มหาสารคาม สะดืออีสาน สู่ความท้าทาย ในการเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาของภาคอีสาน
.
.
เมื่อพูดถึงจังหวัดมหาสารคามแล้วหลายๆ คนคงคิดถึง 3 อย่างนั่น คือ มหาวิทยาลัย มันแกวบรบือ และ พระธาตุนาดูน แต่ที่จริงแล้วจังหวัดมหาสารคามมีทั้งความท้าทาย และโอกาสในการพัฒนาอีกมาก รวมทั้งยังเป็นจังหวัดที่มูลค่าเศรษฐกิจจังหวัดเติบโตต่อเนื่องในตลอด ทศวรรษที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีการลงทุนใน
ภาคอสังหาฯ ที่เติบโตกว่า 33% ซึ่งถือว่าสูงสุดในภูมิภาคอีกด้วย
.
นอกจากนั้นแล้วจังหวัดมหาสารคามยังนับเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมของชาวอีสาน มีชุมชนโบราณมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชุมชนบ้านเชียงเหียน หมู่บ้านปั้นหม้อของชาวบ้านหม้อ ตำบลเขวา อำเภอเมืองมหาสารคามแหล่งโบราณสถาน และสถานที่สำคัญทางศาสนาก็มี พระธาตุนาดูน กู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน กู่บ้านแดง อำเภอวาปีปทุม ปรางค์กู่ ตำบลเขวา อำเภอเมืองมหาสารคาม ที่น่ามาศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง
.
เพราะเหตุใด จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดสะดืออีสาน ใจกลางภูมิภาค ถึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีก
อีสานอินไซต์ จะพามาเบิ่ง
.
1. โครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัดมหาสารคาม
จังหวัดมหาสารคามมีขนาดพื้นที่ประมาณ 5,292 ตารางกิโลเมตร และมีประชากร 944,605 คน ในปี 2564
มีขนาดเศรษฐกิจของจังหวัด อยู่ที่ 66,024 ล้านบาท และรายได้ต่อหัวของจังหวัดอยู่ที่ 85,228 บาท/ปี
.
มีโครงสร้างเศรษฐกิจและธุรกิจ SME ดังนี้
- ภาคการบริการ คิดเป็น 51% โดยธุรกิจ SME ที่มากที่สุด คือ การบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร อยู่ที่ 3,195 ราย
2.ภาคการเกษตร คิดเป็น 21% โดยธุรกิจ SME ที่มากที่สุด คือ การเลี้ยงโคนมและโคเนื้อ อยู่ที่ 588 ราย
3.ภาคการผลิต คิดเป็น 17% โดยธุรกิจ SME ที่มากที่สุด คือ การสีข้าว อยู่ที่ 2,276 ราย
4.ภาคการค้า คิดเป็น 10% โดยธุรกิจ SME ที่มากที่สุด คือ ร้านขายของชำ อยู่ที่ 6,072 ราย
สินค้า GI ของจังหวัดก็คือ มันแกวบรบือ และข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้
.
จากโครงสร้างเศรษฐกิจพบว่า GPP ของมหาสารคาม มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากอันดับที่ 13 จนขึ้นมาเป็นอันดับที่ 11 ของภูมิภาคในปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้รายได้ต่อหัว (GPP Per capita) ปรับอันดับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 8 ของภูมิภาค เช่นกัน และถ้าวิเคราะห์ต่อไปยัง รายได้ครัวเรือนอยู่ในระดับข่อนค้างดี แล้วยังมีค่าครองชีพที่ต่ำถ้าเทียบกับจังหวัดในกลุ่ม “ร้อยแก่นสารสินธุ์”
.
แต่อาจจะมีข้อสังเกตคือ ความเจริญที่เกิดขึ้นนั้นยังกระจุกตัวในตัวอำเภอเมือง โดยหากดูเฉพาะข้อมูลของจำนวนเงินฝากในธนาคารจะพบว่า อำเภอเมืองมหาสารคามมีจำนวนเงินฝากกว่า 2.2 หมื่นล้าน หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 89.9% ของเงินฝากในธนาคารทั้งจังหวัด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ในภูมิภาค
.
แม้ตัวเลขเงินฝากจะบ่งชี้มูลค่าแท้จริงทางเศรษฐกิจของแต่ละอำเภอไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็พออนุมานได้ว่า ในพื้นที่ต่างอำเภอของจังหวัดมหาสารคามมีรายได้น้อยกว่าในตัวอำเภอเมือง นั่นเอง
.
และเมื่อเจาะลึกดูโครงสร้างอาชีพที่เป็นแหล่งที่มาของรายได้ ก็จะพบข้อมูลที่น่าสนใจจาก กรมแรงงานฯ ว่าจังหวัดมหาสารคามมีจำนวนแรงงานถึง 3.9 แสนคน โดยเป็น แรงงานภาคเกษตร มากถึง 44% หรือกว่า 1.7 แสนคน และเกษตรกรเหล่านี้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจอย่าง ข้าว, มันสำปะหลัง,และ อ้อย ซึ่งหมายความว่ารายได้จะขึ้นอยู่กับราคาของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในแต่ละช่วงเวลานั้นๆ ทำให้เกษตรกรในจังหวัดมหาสารคามมีเกษตรกรที่เป็นหนี้ในสัดส่วนที่มากถึง 78.8% แต่ยังดีที่มีค่าเฉลี่ยยอดหนี้ที่ 163,942 บาท ซึ่งถือว่ายังต่ำกว่าหลายๆ จังหวัดในภูมิภาค
.
นอกจากนั้นจังหวัด มหาสารคาม ยังมีพืช GI (Geographical Indication) คือ “มันแกวบรบือ” ซึ่งเป็นสินค้าประจำจังหวัด และเป็นพืชที่มีมูลค่าผลผลิตต่อไร่ที่สูง ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นที่นิยมเพาะปลูกแค่ใน อ.บรบือ เท่านั้น ดังนั้น จังหวัดควรมีการส่งเสริมในการเพาะปลูกและแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้มากขึ้น
.
2. แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม อันได้แก่
พระธาตุนาดูน เป็นทางเลือกในการท่องเที่ยวทางศาสนาเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่พลาดไม่เลย
คือพระธาตุนาดูนหรือจะเรียกว่า เป็นพุทธมณฑลแห่งอีสานเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นสถานที่ที่มีการขุดพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมาย เพราะเคยเป็นที่ตั้งของนครจำปาศรีมาก่อน และที่สำคัญคือ มีการขุดพบสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 13-15 ในสมัยทวาราวดีอีกด้วย โดยในทุกปีจะมีการจัดงานนมัสการพระธาตุนาดูน ในช่วง 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งจะมีกิจกรรมเวียนเทียน บวงสรวง สวดมนต์ฟังธรรม และการแสดงแสง สี เสียง ในบริเวณพระธาตุนั่นเอง
.
และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติของมหาสารคามนั่นก็คือ “วนอุทยานโกสัมพี” หรือที่ชาวบ้านท้องถิ่นเรียกว่า บุ่งลิง หรือหนองบุ่ง ในอดีตนั้นบริเวณนี้เป็นป่าดงดิบ และยังมีป่าดอนปู่ตา หรือศาลปู่ย่าที่คนแถวนี้รู้กัน ในปัจจุบันเป็นป่าดงดิบแบบธรรมชาติที่ตั้งอยู่ใจกลางชุมชน และยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวโกสุมพิสัยอีกด้วยที่สำคัญในวนอุทยานแห่งนี้จะมีเจ้าถิ่นขาประจำ คือน้องลิงแสมสีเทาและลิงแสมสีทอง คอยต้อนรับทุกคนอยู่ด้วย
.
แต่หากนำข้อมูลผู้เยี่ยมเยือนในจังหวัด มาพิจารณาจะพบได้ว่า แหล่งท่องเที่ยวเหล่านั้นยังไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวภายนอก หรือมีจุดเด่นที่สามารถแข่งขันกับจังหวัดอื่นได้ โดยเมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนที่เป็นชาวไทยปี 2566 มีจำนวนเพียง 0.75 ล้านคน เป็นอันดับที่ 17 ของอีสาน และมีผู้เยี่ยมเยือน ชาวต่างชาติเพียง 10,688 คน เป็นอันดับที่ 15 ของอีสาน ถือได้ว่าปัจจุบัน มหาสารคามยังไม่สามารถพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวได้มากนัก และยังต้องอาศัยรายได้จากภาคบริการหรือการบริโภคภายในจังหวัดเป็นหลัก ดังนั้น หากจะพึ่งพาการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะต้องมีการพัฒนาโปรโมท รวมถึงสร้างกิจกรรมอื่นๆ เช่น Music Festival, หรือ พัฒนาการท่องเที่ยวที่เป็นเทศกาลให้โด่งดัง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดและต่างชาติให้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายเช่นกัน
.
3. “ตักสิลานคร” ความหวังในการใช้การศึกษา วิจัยพัฒนาเมือง
โดยจังหวัดมหาสารคามนั้นมีความมุ่งหวังอยากให้จังหวัดมหาสารคามเป็น “ตักสิลานคร” อันหมายถึง นครแห่งการศึกษา หรือ เมืองแห่งการศึกษาของภาคอีสาน จังหวัดมหาสารคามมีสถานศึกษาจำนวนมากมีตั้งแต่ระดับเตรียมอุดมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษาเลยทีเดียว และยังมีมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อของจังหวัดนี้คือมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นอีก 1 ในศูนย์กลางทางการศึกษาของภาคอีสานเลยทีเดียว โดยทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามนั้นได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสินค้า OTOP ของจังหวัด นั่นคือ ไวน์ไร้แอลกอฮอล์ ที่ทำมาจากมันแกวบรบือ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และยังมีงานวิจัยอื่นๆ อีกมากมายเลยที่ประสบความสำเร็จ เช่น โรงงานผลิตปลาร้า ตรา แม่ละมุล (ห้างหุ้นส่วนจำกัด ละมุลอินเตอร์ฟู้ดส์) ซึ่งถือเป็นแบรนด์ปราร้าที่พัฒนามาจากวิสาหกิจชุมชน หรือผลิตภัณฑ์ OTOP ของจังหวัด โดยได้ความร่วมมือกับทาง MSU Science Park อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการพัฒนาวิจัยปลาร้า และพัฒนาสู่โรงงานผลิตตามมาตรฐานอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันมีทั้งรับผลิต (OEM) ให้แบรนด์ต่างๆ และทำการตลาดภายใต้แบรนด์ ปลาร้าแม่ละมุล ซึ่งเป็นแบรนด์ปราร้ายอดขายอันดับ 6 ของภาคอีสาน อีกด้วย
.
นอกจากการศึกษา วิจัยจะช่วยในการพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว การที่มีมหาวิทยาลัยก่อตั้งอยู่ใกล้ตัวอำเภอเมือง ก็เป็นแหล่งดึงดูดนักศึกษาจากจังหวัดใกล้เคียงหรือจากภูมิภาคอื่น
ให้เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้โดยตั้งแต่ ปี 2537 ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามแยกตัวจาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม ซึ่งเป็นเวลากว่า 30 ปี โดยออกมาตั้งอยู่ที่ อ.กันทรวิชัย ซึ่งทำให้พื้นที่เหล่านั้นกลายเขตเศรษฐกิจแห่งใหม่ของจังหวัด เพราะเป็นจุดที่อยู่ท่ามกลาง อ.เมือง ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และ ร้อยเอ็ด ซึ่งทำให้บริเวณรอบๆ มหาวิทยาลัยกลายเป็นแหล่งการค้า และ อสังหาฯ โดยข้อมูล ปี 2566 จังหวัดมหาสารคามมีสัดส่วนการลงทุนของอสังหาฯ มากที่สุดในภูมิภาค ถึง 33.1% โดยมีแนวโน้มตลาดอสังหาฯ ทั้งใน ขอนแก่น มหาสารคาม จะเป็นกลุ่มคอนโด และบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้าน ซึ่งสอดคล้องกับทำเลใกล้มหาวิทยาลัยที่มีหน่วยขายมากขึ้น
.
สรุป
ดังนั้น แม้จังหวัดมหาสารคามจะมีเศรษฐกิจที่ไม่ได้โดดเด่น การท่องเที่ยวยังส่งผลต่อเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก
แต่ก็ยังเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการผลักดันทางการศึกษา ในการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงการใช้งานวิจัยพัฒนา เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า การสร้าง “ตักสิลานคร” ถือเป็นอีก 1 ความหวังในการพัฒนาจังหวัดนั้นเอง
ที่มา:สรุปเรื่องน่าฮู้เกี่ยวกับ “มหาสารคาม” เมืองแห่งตักสิลานคร
ที่มา:ทุกๆ 5 ปี อันดับมูลค่าเศรษฐกิจของ 20 จังหวัดเปลี่ยนไปส่ำใด๋?
ที่มา:พามาเบิ่ง แรงงานเกษตรอีสานกว่า 4.1 ล้านคน กระจายอยู่ที่ไหนบ้าง
ที่มา:พามาเบิ่งหนี้สินครัวเรือน ‘เกษตรกร’ ในอีสาน (โดยเฉลี่ย)
ที่มา:พามาเบิ่งคนไทยเดินทางไปจังหวัดไหนหลายสุดในปี 2566 (จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ปี 2566)
ที่มา :พามาเบิ่ง 8 อันดับแบรนด์ปลาร้าสำเร็จรูปแดนอีสานที่มีกำไรมากสุด ปี 2565
ที่มา: พาส่องเบิ่ง อสังหาฯ 5 จังหวัด ภาคอีสานฟื้นตัว