ทำความรู้จักกับ “รถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทย กรุงเทพฯ – โคราช – หนองคาย” ระยะทาง 606.17 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางเพียง 3 ชั่วโมง 36 นาที กับราคาเพียง 1,171 บาท คาดว่าจะมีการเปิดให้บริการ ปี 2575
โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – หนองคาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง แบ่งออกเป็นทั้งหมด 2 ระยะด้วยกัน ดังนี้
ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 253 กิโลเมตร วงเงิน 179,413 ล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปีงบฯ 60-63) ซึ่งปัจจุบันโครงการฯ ระยะที่ 1 ล่าช้ากว่ากำหนด โดยมีความคืบหน้าโดยรวม 38% โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2571
ในระยะที่ 1 นี้มีจำนวน 6 สถานีด้วยกัน มีจุดเริ่มต้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ผ่านสถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสิ้นสุดที่สถานีนครราชสีมา โดยจะใช้เวลาเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ไปยังสถานีนครราชสีมาเพียง 1 ชั่วโมง 36 นาที และมีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 529 บาท
ระยะที่ 2 นครราชสีมา – หนองคาย ระยะทางประมาณ 357.12 กิโลเมตร วงเงินรวมกว่า 341,351 ล้านบาท มีจุดเริ่มต้นที่สถานีนครราชสีมา ประกอบไปด้วย 5 สถานี (1) สถานีบัวใหญ่ (2) สถานีบ้านไผ่ (3) สถานีขอนแก่น (4) สถานีอุดรธานี และสิ้นสุดที่ (5) สถานีหนองคาย ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ 2568 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2575 (รวม 8 ปี)
โดยในระยะที่ 2 จะมีการก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา ที่ จังหวัดหนองคาย เป็นศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟ ทั้งขาเข้า-ออก ระหว่างทางขนาด 1 เมตรของรถไฟไทย และขนาดทางมาตรฐาน 1.45 เมตร ของโครงการรถไฟลาว-จีน ในรูปแบบ One Stop Service
และเมื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งเส้นทางภายในปี 2575 จะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ไปยังสถานีหนองคาย โดยใช้ระยะเวลาเดินทางเพียง 3 ชั่วโมง 28 นาที และมีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 1,171 บาท
เมื่อพิจารณา EIRR เชิงกว้าง กรณีโครงการฯ ระยะที่ 1 + 2 พบว่า มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 13.23% ซึ่งยังมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์
ในขณะนี้โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ได้ผ่าน ครม.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็ห่วงเรื่องงบประมานที่สุด ซึ่งบางส่วนอยากให้ทำเป็น พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) กระทรวงคมนาคมให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดูแลในส่วนการเดินรถผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ โดยมีเอกชนมาลงทุนประมาน 70,000 ล้านบาท ทำให้ลดภาระที่รัฐบาลต้องออกเงิน 23% และจะมีการเปิดประมูลโครงการนี้ ช้าที่สุดประมานเดือน มิ.ย. 2568 หรืออาจมีโอกาสเร็วกว่านี้
โครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – หนองคาย – เวียงจันทน์ – จีน ถือเป็นโอกาสของภาคอีสานและโอกาสประเทศไทยในการเชื่อมโยงไทยกับเศรษฐกิจโลก ทำให้การเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างภูมิภาคและระหว่างประเทศมีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การค้าและการลงทุนขยายตัว และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้การท่องเที่ยวเติบโตและสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกด้วย
หมายเหตุ: ข้อมูลความก้าวหน้าของโครงการ ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2567
อ้างอิงจาก:
– กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม
– ไทยพีบีเอส (Thai PBS)
– haipost.net
– การรถไฟแห่งประเทศไทย
– ประชาชาติธุรกิจ
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่
https://linktr.ee/isan.insight
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์ #Business #Economy #ธุรกิจ #เศรษฐกิจ #ธุรกิจอีสาน #เศรษฐกิจอีสาน #รถไฟความเร็วสูง #ความก้าวหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูง