ส่องซอด ปอยเปต เมืองชายแดนของกัมพูชา ตรงข้ามกับอรัญประเทศของไทย ที่เติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดจากการดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านธุรกิจกาสิโน จนถูกขนานนามว่าเป็น “นครแห่งธุรกิจสีเทา” ทั้งยังเป็นจุดผ่านแดนสำคัญ ที่มีมูลค่าการค้าคิดเป็นกว่า 63.4% ของการค้าชายแดนไทย–กัมพูชาทั้งหมด แต่ใครจะรู้—ความรุ่งเรืองที่ผูกอยู่กับ “ด่าน” อาจกลายเป็นความเปราะบางที่ย้อนกลับมาเป็นจุดอ่อนของเมืองในระยะยาว
.
ปอยเปต เป็นเมืองชายแดนของกัมพูชา ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองปอยเปต จังหวัดบันทายมีชัย อยู่ติดกับอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ของไทย เมืองนี้มีชื่อเสียงจากการเป็นหนึ่งในจุดผ่านแดนที่มีการสัญจรของผู้คนและการค้าระหว่างไทยกับกัมพูชามากที่สุด อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของแหล่งกาสิโนขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับชายแดนไทยมากที่สุดแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ ปอยเปตยังเป็นเมืองที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศสูงอย่างน่าจับตามอง
ในอดีต ปอยเปตเป็นเพียงพื้นที่ป่ากว้าง มีประชากรบางส่วนใช้พื้นที่เพาะปลูกเพื่อยังชีพ และยังเคยผ่านการเปลี่ยนแปลงอำนาจอาณานิคมหลายครั้ง ตั้งแต่การอยู่ภายใต้สยาม การตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส จนถึงการประกาศเอกราชของกัมพูชา
หากจะเข้าใจการเติบโตทางเศรษฐกิจของปอยเปต เมืองชายแดนห่างไกลจากเมืองหลวง จำเป็นต้องย้อนกลับไปถึงแนวคิดของรัฐบาลกัมพูชาในการหารายได้จากกิจการกาสิโนซึ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีการดัดแปลงสถานพักผ่อนยุคอาณานิคมฝรั่งเศสให้กลายเป็นรีสอร์ทและคาสิโน เพื่อใช้เป็นแหล่งรายได้ของรัฐ
อย่างไรก็ตาม รายได้จากกาสิโนเพียงแห่งเดียวยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ รัฐบาลกัมพูชาจึงดำเนินกลยุทธ์ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ศูนย์การค้า โรงแรม และกาสิโน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้ามา พร้อมได้รับใบอนุญาตดำเนินกิจการกาสิโน โดยเฉพาะในกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของประเทศ
แต่การขยายตัวของกาสิโนในพนมเปญ ทั้งที่ถูกกฎหมายและลักลอบเปิด ดันให้เกิดปัญหาสังคมอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรม พฤติกรรมติดการพนัน และการขยายตัวของเศรษฐกิจสีเทา จนในปี พ.ศ. 2541 นายกรัฐมนตรีฮุน เซน สั่งกวาดล้างคาสิโนผิดกฎหมาย และห้ามเปิดกาสิโนในรัศมี 200 กิโลเมตรจากเมืองหลวง
คำสั่งดังกล่าวทำให้ธุรกิจกาสิโนส่วนใหญ่ต้องย้ายออกจากพนมเปญ โดยพื้นที่ชายแดน เช่น ปอยเปตและบาเวต กลายเป็นปลายทางใหม่ที่ได้รับอานิสงส์จากข้อจำกัดเชิงภูมิศาสตร์และกฎหมาย เมืองชายแดนเหล่านี้สามารถดึงดูดรายได้จากนักท่องเที่ยวและนักพนันต่างชาติได้อย่างมหาศาล
.
เศรษฐกิจปอยเปต: เติบโตจากด่าน มากกว่าดิน
การเข้ามาของกาสิโนในปอยเปตส่งผลให้เมืองมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ นักท่องเที่ยวและนักเสี่ยงโชคจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามา ส่งผลให้ธุรกิจในพื้นที่เฟื่องฟู ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม ศูนย์การค้า และกาสิโนที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ส่วนใหญ่ดำเนินกิจการโดยนักการเมือง นักธุรกิจ ผู้มีอิทธิพล หรือแม้แต่บุคคลในภาครัฐเอง
ปรากฏการณ์นี้ก่อให้เกิดคำถามจากประชาชนว่า ปอยเปตสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศและประชาชนทั่วไปจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแหล่งรายได้ของกลุ่มทุนรายใหญ่ที่ดูดเงินและทรัพยากรจากพื้นที่โดยไม่กระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม และนอกจากนี้ ปอยเปตยังถูกจับตาว่าเป็นแหล่งกบดานของอาชญากรรมไซเบอร์ ฟอกเงิน และทุนจีนสีเทา ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของเมืองกลายเป็น “เมืองสีเทา” ที่พึ่งพารายได้จากธุรกิจผิดกฎหมายและการพนันเป็นหลัก
ที่มา: กรมการค้าต่างประเทศ
การเติบโตของปอยเปตได้กลายเป็นแรงผลักสำคัญต่อการค้าชายแดนระหว่างไทย–กัมพูชา ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ (ม.ค.–พ.ค. 2567) ระบุว่า มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทย–กัมพูชากว่าครึ่ง (80,723 ล้านบาท หรือ 48.3%) เกิดขึ้นผ่านเส้นทางชายแดน โดยเฉพาะด่านปอยเปต–อรัญประเทศซึ่งมีสัดส่วนถึง 63.4% ของมูลค่าการค้าชายแดนทั้งหมด
นอกจากนี้ ปอยเปตยังเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ภายใต้โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Poipet SEZ) ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักของรัฐบาลกัมพูชาในการดึงดูดการลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป บรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และสายไฟ โดยอาศัยข้อได้เปรียบด้า ต้นทุนแรงงานต่ำและแรงงานจำนวนมาก ส่งผลให้ประเทศอย่างจีน เวียดนาม มาเลเซีย และไทย เข้าไปตั้งฐานการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พลวัตชายแดน โอกาสและความท้าทายผลกระทบจากความตึงเครียดและการปิดพรมแดน
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ความตึงเครียดปะทุขึ้นจากกรณีพิพาทบริเวณช่องบก อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีรายงานการปะทะระหว่างทหารไทยและกัมพูชา รัฐบาลไทยจึงตอบโต้ด้วยมาตรการเบื้องต้น เช่น การปิดจุดผ่านแดนชั่วคราว และการลดเวลาเปิด-ปิดด่านปอยเปต–อรัญประเทศ เหลือเวลา 09.00–16.00 น.
มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมากต่อการค้าข้ามพรมแดน โดยเฉพาะเมื่อจุดผ่านแดนสำคัญทั้งสามแห่ง (อรัญประเทศ คลองใหญ่ จันทบุรี) ถูกปิด ส่งผลให้การค้าชายแดนไทย–กัมพูชาอาจหยุดชะงักถึง 95.5% นอกจากนี้ ความกังวลของนักท่องเที่ยวต่อสถานการณ์ความตึงเครียด ยังส่งผลต่อรายได้จากกาสิโนและเศรษฐกิจท้องถิ่น ขณะเดียวกัน การหยุดชะงักของแรงงานข้ามพรมแดนก็อาจทำให้ธุรกิจและภาคการผลิตสะดุดตามมา
หากสถานการณ์ยืดเยื้อ ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อภูมิภาคนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปอยเปตซึ่งเติบโตจาก “ด่าน” กำลังสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจที่ผูกติดกับปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ และความสัมพันธ์ทวิภาคี
ความเปราะบางทางเศรษฐกิจของปอยเปตจากการพึ่งพาการค้าและนักท่องเที่ยวอย่างมาก ทำให้จำเป็นต้องพิจารณาแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มบทบาทของภาคอุตสาหกรรม พัฒนาสินค้าท้องถิ่น เพิ่มการเชื่อมโยงระหว่างภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ อาทิ ระบบสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย และการศึกษา เพื่อรองรับการเติบโตของประชากร และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
หากสามารถดำเนินการได้อย่างจริงจัง ปอยเปตอาจสามารถเปลี่ยนผ่านจาก “เมืองชายแดนสีเทา” ที่เติบโตจากด่าน มาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน แข็งแรง และส่งผลประโยชน์ต่อประชาชนอย่างทั่วถึง
ที่มา: กรมการค้าต่างประเทศ, Release Peace, Silpa mag