้องการการเจรจา “ภายใน” ที่มีประสิทธิภาพ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราควรจะยอมเปิดสินค้าเกษตรแลกกับภาคการส่งออก ใครจะยอมเสียประโยชน์ใครจะได้ประโยชน์และเ กมที่ยากที่สุดคือการหาว่าสหรัฐต้องการอะไรจริงๆ เพราะอาจจะไม่ใช่เกมการค้า แต่เป็นเรื่องอื่นอย่างการทหาร ความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เราคงต้องอ่านเกมดีๆและประเมินผลได้ผลเสีย - สาม ทน คือถ้าเราหาทางออกไม่ได้ ก็คงต้องทน หรือหาแนวร่วมจากเพื่อนหัวอกเดียวกันในการกดดันและเจรจากับสหรัฐ เพราะเกมนี้สหรัฐก็อาจจะเจ็บอยู่ไม่น้อย สุดท้ายอาจจะต้องลดภาษีลงมาถ้าแรงกดดันในประเทศเพียงพอ แต่การทนและได้แต่หวังแบบไม่มีแผนคงไม่ใช่กลยุทธ์ทางออกที่ดีนัก”
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ยังระบุสามทางเลือก ได้แก่ ‘สู้’ แบบ แคนาดา ยุโรป หรือจีน ‘หมอบ’ คือเจรจาหาทางลงที่สหรัฐฯ พอใจ เช่นปรับลดภาษี ยอมเปิดตลาด ไปจนถึงนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ และ ‘ทน’ ถ้าเราหาทางออกไม่ได้
.
ส่วนประธานาธิบดีทรัมป์เสนอว่า หากไม่ต้องการเผชิญอัตราภาษีที่สูงเช่นนี้ ประเทศต่างๆ ต้องทำลายอัตราภาษีของตัวเอง ปรับลดกำแพงต่อสินค้าสหรัฐฯ ไม่บิดเบือนค่าเงิน พร้อมย้ำว่า มาตรการทางภาษีครั้งนี้เป็นการปกกป้องประเทศ จากใครก็ตามที่อาจจะทำลายเศรษฐกิจอเมริกา
.
เขายังย้ำด้วยว่า หากธุรกิจไหนต้องการภาษีเป็นศูนย์ ก็แค่ย้ายมาผลิตในอเมริกา เพราะที่อเมริกาไม่มีเรื่องภาษีนำเข้า
ที่มา: Pipat Luengnaruemitchai