10 ปีข้างหน้า ‘หนองคาย’ จะกลายเป็น ‘ประตูสู่ยูนนาน’ สำรวจโอกาสของจังหวัด จากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมลาว-จีน

หนองคาย เป็นจังหวัดในภาคอีสานตอนบน ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นเอกลักษณ์คือมีทอดยาวตามแม่น้ำโขงกว่า 210.6 กิโลเมตร  มีอาณาเขตติดตอกับประเทศลาว คือ แขวงเวียงจันทน์ นครหลวงเวียงจันทน์ และแขวงบอลิคําไซ โดยมีจุดผ่านแดนได้แก่ 1. ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 2. ด่านพรมแดนทาเรือหนองคาย 3. ด่านตรวจคนเขาเมือง ณ สถานีรถไฟหนองคาย นอกจากนั้นยังมีจุดผ่อนปรนทางการค้าอีก 4 แห่ง  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้จังหวัดหนองคาย มีความโดดเด่นด้านการค้าชายแดนเป็นอย่างมาก

ทำไมหนองคายจึงเป็นจังหวัดที่มีโอกาสเติบโตได้ในระยะยาว?

ปัจจัยที่ทำให้หนองคายดูน่าดึงดูดที่จะลงทุน คือการที่ในอนาคต หนองคายกำลังจะมี รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – หนองคาย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างในระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ – นครราชสีมา) และเพิ่งมีการอนุมัติจาก ครม. ในการเริ่มโครงการระยะที่ 2 (นครราชสีมา – หนองคาย) รวมระยะทางทั้ง 2 โครงการ 606.17 กิโลเมตร แม้ว่าการก่อสร้างในระยะที่ 1 จะมีความล่าช้า แต่คาดการณ์ว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้จะแล้วเสร็จภายในปี 2575 หรืออีก 10 ปีต่อจากนี้

การเดินทางโดยใช้รถไฟความเร็วสูงจากระหว่างหนองคายไปกรุงเทพฯ จะใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงเศษๆ เพิ่มตัวเลือกด้านการคมนาคมนอกเหนือจากการเดินทางด้วยรถยนต์หรือเครื่องบิน สร้างความสะดวกสบายแก่ชาวหนองคายและผู้เยี่ยมเยือน

รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – หนองคาย เชื่อมโยงภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

รถไฟกรุงเทพฯ – หนองคายมีความพิเศษที่สำคัญต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของไทย จะสามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟลาว-จีน ที่ได้เปิดให้บริการไปแล้วในปี 2564 มีสถานีต้นทาง-ปลายทางคือ สถานีคุนหมิงใต้ของจีน และสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ของ สปป. ลาว มีสถานีรวม 32 สถานี


ที่มารูปภาพ: กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม

โดยการเชื่อมรถไฟความเร็วสูงจากไทย-ลาว-จีนนั้น จะถูกเชื่อมโยงโดย สะพานมิตรภาพสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (หนองคาย-เวียงจันทน์) แห่งที่ 2 เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในไตรมาส 3 ปี 2569 และคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2572 โดยสถานีรถไฟหนองคาย จะเป็นจุดตรวจหนังสือเดินทางของประเทศไทย ซึ่งในแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง จะมีจุดตรวจ 4 แห่ง ดังนี้

  1. สถานีรถไฟหนองคาย ประเทศไทย
  2. สถานีรถไฟเวียงจันทน์ สปป.ลาว
  3. สถานีรถไฟบ่อเต็น สปป.ลาว
  4. สถานีรถไฟโม่ฮาน ประเทศจีน


ที่มารูปภาพ: Shutterstocks

และจากคนจีนที่เดินทางเข้าในภาคอีสานของไทย ปี 2567 พบว่าจุดผ่านแดนสะพานมิตรภาพ 1 จังหวัดหนองคาย เป็นจุดที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการเดินทางเข้ามาทางบกของชาวจีน โดยมีจำนวนกว่า 24,000 ราย (ข้อมูล ก.ย. 2567) ซึ่งหากมีการเชื่อมทางรถไฟโดยตรงเข้ามายังหนองคาย อาจส่งผลให้จำนวนชาวจีนที่เข้ามายังหนองคายเพิ่มหลายเท่าตัว  ดังนั้นภาพในอนาคตของหนองคายอีกเพียง 10 ปี จะไม่ได้เป็นเพียงแค่เมืองริมฝั่งโขงเท่านั้น แต่จะกลายเป็น “ประตูสู่ยูนนาน” แห่งประเทศไทย ที่เชื่อมโยงกับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) อย่างแท้จริง โดยลองมาประเมินถึงโอกาสและความท้าทาย ที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดหนองคายและภาคอีสานในอนาคต ดังนี้

พามาเบิ่ง🚅🛩⛴ 🐉เส้นทางมังกร: การเดินทางของคนจีนสู่อีสาน 2024🇨🇳

โอกาสและความท้าทาย ต่อจังหวัดหนองคาย

โครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นเมกะโปรเจ็ค ที่จะเปลี่ยนประเทศไทยไปอย่างมาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นมาพร้อมกับความท้าทายและโอกาส หากลองมาพิจารณาถึง ความท้าทาย ที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดหนองคาย เช่น

    • การจัดการสิ่งแวดล้อม: การก่อสร้างและการพัฒนาเมืองอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดหนองคาย จำเป็นต้องมีการวางแผนและการจัดการที่เหมาะสม
  • การแข่งขันทางธุรกิจจากต่างประเทศ: ปัญหาสินค้าทะลักจากประเทศจีนมีความรุนแรงขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งการค้าที่เสรีมากขึ้นในอนาคตอาจนำไปสู่การแข่งขันที่สูงขึ้นสำหรับธุรกิจท้องถิ่น จำเป็นต้องมีการพัฒนาและปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
  • การบริหารจัดการข้ามพรมแดน: การเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านต้องการความร่วมมือและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันปัญหาด้านความมั่นคงและการควบคุมการเคลื่อนย้ายของคนและสินค้า รวมไปถึงการจัดตั้งธุรกิจและบริการที่อาจผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นทางรัฐบาลและทางจังหวัดหนองคายอาจต้องมีเตรียมการวางแผนรับมืออย่างเนิ่นๆ และชัดเจน

ในมุมมองของโอกาส โครงการรถไฟความเร็วสูงนี้นอกจากจะช่วยสร้างความสะดวกสบายด้านคในาคม ก็เป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาเศรษฐกิจแลสังคมของจังหวัดหนองคาย เช่น

  • การท่องเที่ยวข้ามพรมแดนเติบโต: เทรนด์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ผ่านทางรถไฟความเร็วสูงจะได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งนักท่องเที่ยวไทยที่ต้องการไปเที่ยวลาวและจีน ก็ต้องผ่านด่านหนองคาย หรือนักท่องเที่ยวจากจีนและลาวที่เดินทางเข้ามายังไทยผ่านทางรถไฟจะเข้ามายังหนองคายซึ่งเป็นจังหวัดแรก ทำให้ผู้เยี่ยมเยือนหนองคายและอีสานจะเติบโตขึ้น
  • โอกาสในการลงทุนและพัฒนาเมือง: ต่อยอดจากประเด็นการท่องเที่ยว จะนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน ทั้งในด้านอสังหาริมทรัพย์  โรงแรม ร้านอาหาร การค้าปลีก และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและโลจิสติกส์ของหนองคาย ซึ่งดูแล้วมีโอกาสเติบโตที่ดีและน่าลงทุน

อ้างอิงจาก

  • แผนพัฒนาจังหวัดหนองคาย 2566 – 2570
  • กรมประชาสัมพันธ์
  • กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย
  • โครงสร้างพื้นฐานประเทศไทย Thailand Infrastructure
  • Thaibizlaos.com
  • DD property
  • ผู้จัดการออนไลน์
  • The Citizen.plus
  • insurverse
  • Hsr3airports
  • ฐานเศรษฐกิจ
  • Google Maps

 

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top