เหตุเกิดจาก มิ้นท์ช็อกฟีเวอร์ อีสาน ปลูกโกโก้ได้เป็นอันดับ 2 ในไทย

เหตุเกิดจาก มิ้นท์ช็อกฟีเวอร์ 

ฮู้บ่ว่า ? ช็อกโกแลตมาจากโกโก้ 

อีสาน ปลูกโกโก้ได้เป็นอันดับ 2 ในไทยเลยเด้อ

 

มินต์ช็อก ภาษาอังกฤษมาจากคำว่า Mint Chocolate เป็นรสชาติที่ค้นพบในยุคศตวรรษที่ 16 มีผู้บันทึกไว้ว่าเป็นรสชาติที่เกิดจากชาวยุโรปใส่มินต์ไปกับช็อกโกแลต หลังจากค้นพบรสชาตินี้จากอเมริกาใต้ รสชาติของมินต์ช็อก จะเป็นกลิ่นช็อกโกแลตผสมสมุนไพร บางคนเทียบคล้ายกับรสชาติยาสีฟัน

ซึ่งช็อกโกแลตนั้นทำมาจากโกโก้นั่นเอง เป็นวัตถุดิบสำคัญในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และขนม แต่หลายคนคงยังไม่รู้ว่าทุกภูมิภาคของไทยรวมถึงภาคอีสานก็สามารถปลูกต้นโกโก้ได้ ซึ่งเป็นเพราะเหตุใด และมีโอกาสพัฒนาต่อยอดหรือไม่ วันนี้อีสานอินไซต์จะเล่าให้ฟัง

 

ทำไมภาคอีสานถึงปลูกโกโก้ได้เป็นอันดับ 2 ในไทย

ก่อนหน้านั้นภาคอีสานมีเกษตรกรปลูกโกโก้ไม่มากนัก เนื่องจากไม่มีความรู้ ปลูกมาแล้วผลผลิตไม่ได้คุณภาพ ต้องเผชิญกับราคาต่อกิโลกรัมที่ไม่สูง และมีตลาดรับซื้อน้อย โดยส่วนใหญ่เป็นรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ซึ่งก็มักมีปัญหาหลอกขายกล้าพันธุ์และไม่มารับซื้อตามสัญญา

ประกอบกับสภาพภูมิอากาศของภาคที่ไม่ได้ร้อนชื้นหรือมีฝนตกชุก ทำให้คนจำนวนมากเข้าใจว่าอีสานไม่เหมาะกับการปลูกโกโก้ ทั้งที่ปลูกได้ แต่หากอยากให้มีผลผลิตตลอดทั้งปีอาจต้องลงทุนระบบน้ำเพิ่ม

ส่วนการที่ภาคอีสานมีพื้นที่ปลูกโกโก้มากเป็นอันดับ 2 รองจากภาคใต้ เนื่องจากภายหลังความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ภาครัฐจึงมีแนวคิดขยายพื้นที่เพาะปลูกในอีสาน โดยส่งเสริมให้ปลูกแทนสวนยางพาราที่มีอายุมากกว่า 25 ปีและให้น้ำยางน้อย หรือปลูกแซมพืชเศรษฐกิจอื่นเพื่อเป็นรายได้เสริม

 

โอกาสในการเติบโตของโกโก้ไทย

หากมองความได้เปรียบเชิงพื้นที่ที่สามารถเพาะปลูกได้ทุกภูมิภาคของประเทศ บวกกับปัจจัยสนับสนุนอย่างเทรนด์รักสุขภาพ เนื่องจากโกโก้สามารถช่วยลดความดันโลหิตสูง ช่วยให้อารมณ์ดี เพิ่มประสิทธิภาพความจำ และป้องกัน/รักษาโรคซึมเศร้าได้ รวมถึงเทรนด์ความยั่งยืนแบบ Zero Waste เพราะทุกส่วนของโกโก้สามารถนำมาแปรรูปได้ ก็ถือเป็นโอกาสเติบโตของโกโก้ไทยในอนาคต

 

ทั้งนี้จะเกิดขึ้นได้ เกษตรกรที่สนใจควรศึกษาข้อมูลโกโก้ให้รอบด้านก่อนเริ่มเพาะปลูก ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การปรับปรุงดิน และการจัดการน้ำ รวมถึงการเข้าใจ Contract Farming และเงื่อนไขก่อนตัดสินใจเซ็นสัญญา โดยเฉพาะคุณภาพผลผลิตที่โรงงานรับซื้อ และความเสียหายหากมีการยกเลิกสัญญา

ส่วนภาคเอกชน ควรหาทางเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ผ่านการสร้างเอกลักษณ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการยกระดับคุณภาพสินค้าสู่มาตรฐานสากลเพื่อการขยายฐานลูกค้า

และภาครัฐ ควรเป็นตัวกลางระหว่างเกษตรกรกับบริษัทที่รับซื้อ/โรงงานในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และอาจต้องอำนวยความสะดวกด้านระบบฐานข้อมูลให้ครบวงจร ตั้งแต่ทะเบียนสายพันธุ์ เนื้อที่ จำนวนเกษตรกร บริษัทที่รับซื้อ/โรงงาน ตลอดจนการนำเข้าและส่งออก เพื่อเป็นข้อมูลให้เกษตรกรและเอกชนใช้วางแผนด้านการผลิต การตลาด และการลงทุน

 

อ้างอิงจาก

กรมส่งเสริมการเกษตร

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานในการประชุมหารือพืชทางเลือกที่มีอนาคต (Future crops)

 

ติดตาม ISAN Insight & Outlook ได้ที่ 

Instagram : https://www.instagram.com/isan.insight.and.outlook/ 

Website : https://isaninsight.kku.ac.th

 

#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #โกโก้ #โกโก้ไทย #มิ้นท์ช็อก 

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top