ชวนเบิ่ง “ข้าวไดโนเสาร์” สุดยอดแบรนด์ข้าวหอมมะลิของคนอีสาน
“ข้าวไดโนเสาร์” เป็นชื่อที่ถูกพูดถึงมากที่สุดบนโลกโซเชียลในขณะนี้ ซึ่งหาไม่ได้ง่าย ๆ ตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป วันนี้ ISAN Insight & Outlook จะพามาดูจุดเริ่มต้นและความลับของข้าวไดโนเสาร์ว่ามีอะไรบ้าง?? จุดเริ่มต้นของ “ข้าวไดโนเสาร์” คุณจำนงค์ รุ่งโรจน์นิมิตชัย เล่าว่า “สมัยก่อนคุณพ่อเคยเป็นหลงจู๊หรือเป็นผู้จัดการโรงสีให้คนอื่นเขา ตั้งแต่เด็กๆ เราก็ได้ช่วยงานพ่อ เป็นเสมียนคอยดูข้าว ชั่งข้าว ทำให้เราซึมซับมาเรื่อย ๆ และกลายเป็นงานที่เราถนัด จนกระทั่งเรียนจบ เราก็มาซื้อโรงสีเก่าขนาดเล็กๆ ต่อจากเค้า แล้วก็ปรับปรุงมาเรื่อย ๆ จากโรงสีขนาดเล็กก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นมาทีละนิด จนตอนนี้ก็ทำมา 30 ปีแล้วครับ” จากโรงสีเก่าขนาดเล็กในอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ก็ค่อย ๆ เติบโตและกลายเป็นโรงสีพงษ์ชัยธัญญาพืช ต้นกำเนิดข้าวไดโนเสาร์” ซึ่ง “ข้าวไดโนเสาร์” จะใช้ข้าวหอมมะลิเป็นหลัก ชื่อเต็มของข้าวหอมมะลิคือข้าวขาวดอกมะลิ ปลูกในนาปี คือปลูกได้เฉพาะฤดูฝนเพราะเป็นพันธุ์ข้าวที่ไวต่อแสง ข้าวนาปีต้องปลูกให้ตรงตามฤดูถึงจะได้คุณภาพ พอเข้าสู่ฤดูหนาวที่ช่วงแสงสั้นลง ข้าวมันจะรู้เองอัตโนมัติว่าถึงเวลาต้องออกรวงแล้ว แม้จะปลูกต่างกัน 10 วัน ก็เกี่ยวพร้อมกัน ซึ่งโดยปกติข้าวหอมมะลิจะใช้เวลา 170-175 วัน โดยจะแตกต่างจากข้าวนาปรังที่ปลูกได้ทั้งปี ครบ 90-100 วันแล้วก็เกี่ยว คุณจำนงค์ยังเล่าด้วยว่า เรื่องของดินก็มีผลต่อข้าวเหมือนกัน “ข้าวหอมมะลิจะปลูกดีในนาทราย อย่างข้าวที่ปลูกในนาทรายแถบภาคอีสานเม็ดจะเรียวและขาวใสกว่า จะไม่อ้วนเท่ากับข้าวหอมมะลิที่ปลูกทางภาคกลางซึ่งเป็นนาดินเหนียว แต่ว่าความหอมเนี่ยจะขึ้นอยู่กับอายุของข้าว ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงที่เหมาะสมตามฤดูกาล ในขณะที่ข้าวไม่สุกจนเกินไป ก็จะได้ความหอมขึ้นมา รวงของเขาจะเป็นสีเหลืองพลับพลึง เหลืองเหมือนกล้วยอมเขียวนิด ๆ แสดงว่าเริ่มเกี่ยวได้แล้ว ถ้าปล่อยให้ข้าวกลายเป็นสีเหลืองน้ำตาลมันจะสุกเกินไป แต่ชาวบ้านหลายคนเกี่ยวในช่วงนี้เพราะจะได้ปริมาณแป้งและได้น้ำหนักที่มากขึ้น” สิ่งที่ทำให้ข้าวไดโนเสาร์พิเศษกว่าข้าวอื่น ๆ คือ กระบวนการคัดเลือกวัตถุดิบคุณภาพดีอย่างพิถีพิถัน โดยเริ่มจากวัตถุดิบที่ดีก่อน เวลาชาวบ้านขายข้าวเปลือกมาให้ สิ่งแรกที่ต้องดูคือเป็นข้าวหอมมะลิแท้หรือไม่ มีข้าวพันธุ์อื่นปนมามั้ย จากนั้นก็จะทำการคัดเกรดข้าว โดยคุณสมบัติ 2 ข้อที่ขาดไม่ได้คือความหอมและความนุ่ม โดยใช้หม้อหุงข้าวเล็ก ๆ หุงชิมตรงนั้นเลย ชิมเองบ้าง เสมียนชิมบ้าง แม่บ้านชิมบ้าง เพราะในสายพันธุ์ข้าวหอมไม่ได้มีแค่ข้าวหอมมะลิ ข้าวปทุมก็หอม ข้าวกข79 ก็หอม ทุกสายพันธุ์จะมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ทีมงานจะจำรสชาติข้าวหอมมะลิได้เพราะชิมทุกวัน ชิมแล้วรู้เลยว่าตัวนี้ผ่านหรือไม่ผ่าน พอคัดข้าวเปลือกดีแล้ว อีกขั้นตอนที่สำคัญก็คือการจัดเก็บ โดยจะนำข้าวเปลือกไปเก็บไว้ในถังไซโลแล้วอัดอากาศเย็นและแห้งขึ้นไปจากด้านล่าง เพื่อรักษาอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 25-28 องศา ให้ข้าวคงความหอมนุ่ม พอมีออเดอร์มาแล้ว จะมีการปล่อยข้าวจากถังไซโลออกมาสี ซึ่งจะไม่สีแล้วกองทิ้งไว้ เพราะการเก็บเป็นข้าวเปลือกจะคงคุณภาพได้ดีกว่า พอสีเสร็จแล้วก็แพ็กขายย่อยทุกวัน วันละ 1-2 คันรถเท่านั้น เหตุผลที่ไม่มีขายในห้าง จนกลายเป็น Rare item หลายคนพยายามเสิร์ชหาในกูเกิลว่าข้าวไดโนเสาร์ซื้อได้ที่ไหน เพราะมันไม่ได้วางขายตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป ซึ่งจะเกี่ยวกับปริมาณวัตถุดิบที่ปีนึงโรงสีจะซื้อข้าวคุณภาพดีมาได้เท่านี้ มีห้างมาชวนหลายเจ้า แต่ด้วยปริมาณของของโรงสีมีจำกัด โดยในขณะนี้ก็ยังคงขายอยู่ในร้านค้าแบบดั้งเดิม บางร้านก็นำไปขายบนออนไลน์อย่าง Shopee หรือ LAZADA ซึ่งก็สะดวกกับผู้บริโภค …
ชวนเบิ่ง “ข้าวไดโนเสาร์” สุดยอดแบรนด์ข้าวหอมมะลิของคนอีสาน อ่านเพิ่มเติม »