พามาเบิ่ง อุตสาหกรรม ภาพยนตร์อีสานในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา จนเป็นกระแส “อีสานฟีเวอร์”

พามาเบิ่ง

อุตสาหกรรม ภาพยนตร์อีสานในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา

จนเป็นกระแส “อีสานฟีเวอร์”

 

มาดูอุตสาหกรรมภาพยนตร์อีสานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นอีสานออกมาอย่างต่อเนื่อง ในหลาย ๆ เรื่องก็มีความโดดเด่นและได้รับความนิยมจนสามารถสร้างกระแส “อีสานฟีเวอร์” พร้อมกับกวาดรายได้เข้าสู่อุตสาหกรรมหลักร้อยล้านบาทเลยทีเดียว

 

ปี 2554 ภาพยนตร์ ปัญญา เรณู หนังรักวัยเด็ก ที่ถ่ายทอดชีวิตของเด็กอีสานได้อย่างเป็นธรรมชาติเป็นที่พูดถึงอย่างมากในหมู่คนดู ก้าวข้ามโปรดักชันอลังการให้เป็นการฉายภาพชีวิตปกติธรรมดาของคนอีสาน จนทำรายได้ถึง 12.82 ล้านบาท

 

ปี 2555 ภาพยนตร์ ปัญญา เรณู 2 ทำรายได้ถึง 19 ล้านบาท กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนมอง “หนังอีสาน” ด้วยสายตาที่แตกต่างไป ทั้งยังช่วยตอกย้ำความปังว่าเรื่องเล่าของคนอีสานสามารถเป็นเส้นเรื่องหลัก และเป็นหนังที่ดีและน่าสนใจได้

 

ปี 2556 ภาพยนตร์ แหยม ยโสธร 3 เริ่มต้นจากกระแสภาพยนตร์อีสาน ม่วน ๆ ฮา ๆ  “แหยม ยโสธร” ในปี 2548 ที่มีโทนสีจัดจ้านทั้งฉากและคอสตูมที่โดดเด่น ในปีนี้ถือเป็นภาคสุดท้ายของมหากาพย์ “แหยม” ที่ทำรายได้ไปกว่า 64 ล้านบาท 

 

ปี 2557 ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้ 1 ภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้ฉายภาพอีสานร่วมสมัย เริ่มมีคนรู้จักจากปากต่อปาก จนโด่งดังไปนอกวงคนอีสาน หลังจากนั้นจึงมีภาค 2 และ 3 ตามมาในปี 2559 และ 2561

 

ปี 2558 ภาพยนตร์ รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendour) หนังที่ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์จำนวนมาก ทั้งยังเข้าชิงรางวัล Un Certain Regard Award ใน Cannes Film Festival แต่กลับไม่ได้เข้าฉายที่เมืองไทย 

เพลง ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน เพลงแจ้งเกิดของ ก้อง ห้วยไร่ ศิลปินอีสานรุ่นใหม่ที่ผสมแนวเพลงลูกทุ่งเข้ากับดนตรีสากลได้อย่างน่าสนใจ เป็นหนึ่งในเพลงที่คนนำไปประกวดร้องเพลงมากที่สุด และถูกนำไปดัดแปลงอีกหลายเวอร์ชัน

 

ปี 2560 ภาพยนตร์ ไทบ้านเดอะซีรีส์, ทดเวลาบาดเจ็บ และสเตตัสถืกถิ่ม หนังที่รวมเอาความฮา ความโรแมนติก และเรื่องเศร้ารันทดสุดใจรวมไว้ด้วยกันอย่างกลมกล่อม พร้อมเพลงประกอบภาพยนตร์ “ทดเวลาบาดเจ็บ” และ “สเตตัสถืกถิ่ม” ที่มีคนตามมาฟังจำนวนมาก จนถูกนำไปร้องประกวดในหลายรายการ และยังได้รับรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 27 สาขาเพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (เพลง ทดเวลาบาดเจ็บ) ซึ่งเป็นผลงานจากค่ายขนาดเล็กที่ได้รับการจับตามองและถูกพูดถึงในวงกว้าง

ภาพยนตร์ ส่มภัคเสี่ยน หนังโรแมนติกคอมเมดี้อีสานที่ทำรายได้กว่า 74.9 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับสองรองจากเรื่อง ฉลาดเกมส์โกง (108.1 ล้านบาท) ในปี 2560 ถือเป็นภาพยนตร์ที่มาถูกที่ทันเวลาในช่วงที่อีสานกำลังได้รับความนิยม

 

ปี 2561 ภาพยนตร์ ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2 และ 2.2 กลับมาอีกครั้ง ก็ยังสร้างแรงกระเพื่อมในแวดวงภาพยนตร์ไทย ทั้งเนื้อหาและเพลงประกอบที่ได้รับความนิยม จนส่งผลให้ทำรายได้ตอน 2.2 ทั่วประเทศกว่า 115.26 ล้านบาท โดยทำเงินรวมกันทั้ง 3 ภาคมากกว่า 200 ล้านบาท และเข้าชิงรางวัลในสาขาภาพยนตร์อีกหลายรางวัล 

ภาพยนตร์ นาคี 2 และเพลง สายแนนหัวใจ ที่พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ได้หยิบเอาตำนานมาเล่าต่อในภาคปัจจุบัน กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดกว่า 161.19 ล้านบาท  

 

ปี 2562 ภาพยนตร์ หน้าฮ่าน หนังที่ว่าด้วยวัฒนธรรมอีสานอันหลากหลาย การปะทะกันระหว่างอีสานสมัยใหม่กับอีสานแบบดั้งเดิม และเรื่องราวของคนหนุ่มสาวที่รื่นรมย์กับการดิ้นหน้าเวทีหมอลำ

 

ปี 2563 ภาพยนตร์ ไทบ้าน x BNK48 จากใจผู้สาวคนนี้ และเพลง โดดดิด่ง หลังจากโด่งดังจนถึงขีดสุด วง BNK48 แฟรนไชส์จากญี่ปุ่น ก็หันมาจับมือกับไทบ้านทำภาพยนตร์ “ไทบ้าน x BNK48 จากใจผู้สาวคนนี้” รวมถึงเพลง “โดดดิด่ง” ที่นำสมาชิกวง BNK48 มาร้องเพลงหมอลำได้ม่วนซื่น นับเป็นส่วนผสมใหม่ ๆ ของการผลิตภาพยนตร์ไทย

 

ปี 2564 ภาพยนตร์ “ร่างทรง” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อ วิถีชีวิตของอีสานได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ทั้งยัง ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ (OSCARS) ครั้งที่ 94 สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย

 

ปี 2566 ภาพยนตร์ “สัปเหร่อ” ถือเป็นความต่อเนื่องจากความสำเร็จของภาพยนตร์ที่เรียกรวมกันว่า “จักรวาลไทบ้าน” ที่หนึ่งในนี้มีชื่อเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ครั้งที่ 27 กว่า 5 สาขารางวัล และได้รับรางวัลมา 1 รางวัล คือ เพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ส่งผลให้ภาพยนตร์จากซีรีส์จักรวาลไทบ้านเป็นที่พูดถึงและเป็นที่รู้จักมากขึ้น ในฐานะภาพยนตร์จากทีมผลิตในระดับภูมิภาค

 

ดูจากไทม์ไลน์ผลงานของอุตสาหกรรมบันเทิงอีสาน เราจะเห็นว่ากลุ่มศิลปินรุ่นใหม่หันกลับมาให้ความสนใจความเป็นอีสานมากขึ้น และมีความภาคภูมิใจที่จะเล่าเรื่องอีสานผ่านเรื่องราว หรือน้ำเสียงที่หลากหลายรูปแบบโดยไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิม ๆ 

 

ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่าภาคอีสานของเรานั้นมี Soft Power ที่หลากหลายและทรงพลัง สามารถยกระดับส่งออกสู่ต่างประเทศที่เป็นกระแส Viral Global ได้ หากได้รับการสนับสนุนอย่างสร้างสรรค์ พร้อมก้าวข้ามข้อจำกัดเดิม ๆ ที่หลายครั้งนักเล่าเรื่องไม่กล้านำเสนอวิถีชีวิตของคนอีสาน เพราะกลัวว่าการเล่าหรือการส่งเสียงของตนเองอาจทำให้พวกเขาโดนเหยียดหรือดูถูกอย่างไม่ตั้งใจ 

 

การเล่าเรื่องอีสานออกมาได้อย่างลึกซึ้งนั้น จะต้องมีความเข้าใจ ความจริงใจ และไม่ให้ข้อมูลด้านเดียวเป็นสิ่งสำคัญ พร้อมกับให้เหตุผลที่อยากเล่าสิ่งนั้น เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคนดู

 

จึงควรผลักดันให้นำ Soft Power ที่มีอยู่แล้วมาเป็นเครื่องมือในการสะท้อนภาพความเป็นอยู่ ระบบการศึกษา สาธารณูปโภคและบริโภคขั้นพื้นฐาน ให้เห็นถึงปัญหาและข้อจำกัดที่แท้จริง ว่าเหตุใดอีสานและภูมิภาคอื่น ๆ ยังไม่ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดี

 

เมื่อเรามองเห็นปัญหาที่แท้จริง เราก็จะสามารถเข้าไปแก้ปัญหา ช่วยเหลือ หรือสนับสนุนได้อย่างตรงจุด ตรงประเด็น ให้คนได้เข้าใจที่มาที่ไป และเห็นคุณค่าของความเป็นอีสาน ลบภาพจำเก่า ๆ ที่เคยดูถูกเหยียดหยามคนอีสานออกไป 

 

สุดท้ายแล้วหากเรามีทรัพยากรที่สามารถสร้าง Soft Power ที่ทรงพลังอยู่ในมือ แต่ไม่ได้การสนับสนุนอย่างชาญฉลาดจากผู้ที่มีอำนาจ ก็อาจเป็นเพียง Soft Power ที่ไร้พลัง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะสร้างและสนับสนุน ด้วยนโยบายที่สร้างสรรค์ เข้าใจ และใส่ใจในศิลปะ วัฒนธรรมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างชื่อเสียง และเม็ดเงินจำนวนมหาศาลได้ในอนาคต

 

อ้างอิง :

CEA (Creative Economy Agency), brandthink, thecitizen.plus

 

ติดตาม ISAN Insight & Outlook ได้ที่

Instagram : https://www.instagram.com/isan.insight.and.outlook/

Website : https://isaninsight.kku.ac.th

Youtube : https://youtube.com/@ISANInsightOutlook

Line : https://lin.ee/yIS5bdP

 

#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #หนังอีสาน #ภาพยนตร์อีสาน #ปัญญาเรณู #แหยมยโสธร  #ไทบ้านเดอะซีรีส์ #หน้าฮ่าน

#ร่างทรง #สัปเหร่อ

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top