Article

บทความ จากบทวิเคราะห์เศรษฐกิจอีสาน ทั้ง ISAN Outlook และข้อมูลต่างๆ ที่เปิดเผยสู่สาธารณะ รวบรวมให้คุณรู้ทันทุกข้อมูล เศรษฐกิจ การเมือง สังคม อีสาน

ททท. รุกตลาดท่องเที่ยวเชิงอาหารสู่แดนอีสาน ลงมิชลินไกด์ ปี 66

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงานประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การคัดสรรร้านอาหารครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย คู่มือ “มิชลิน ไกด์” ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นฉบับที่ 6 ของไทยปักหมุด 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา, อุบลราชธานี, อุดรธาน และขอนแก่น เพื่อผลักดัน การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) เผยอัตลักษณ์โดดเด่นด้านอาหารและวัฒนธรรม เตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ รองรับนักชิมและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า คู่มือ “มิชลิน ไกด์” ฉบับปี 2566 ของไทย ขยายขอบเขตการคัดสรรแนะนำร้านอาหารเข้าสู่ 4 จังหวัดภาคอีสาน เพื่อสะท้อนวัฒนธรรมอาหารอีสานที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว มาพร้อมรสชาติจัดจ้าน มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจโดยได้รับอิทธิพลจากหลากหลายวัฒนธรรม มีสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีความโดดเด่น ตลอดจนเสน่ห์ของวิถีชุมชนที่มีเอกลักษณ์ โดยสามารถรองรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มและยังสามารถเดินตามรอยร้านอร่อยที่ “มิชลิน ไกด์” ได้คัดสรรไว้ให้ ซึ่งในปัจจุบันมีเชฟชาวอีสาน จำนวนมากที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านอาหารจากร้านอาหารชื่อดังในต่างประเทศ กลับมาเปิดร้านอาหารที่บ้านเกิดของตนเอง โดยเลือกนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาปรุงอย่างพิถีพิถันเพื่อยกระดับอาหารอีสานให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการรับประทานอาหารแก่นักเดินทาง ดังนั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เล็งเห็นถึงความพร้อมของ 4 จังหวัดที่สามารถสะท้อน วัฒนธรรมอาหาร การกินของคนไทย และสามารถขับเคลื่อนให้เกิดการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวเพื่อต่อยอดสู่ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) นำไปสู่การกระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการในพื้นที่ เห็นได้จากรายได้จากการท่องเที่ยวระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2565 ของจังหวัดนครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น และ อุดรธานี รวมกันประมาณ 30,511 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติใช้ไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มรวมกันประมาณ 7,442 ล้านบาท ซึ่งสูงเป็น อันดับ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายหมวดอื่น ๆ เช่น ค่าที่พัก ค่าของที่ระลึก และค่าคมนาคมขนส่ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมเดินหน้ากระตุ้นส่งเสริมการท่องเที่ยว สอดรับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยจัดกิจกรรมท่องเที่ยวตลอดทั้งปี เพื่อให้เกิดแรงส่งไปถึงฤดูการท่องเที่ยวช่วงปลายปีต่อเนื่องไปถึงต้นปีหน้า ซึ่งการขยายขอบเขตการคัดสรรร้านอาหารครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย คู่มือ “มิชลิน ไกด์” ประจำปี 2566 จะเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป อ้างอิงจาก: ​​https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1013739 #ISANInsightAndOutlook #อีสาน #นครราชสีมา #อุบลราชธานี #อุดรธานี #ขอนแก่น #ตลาดท่องเที่ยวเชิงอาหาร #มิชลินไกด์

ททท. รุกตลาดท่องเที่ยวเชิงอาหารสู่แดนอีสาน ลงมิชลินไกด์ ปี 66 อ่านเพิ่มเติม »

กงสุลจีนเตรียมเสนอรัฐบาลจีน เล็งใช้นิคมฯ อุดรธานีเป็นฐานพักสินค้าส่งออกนำเข้าจีน-ไทย

อุดรธานี – กงสุลใหญ่จีนลงพื้นที่อุดรธานี สำรวจติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม รวบรวมข้อมูลเสนอรัฐบาลจีน เพื่อใช้เป็นจุดพักก่อนขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนและจีนมาไทย เผยล่าสุดผู้ประกอบการจากภาคใต้ก็สนใจขนสินค้าอาหารทะเลและผลไม้มาพักเพื่อส่งออกไปจีน นายเหลี้ยวจวิ้นหยุน กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ จังหวัดขอนแก่น และคณะได้เดินทางมาดูพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี และรับทราบความคืบหน้าการสร้างนิคมฯ โดยมีนายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานบริหารบริษัทเมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด นางอรพิน พิพัฒน์วิไลกุล รองประธานฯ และนายพิสิษฐ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้จัดการ รวมถึงอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ให้การต้อนรับและให้ข้อมูล การเข้าเยี่ยมชมโครงการฯ ครั้งนี้ ทางคณะได้มารับทราบข้อมูลเกี่ยวกับผลดีผลเสียผลกระทบต่อการเปิดรถไฟจีน-ลาวที่มีต่อจังหวัดอุดรธานี จะดำเนินการอย่างไรในการเชื่อมโยงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานการค้าและการขนส่งเพื่อรองรับการเปิดบริการรถไฟจีน-ลาว พร้อมกับติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม และทางนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีได้เตรียมตัวอย่างไรกับการใช้ประโยชน์จากการเปิดรถไฟสายจีน-ไทย นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานบริหารบริษัทเมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี เปิดเผยว่า การเดินทางลงมาในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีทางกงสุลต้องการข้อมูลของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีว่าตอนนี้ทางนิคมมีความพร้อมมากน้อยขนาดไหน และมารับทราบข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโลจิสติกการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนและจีนมาไทย จากนั้นทางกงสุลก็จะไปร่วมประชุมและเสนอกับทางรัฐบาลต่อไป นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานียังไม่คิดขนส่งทางรถไฟ แต่นิคมจะแก้ปัญหาโดยใช้รถบรรทุกขนจากนิคมขนสินค้าไปยังเวียงจันทน์ โดยเราจะยกตู้สินค้าไปวางที่จุดขนถ่ายที่ สปป.ลาว เพราะระยะทางจากนิคมฯ ไปที่เวียงจันทน์ประมาณ 70 กิโลเมตร และสินค้าจากทางจีนที่จะมาไทยสามารถยกใส่รถบรรทุกกลับมาได้ ขณะนี้ทางนิคมฯ ได้เตรียมพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ไว้รองรับ ขณะนี้มีผู้ประกอบการจากทางภาคใต้เดินทางมาดูพื้นที่นิคมฯ แล้วหลายราย คาดว่าจะนำสินค้าจากภาคใต้จำพวกผลไม้ อาหารทะเล มาจัดเก็บมาพักไว้ที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ก่อนจะลำเลียงส่งออกไปยังประเทศจีน และเร็วๆ นี้ทางหอการค้าภาคเหนือก็จะนำผู้ประกอบการเดินทางมาดูพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเช่นกัน โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี แบ่งออกเป็น 2 เฟส เฟสแรกใช้พื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ และเฟส 2 อีกราว 1,000 ไร่ตามแผนงานต้องสร้างแวร์เฮ้าส์ทั้งหมด 25 หลัง ทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางเพื่อให้โรงงานต่าง ๆ เช่าเพื่อเก็บสินค้า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนอุตสาหกรรม และส่วนโลจิสติกส์ โดยในส่วนของโลจิสติกส์ปาร์กจะประกอบด้วย สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง หรือ ICD เขตปลอดอากร (FREE ZONE) คลังสินค้า ซึ่ง ICD จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในภาคอีสานตอนบนในการที่จะส่งสินค้าออกต่างประเทศหรือนำของเข้ามาในประเทศ ซึ่งส่วนนี้มีความจำเป็นเกี่ยวกับศุลกากรในเรื่องนำเข้าและส่งออก จุดนี้จะสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าให้นำเข้าและส่งออกสินค้าต่างประเทศได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทางผู้บริหารโครงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้เคยระบุว่าอยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีใน 4 เรื่อง คือ ปรับปรุงพัฒนาบริเวณทางแยกเข้านิคมให้สามารถอำนวยความสะดวกต่อการวิ่งของยวดยานพาหนะทุกประเภท, การลากรางรถไฟเข้ามาในพื้นที่นิคมฯ รองรับการขนส่งสินค้า, NEC สิทธิพิเศษ สิทธิประโยชน์ และขอสิทธิพิเศษเขตเศรษฐกิจชายแดนจากหนองคายให้ครอบคลุมมาถึงอุดรธานี อ้างอิงจาก: https://mgronline.com/local/detail/9650000061261 #ISANInsightAndOutlook #อีสาน #กงสุลจีน #อุดรธานี #นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี

กงสุลจีนเตรียมเสนอรัฐบาลจีน เล็งใช้นิคมฯ อุดรธานีเป็นฐานพักสินค้าส่งออกนำเข้าจีน-ไทย อ่านเพิ่มเติม »

1 ปีผ่านไป “ทีดี ตะวันแดง” ปั้นร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ผลเป็นอย่างไร ?

1 ปีผ่านไป “ทีดี ตะวันแดง” ปั้นร้าน  “ถูกดี มีมาตรฐาน” ผลเป็นอย่างไร ?   นายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลีก “ถูกดี มีมาตรฐาน” เปิดเผยว่า ด้วยวิสัยทัศน์ของร้านค้าปลีก “ถูกดี มีมาตรฐาน” มุ่งสร้างมาตรฐานร้านค้าปลีกชุมชน ซึ่งเป็นรากฐานเศรษฐกิจที่สำคัญ ด้วยการยกระดับมาตรฐานร้านค้าปลีกให้ทันสมัยด้วยความรู้ และเทคโนโลยีการบริหารจัดการร้าน โดยเน้น “ร้านค้าของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน”   ทั้งนี้เริ่มจากจังหวัดนครปฐม ขอนแก่น  อุดรธานี ขยายไปยังภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง พบว่าได้รับการตอบรับที่ดี สามารถเพิ่มรายได้ให้กับโชห่วย จากเดิมที่ขายสินค้าได้ 3-5 พันบาทต่อวัน เพิ่มเป็นมากกว่าหมื่นบาทต่อวัน สามารถช่วยเจ้าของร้านฝ่าวิกฤตต่างๆ สร้างชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปัจจุบัน ร้านถูกดี มีมาตรฐานดำเนินการมาแล้วกว่า 1 ปี และมีสาขากว่า 5,000 สาขาทั่วประเทศ แม้จะเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ประกาศไว้เมื่อคราวแถลงข่าวใหญ่ปีที่แล้วที่มีเป้าหมายอยู่ที่การมีจำนวนสาขาทั้งหมด 8,000 สาขา แต่ตัวเลขที่มีอยู่ก็ถือว่าเป็นจำนวนที่น่าสนใจ   โดย ทีดี ตะวันแดง ยังมีกิจกรรมการตลาดเพื่อโปรโมทร้านถูกและดี มีมาตรฐาน เช่น มีโปรโมชั่นชิงทองคำ 1 สลึง และมอเตอร์ไซค์ รวมมูลค่าของรางวัลกว่า 1 ล้านบาท ถือเป็นการช่วยกระตุ้นยอดขาย โดยการร่วมสนุกกับแคมเปญจะเป็นการซื้อครบ 150 บาท ส่งผลให้มีการซื้อต่อบิลที่มากขึ้น อีกทั้ง ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประกาศร่วมลงทุนกลุ่มธุรกิจคาราบาว วงเงินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท รุกแผนพัฒนาร้านสะดวกซื้อชุมชน “ถูกดี มีมาตรฐาน” เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนทั่วไทย ทำให้คนในชุมชนได้ใช้บริการการเงินและสินเชื่อครบวงจร ตั้งเป้ามีผู้ใช้บริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร 30,000 ร้าน ภายในปี 2567 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับร้าน ถูกดี มีมาตรฐาน ในตลาดค้าปลีกได้มากยิ่งขึ้น   ยุทธศาสตร์ของบริษัทในการพัฒนา “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ไม่ได้มองเพียงการเข้ามาพัฒนาและปรับร้านโชห่วยให้มีความทันสมัยเท่านั้น แต่วางเป้าหมายเป็นเสมือน แพลตฟอร์มและ โครงข่ายที่เชื่อมโยงกันเพื่อสนองความต้องการของคนในชุมชนทั่วประเทศ และเชื่อมต่อผู้ผลิต และผู้ให้บริการต่างๆ ที่คนในชุมชนเคยเข้าถึงได้ยาก เช่น บริการทางการเงิน, เป็นจุดรับส่งสินค้าในชุมชน, บริการสินค้าทางการเกษตร โดยเฉพาะในชุมชน หมู่บ้านที่ห่างไกล ที่สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ยังเข้าไม่ถึง   อ้างอิงจาก:  https://www.kaohoon.com/pr/460397  https://www.kaohoon.com/pr/516149  https://www.brandage.com/article/29738/TD-Tawandang  https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?release=y&ref=M&id=VXo3d3F1Z0R4UWM9  #ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ถูกดีมีมาตรฐาน #ทีดีตะวันแดง

1 ปีผ่านไป “ทีดี ตะวันแดง” ปั้นร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ผลเป็นอย่างไร ? อ่านเพิ่มเติม »

“บ้านปู เน็กซ์” จับมือ “เชิดชัยฯ” และ “ดูราเพาเวอร์” ตั้งโรงงานแบตเตอรี่ 1.4 พันล้านบาท ที่ จ.นครราชสีมา

“บ้านปู เน็กซ์” จับมือ “เชิดชัยฯ” และ “ดูราเพาเวอร์” ตั้งโรงงานแบตเตอรี่  มูลค่า 1.4 พันล้านบาท ที่ จ.นครราชสีมา   บ้านปู เน็กซ์ ผู้ให้บริการโซลูชันพลังงานฉลาดชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประกาศลงนามความร่วมมือ 2 พันธมิตรผู้นำทางธุรกิจ เชิดชัยมอเตอร์เซลส์ ผู้ให้บริการรถบัสรายใหญ่ที่สุดในไทย และดูราเพาเวอร์ ผู้นำด้านระบบแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานแบบลิเธียมไอออนระดับโลก    นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของผู้นำธุรกิจจาก 3 อุตสาหกรรม ที่มุ่งมั่นขยายธุรกิจไปกับทิศทาง และเทรนด์ของโลกอนาคต โดยเฉพาะการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 13.52% หรือมีมูลค่ากว่า 8.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2570* ทั้งยังเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจแบตเตอรี่ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท    การจัดตั้งโรงงานแห่งนี้จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนแนวทางของภาครัฐที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV โดยตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน กำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ในจังหวัดนครราชสีมา    ซึ่งมีเชิดชัยมอเตอร์เซลส์ ถือหุ้นสัดส่วน 40% บ้านปู เน็กซ์ ถือหุ้น 30 % และดูราเพาเวอร์ ถือหุ้น 30% คาดจะใช้เงินลงทุนราว 1,400 ล้านบาท ในการขยายกำลังการผลิตสู่ 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงภายในปี 2569 เพื่อบุกตลาดในเอเชียแปซิฟิก   โดยระยะแรกจะมีกำลังผลิตเริ่มต้นที่ 200 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) คาดว่าปี 2566 จะเริ่มดำเนินการได้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ   ดร.อัสนี เชิดชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชิดชัยมอเตอร์เซลส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเล็งเห็นแนวโน้มของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทยที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันที่แพงขึ้น และเมกะเทรนด์ด้านความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อม จึงมองหาพันธมิตรเชิงกลยุทธ์อย่างบ้านปู เน็กซ์ และดูราเพาเวอร์ เพื่อรุกตลาดรถบัสไฟฟ้า (e-Bus) เพื่อช่วยสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้ธุรกิจ และขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ที่หลากหลาย   การร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งพลังที่จะช่วยสนับสนุน และสอดรับกับนโยบายการผลิต และการใช้ยานยนต์ไร้มลพิษของภาครัฐ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ที่มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ พร้อมช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ   อ้างอิงจาก:  https://www.banpunext.co.th/news-updates/  https://www.thansettakij.com/economy/industry/534727  https://workpointtoday.com/banpu-next-with-partner-build-lithium-ion-battery-factory/    #ISANInsightAndOutlook #อีสาน #บ้านปูเนกซ์ #Banpunext #เชิดชัย #Cherdchai #ดูราเพาเวอร์ #Durapower #โคราช #นครราชสีมา

“บ้านปู เน็กซ์” จับมือ “เชิดชัยฯ” และ “ดูราเพาเวอร์” ตั้งโรงงานแบตเตอรี่ 1.4 พันล้านบาท ที่ จ.นครราชสีมา อ่านเพิ่มเติม »

มิตรผล ฟื้นชีพตึกร้างทุ่มพันล้านพลิกโฉมสู่ “ Khon Kaen Innovation Center ”

มิตรผล ฟื้นชีพตึกร้างทุ่มพันล้านพลิกโฉมสู่  “ Khon Kaen Innovation Center ”   อาคารร้าง สูง 28 ชั้น ที่ตั้งใจกลางเมืองขอนแก่น ของกลุ่มโฆษะ มากว่า 23 ปี กำลังจะกลายเป็นอดีต เมื่อประธานใหญ่ของกลุ่มน้ำตาลมิตรผล คุณอิสระ ว่องกุศลกิจ ได้ตัดสินใจเจรจากับประธานกลุ่มโฆษะ คุณชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์  ซื้อที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าวเมื่อช่วงปลายปี 2560 พร้อมกับจัดตั้ง “บริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด” ขึ้น เพื่อประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และให้บริการบริหารอาคารดังกล่าว ด้วยทุนจดทะเบียน 980 ล้านบาท   “ Khon Kaen Innovation Center ” ศูนย์นวัตกรรมด้านการพัฒนานวัตกรรมการเกษตร อาหาร และไบโอเทค โดยหัวใจหลักคือ เป็นศูนย์นวัตกรรมที่เน้นการบ่มเพาะธุรกิจ (Incubation center) ให้กับสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในท้องถิ่นหรือทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาใช้บริการได้ ด้วยพื้นที่ห้องปฏิบัติการ 1,200 – 1,300 ตารางเมตร หรือกินพื้นที่ทั้งหมด 1 ชั้นครึ่งให้กับการวิจัยและการพัฒนาโดยเฉพาะ   อีกทั้งยังมีพื้นที่โรงแรมเพื่อเตรียมพร้อมรองรับคนจากที่ต่างๆ บริการโดยโรงแรม Ad Lib ซึ่งจะอยู่พื้นที่ด้านบนสุดของอาคาร ชั้น 27-28 เป็นโรงแรมระดับ 4 ดาว ที่ทันสมัย มีวิวทิวทัศน์สวยงาม เห็นตัวเมืองขอนแก่นได้โดยรอบ   ศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ยังมีแผนที่จะเปิดเป็นศูนย์ธุรกิจด้านบริการสุขภาพ (Wellness Clinic) ซึ่งเป็นการต่อยอดจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีโครงการ Medical Hub ให้มีบริการที่ทันสมัยใจกลางเมือง ตอบโจทย์กับผู้มาใช้บริการ ซึ่งทั้งหมดนี้ยังมี บมจ.บ้านปูเข้ามาช่วยดูแลพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ภายในอาคารให้อีกด้วย และจะมีการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar System) และศูนย์บริการให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) ต่ออีกในอนาคต และ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการในช่วงสิ้นปี 65 นี้   อ้างอิงจาก:  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) https://www.nia.or.th/KKInnoCenter  https://www.prachachat.net/local-economy/news-541037  ขอบคุณรูปภาพจาก: Khon Kaen Talk

มิตรผล ฟื้นชีพตึกร้างทุ่มพันล้านพลิกโฉมสู่ “ Khon Kaen Innovation Center ” อ่านเพิ่มเติม »

Update “ถนนวงแหวนรอบเมืองโคราช” ดำเนินการแล้วกว่า 80% คาดสร้างเสร็จปี 66

Update “ถนนวงแหวนรอบเมืองโคราช”  ดำเนินการแล้วกว่า 85% คาดสร้างเสร็จปี 66   ถนนวงแหวน (Ring Road) เป็นถนนที่สร้างขึ้นล้อมรอบตัวเมือง สามารถเดินทางจากฝั่งเมืองหนึ่ง ไปอีกฝั่งหนึ่งของเมืองได้โดยไม่ต้องเข้าเมืองเพื่อเปลี่ยนเส้นทาง ช่วยแบ่งเบาภาระการจราจรและรองรับการขยายตัวของเมือง โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 290 สายถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา (วงแหวนรอบเมืองโคราช) งบประมาณรวม 12,429 ล้านบาท มีระยะทางทั้งหมด 110 กิโลเมตร คืบหน้าแล้วกว่า 85% ปัจจุบันยังเหลือการก่อสร้างอีกประมาณ 30 กิโลเมตร คิดเป็น 15% จากงบประมาณรวมทั้งหมด คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการปี 2566   โครงการได้เริ่มก่อสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองขึ้นในปี 2549 เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่จึงมีการแบ่งงานก่อสร้างออกเป็นช่วงๆ เริ่มตั้งแต่ทางหลวงหมายเลข 205 – ทางหลวงหมายเลข 224 อยู่ในพื้นที่ อ.ปักธงชัย, อ.เมืองนครราชสีมา และ อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา เป็นถนนวงแหวนรอบเมืองที่มีขนาดใหญ่และมีระยะทางยาวที่สุดในต่างจังหวัด    อีกทั้งยังถือเป็นถนนวงแหวนที่มีระยะทางยาวเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย รองมาจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) การก่อสร้างของโครงการ แบ่งออกเป็น 11 ตอน ได้แก่ ทิศเหนือ 4 ตอน (ระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตร) ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 ตอน อีก 2 ตอนอยู่ระหว่างดำเนินการ และทิศใต้ 7 ตอน (ระยะทางประมาณ 62 กิโลเมตร) ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 ตอน อีก 5 ตอนอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยตลอดแนวที่ถนนตัดผ่านนั้น พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบและพื้นที่เกษตรกรรม โดยที่ผ่านมา ได้เปิดใช้เส้นทางวงแหวนด้านใต้บางส่วน ระยะทางรวม 29.22 กิโลเมตร ที่ต้องการบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะเป็นเส้นทางที่สามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้เส้นทางและประชาชนในพื้นที่ตัวเมืองนครราชสีมาและโดยรอบ ส่งเสริมศักยภาพทางด้านการคมนาคม การค้า การขนส่ง โดยรวมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสามารถรองรับการขยายตัวของผังเมืองรวมในอนาคตอีกด้วย   อ้างอิงจาก : https://www.thansettakij.com/economy/534019  http://www.doh.go.th/content/page/news/144083  https://mgronline.com/columnist/detail/9650000004673  #ISANInsightAndOutlook #อีสาน #โคราช #นครราชสีมา #ถนนวงแหวนรอบเมืองโคราช #วงแหวนรอบเมืองโคราช

Update “ถนนวงแหวนรอบเมืองโคราช” ดำเนินการแล้วกว่า 80% คาดสร้างเสร็จปี 66 อ่านเพิ่มเติม »

นิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี แห่งแรกในอีสานใต้ คาดเฟส 1 แล้วเสร็จปี 2565

นิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี แห่งแรกในอีสานใต้ คาดเฟส 1 แล้วเสร็จปี 2565   นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้นายปองพล อดิเรกสาร ประธานกรรมการบริษัท อุบลราชธานีอินดรัสตี้ จำกัด นำคณะผู้บริหารบริษัทฯ เข้าพบ เพื่อรายงานความคืบหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ซึ่งถือเป็นนิคมแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ ตั้งอยู่ใน อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน คาดว่าเฟสที่ 1 จะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2565 ในปี พ.ศ. 2565 ได้มีแผนดำเนินการดังนี้ EIA ได้รับการอนุมัติ (EIA: การประเมินผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสุขภาพหรือความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบ), การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) อนุมัติโครงการ, เริ่มการก่อสร้างและพัฒนาโครงการ และ ขายที่ดินโครงการ  ในปี พ.ศ. 2571 มีแผนพัฒนาโครงการดังนี้ การดำเนินโครงการ แล้วเสร็จ 50-70% และการขยายพื้นที่นิคมฯ นิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานีสอดรับกับนโยบายการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วยให้เกิดประโยชน์ทั้งในเรื่องพัฒนาสังคม พื้นที่ และยังเป็นฐานการผลิตของผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศและต่างประเทศ  มีบทบาทเป็นศูนย์กลางของระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัย ที่พร้อมไปด้วยพื้นที่เชิงพาณิชย์ และแหล่งรวบรวมนวัตกรรมใหม่ ๆ จากผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการต่ำลง จะสามารถแข่งขันในตลาด CLMV และช่วยให้เกิดการสร้างงานคนในท้องถิ่น ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีเส้นทางที่สามารถเชื่อมโยงการค้าใน 4 ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน มีรถไฟทางคู่และท่าอากาศยานอุบลราชธานีที่จะช่วยสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในระดับนานาชาติ รวมทั้งยังมีจุดผ่านแดนที่สำคัญ ที่จะทำให้การขนส่งจากกรุงเทพฯ หรือจากท่าเรือภาคตะวันออกไปสู่พื้นที่ได้สะดวกขึ้น อ้างอิงจาก :  สำนักประชาสัมพันธ์เขต 2 อุบลราชธานี https://www.ubi.co.th/our-latest-news/1292 https://aic.moac.go.th/downloads/document/aic160963/009.pdf  #ISANInsightAndOutlook #อีสาน #นิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี #อุบลราชธานี #อุบลราชธานีอินดรัสตี้

นิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี แห่งแรกในอีสานใต้ คาดเฟส 1 แล้วเสร็จปี 2565 อ่านเพิ่มเติม »

” อินทผาลัมโคราช ” พลิกเปลี่ยนไร่มันฯ ขยายตลาด เร่งขึ้นบัญชี พืชปลูกได้ในประเทศ

” อินทผาลัมโคราช “ พลิกเปลี่ยนไร่มันฯ ขยายตลาด เร่งขึ้นบัญชี พืชปลูกได้ในประเทศ   เปิดสวน“อินทผาลัมโคราช” พืชเศรษฐกิจมาแรงในยุคนี้ สร้างรายได้เกษตรกรปีละเป็นล้าน มีความพร้อมทั้งคุณภาพผลผลิตและพื้นที่เพาะปลูก สมาคมผู้ปลูกฯ เดินหน้าผลักดัน ให้บรรจุอินทผาลัมเป็นพืชปลูกได้ในประเทศไทย เพื่อขยายตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ สวนอินทผาลัมโคราช เลขที่ 261 หมู่ที่ 13 หมู่บ้านอ่างห้วยยาง ต.ธงชัยเหนือ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา นายประทิน  อภิชาตเสนีย์  เจ้าของสวนอินทผาลัมโคราช ปลูกอินทผาลัมรวมจำนวน 1,000 ต้น โดยเป็นสวนอินทผาลัมสวนแรกของจังหวัดนครราชสีมา จากเดิมเป็นพื้นที่ดังกล่าวปลูกมันสำปะหลังมาก่อน กระทั่งปี 54 จึงหันมาปลูกอินทผาลัมด้วยการเพาะเมล็ด เนื่องจากผลผลิตไม่ดีและกลายพันธุ์รสชาติไม่ดี จึงเปลี่ยนมาปลูกจากต้นพันธุ์ที่เพาะเนื้อเยื่อพันธุ์บาฮี ในปี 2559 เหลือต้นพ่อพันธุ์ประมาณ 4-5 ต้นเท่านั้น  การให้น้ำจะใช้ระบบปริงเกอร์เพื่อให้กระจายให้ทั่วโดยสวนอินทผาลัมโคราชเป็นสวนปลอดสารเคมี ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตระยะเวลา 3 เดือน ไม่มีการใช้สารเคมีจึงสามารถเด็ดจากต้นกินได้เลย ความโดดเด่นของอินทผาลัมที่นี่ คือ “ หวาน กรอบ อร่อย ปลอดภัยจากสารเคมี ” ซึ่งอินทผาลัมจะทยอยสุกและเริ่มตัดขายได้ตั้งแต่ กลางเดือน ก.ค. – ส.ค.  ราคาขายหน้าสวนอยู่ที่ กก.ละ 200 -300 บาท คาดว่าในปีนี้จะสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาทและมีผลผลิตต่อปีหลายร้อยตัน   แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรคือด้านการขยายตลาด เนื่องจากอินทผาลัมเป็นพืชที่ยังไม่ได้รับการบรรจุให้เป็นพืชที่ปลูกในประเทศไทยได้ ซึ่งมีผลต่อการส่งออกและการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ ทางสมาคมผู้ปลูกอินทผาลัม ที่มีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศ กำลังอยู่ระหว่างการผลักดันให้กระทรวงเกษตรกรฯ บรรจุให้อินทผาลัมให้เป็นพืชปลูกได้ในประเทศไทย เพื่อให้อินทผาลัมส่งออกขายในต่างประเทศได้  ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสที่ดีให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอินทผาลัม ได้มีโอกาสขยายตลาดไปสู่ประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย มาเลยเซีย หรือในกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะนี้ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเรื่องดังกล่าวแล้ว จึงหวังว่าจะดำเนินการผลักดันให้เป็นรูปธรรมเพื่อเกษตรกรได้เดินหน้าต่อไป   อ้างอิงจาก :  https://www.thansettakij.com/economy/533259  https://mgronline.com/local/detail/9650000068900  https://www.nstda.or.th/home/news_post/pt-nstda-bcg-biotec/    #ISANInsightAndOutlook #อีสาน #อินทผาลัมโคราช #นครราชสีมา 

” อินทผาลัมโคราช ” พลิกเปลี่ยนไร่มันฯ ขยายตลาด เร่งขึ้นบัญชี พืชปลูกได้ในประเทศ อ่านเพิ่มเติม »

ชวนเบิ่งงาน Pride ในอีสาน การส่งเสียงของ LGBTQ+ เพื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยได้เห็นปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ในการเฉลิมฉลองเดือน “ไพรด์” คือ การจัดงานไพรด์นอกเหนือไปจากเมืองหลวงกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยว แต่เกิดขึ้นในจังหวัดอุดรธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุบลราชธานี ที่ภาคประชาชนและกลุ่ม LGBTQ+ ร่วมกันทำให้เกิดขึ้นเพื่อส่งเสียงถึงความต้องการกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เพิ่งผ่านสภาในวาระ 1 การเดินขบวนของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ในงานบางกอกนฤมิตรไพรด์ที่จัดขึ้นบนถนนสีลม จุดประกายให้ภาคประชาชนกลุ่ม LGBTQ+ จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาเช่นกัน จังหวัดเหล่านี้ไม่ได้เคยมีงานไพรด์มาก่อน ธงสีรุ้ง กับขบวนของคนรุ่นใหม่ที่เดินไปตามถนนในเมือง และพิธีจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ในเดือน มิ.ย. มีงานไพรด์เกิดขึ้นอย่างน้อย 4 จังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ ยูดี ไพรด์ อุดรธานี, บุญบั้งไพรด์ ศรีสะเกษ, ซะเร็นไพรด์ สุรินทร์, อุบลฯ ไพรด์ อุบลราชธานี ในอดีต งานประจำปีของจังหวัดล้วนเป็นงานที่ชูเอกลักษณ์และของดีประจำจังหวัด ขึ้นมาเป็นจุดขาย แต่ผู้ริเริ่มงานไพรด์ในสุรินทร์ และอุบลราชธานี หวังว่า นี่จะเป็นหมุดหมายสำคัญที่กลุ่มหลากหลายทางเพศจะได้แสดงออกถึงความภูมิใจในอัตลักษณ์ของกลุ่ม LGBTQ+ ซะเร็นไพรด์ งานไพรด์ของชาวสุรินทร์ เบญจมินทร์ ปันสน คณะทำงาน “ซะเร็นไพรด์” ผู้จัดงานใน จ.สุรินทร์ บอกว่า กิจกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนหลากหลายทางเพศในจังหวัดต้องการอยากจะเห็นกิจกรรมเช่นนี้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าไม่ได้มีองค์กร หรือหน่วยงานไหน ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ไหนในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นคนเริ่มต้น กลุ่ม LGBTQ+ ที่อยู่ในธุรกิจช่างแต่งหน้า เช่าชุด ทำคลินิกเสริมความงาม ต่างร่วมสนับสนุนงานที่จัดขึ้น เพราะต้องการเห็นจากงานไพรด์ในกรุงเทพฯ และหวังให้มีงานนี้ขึ้นมาในจังหวัดของตัวเอง นอกจากงานเดินขบวนและกิจกรรมที่เป็นสีสัน ซึ่งต้องการให้งานนี้สร้างความเข้าใจเรื่องร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ว่าให้สิทธิที่แตกต่างกันกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต อย่างไร ขณะที่พื้นที่สำคัญที่ใช้จัดงานคือ ศาลากลางจังหวัดหลังเก่าที่เคยล้อมรั้วเหล็กเอาไว้ ได้รับอนุญาตให้จัดงานของประชาชนได้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นงานสำคัญ ที่ทุกคนเห็นว่าพื้นที่ศาลากลางกลางเมืองมีประโยชน์และเหมาะสมสำหรับเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน อุบลฯ ไพรด์ เมืองเซฟโซนของ LGBTQ+ พิทักษ์ชัย ชาวอุบลราชธานี ซึ่งเป็น ผอ.กองประกวดมิสแกรนด์อุบลฯ ปีนี้ด้วย เห็นถึงศักยภาพของ จ.อุบลฯ ว่าเป็นอีกเมืองหนึ่งที่น่าจะจัดงานได้ยิ่งใหญ่ อีกทั้งหลายภาคส่วนก็ร่วมสนับสนุนเรื่องนี้ ทั้งหอการค้าจังหวัด เอกชนในพื้นที่ และเทศบาลนครอุบลราชธานี และยังมีกลุ่มเยาวชนและผู้ประกอบการ มาร่วมด้วย โดยหลังจากการจัดงานไพรด์ในวันที่ 29 มิ.ย. แล้ว งานแห่เทียนพรรษา ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของอุบลฯ ก็จะมีการผนวกรวมขบวนพาเหรดสีรุ้งของกลุ่มหลากหลายทางเพศในอุบลฯ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง โดยอุบลราชธานีจะมีการจัดทำให้อุบลฯ เป็น “เซฟโซน” หรือพื้นที่ปลอดภัยอีกหนึ่งเมืองของประเทศไทยที่รองรับ LGBTQ+ ทั่วโลกมาเที่ยว ผ่านแคมเปญ ALL FOR YOU ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มโรงแรม ห้างร้าน ร้านอาหาร ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษ์ว่าเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างต้อนรับ LGBTQ+ ที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะได้รับการปฏฺิบัติที่ไม่แบ่งแยกและปลอดภัย ดังนั้น เป็นการผลักดันให้อุบลฯ เป็นอีกหนึ่งเมืองที่รองรับ LGBTQ+ ทั่วโลกมาเที่ยว

ชวนเบิ่งงาน Pride ในอีสาน การส่งเสียงของ LGBTQ+ เพื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียม อ่านเพิ่มเติม »

“ เงินบาทอ่อนค่า ” ที่ 35.45 บาท/ดอลลาร์ ทำสถิติครั้งใหม่รอบ 5 ปีครึ่ง

“ เงินบาทอ่อนค่า ”  ที่ 35.45 บาท/ดอลลาร์ ทำสถิติครั้งใหม่รอบ 5 ปีครึ่ง    ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มอ่อนค่า หลังทำสถิติครั้งใหม่รอบ 5 ปีครึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตามแรงเทขายหุ้นและพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติ   นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาด ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดที่ระดับ 35.45 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดของสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.49 บาทต่อดอลลาร์    อีกทั้งยังมองว่ากรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.20-35.65 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทของวันที่ 27 มิ.ย. 2565  คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.35-35.55 บาทต่อดอลลาร์ โดยเฉพาะในกรณีที่ กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายนักลงทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่องในจังหวะที่ตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง   ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า  เงินบาทอ่อนค่า ลงเกือบตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้เงินดอลลาร์ฯ จะเผชิญแรงขายจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันต่อรัฐสภาสหรัฐว่า เฟดมุ่งมั่นที่จะจัดการกับปัญหาเงินเฟ้ออย่างไม่มีเงื่อนไขเพื่อให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ กลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% แต่ก็ยอมรับว่า การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะถดถอย   ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอด้วยแรงขายของผู้ส่งออกที่ต่างรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่า  นอกจากนี้ หากราคาทองคำมีการดีดราคาขึ้นมา ก็อาจมีกระแสในการทำกำไรทองคำ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน ส่วนความกังวลแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องรุนแรง ยังมองว่า เงินบาทจะยังไม่อ่อนค่าทะลุระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ง่าย หากตลาดไม่กังวลการเริ่มใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้งในบางพื้นที่ของจีน จนหันมาเทขายสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia ทั้งหุ้นและพันธบัตรอย่างรุนแรง   อีกทั้ง ธนาคารกสิกรไทย ประเมิน จากนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากหากปล่อยไว้ จะยิ่งทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า และ ยิ่งเร่งเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่า ธปท. ได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินเฉลี่ยสัปดาห์ละ 3,000-5,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 106,000-177,500 ล้านบาท) เพื่อช่วยพยุงไม่ให้เงินบาทอ่อนค่า หรือ ผันผวนเกินไป โดยรวม ๆ มีการใช้เงินเข้าไปดูแลแล้วราว 1 แสนล้านดอลลาร์ ในช่วงที่เงินบาทผันผวน เพราะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น คาดว่าในปีนี้จะปรับขึ้น 2 ครั้ง (ในเดือนสิงหาคม และพฤศจิกายน)      อ้างอิงจาก: https://www.bangkokbiznews.com/business/1012154  https://www.prachachat.net/finance/news-963294  https://www.tnnthailand.com/news/wealth/117557/    #ISANInsightAndOutlook #อีสาน #อีสานอินไซต์ #เงินบาทอ่อนค่า

“ เงินบาทอ่อนค่า ” ที่ 35.45 บาท/ดอลลาร์ ทำสถิติครั้งใหม่รอบ 5 ปีครึ่ง อ่านเพิ่มเติม »

Scroll to Top