ผู้สูงอายุในอีสานเพิ่มขึ้น สวนทางกับผู้ที่ได้รับเงินกองทุนผู้สูงอายุ ปี 64 กำลังบอกอะไร ?

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรครั้งสำคัญ คือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยสัดส่วนประชากรในวัยทำงานและวัยเด็กลดลง เนื่องจากอัตราการเกิดและอัตราการตายลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชากรไทยโดยเฉลี่ยมีอายุยืนยาวขึ้น
.
ปี 2564 ไทยมีประชากรสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จำนวน 13.4 ล้านคน เมื่อมาลองดูในระดับภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุดอย่างภาคอีสาน พบว่ามีประชากรสูงอายุกว่า 3 ล้านคน หรือคิดเป็น 22.5% ของประชากรสูงอายุทั้งหมด
.
จังหวัดที่มีประชากรสูงอายุมากที่สุดในอีสาน ได้แก่ 1. นครราชสีมา 2. ขอนแก่น และ 3. อุบลราชธานี
.
แต่ที่น่าสนใจ คือ อีสานมีประชากรสูงอายุที่ได้รับอนุมัติเงินกองทุนผู้สูงอายุเพียง 625 คน (ลดลง 75.7% จากปี 2563) อีกทั้งจังหวัดที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดอย่าง นครราชีมา และอุบลราชธานี กลับไม่มีผู้ที่ได้รับเงินกองทุนผู้สูงอายุเลย
.
อีสานอินไซต์จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จัก “เงินกองทุนผู้สูงอายุ” เพื่อหาสาเหตุว่า เกิดอะไรขึ้น และสถานการณ์แบบนี้กำลังบอกอะไรเรา
.
ก่อนอื่นต้องรู้ว่า ‘เงินกองทุนผู้สูงอายุ’ ไม่เหมือนกับ ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’
.
โดย เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คือ สวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ภาครัฐจัดสรรไว้ให้กับผู้สูงอายุที่เข้าเกณฑ์ทุกคน เพื่อเป็น ‘เงินช่วยเหลือ’ และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายการดำรงชีวิตในแต่ละเดือน
.
ส่วนเงินกองทุนผู้สูงอายุ คือ เงินเพื่อเป็น ‘ทุนใช้จ่าย’ เกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และสนับสนุนผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการประกอบอาชีพ ซึ่งประกอบด้วย
.
1. การให้การสนับสนุนงบโครงการแบบให้เปล่า (ในลักษณะกลุ่ม ชมรม องค์กร และเครือข่ายด้านผู้สูงอายุ) แบ่งเป็น
1.1) โครงการขนาดเล็ก ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท
1.2) โครงการขนาดกลาง ในวงเงินเกิน 50,000 – 300,000 บาท
1.3) โครงการขนาดใหญ่ วงเงินตั้งแต่ 300,000 บาทขึ้นไป
.
2. ให้กู้ยืมเงินเพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพ (ต้องมีผู้ค้ำประกัน) แบ่งเป็น
2.1) กู้ยืมเป็นรายบุคคล ได้คนละไม่เกิน 30,000 บาท
2.2) กู้ยืมเป็นรายกลุ่ม ๆ ละไม่น้อยกว่า 5 คน ได้กลุ่มละไม่เกิน 100,000 บาท
ทั้งนี้ ให้ผ่อนชำระเป็นรายงวด ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย
.
การที่ประชากรสูงอายุได้รับอนุมัติเงินกองทุนผู้สูงอายุลดลงจึงสะท้อนความเป็นไปได้ 3 ข้อ ดังนี้
.
1. ผู้สูงอายุมีการเตรียมพร้อมเรื่องเงินออมสำหรับวัยเกษียณมากขึ้น
.
2. มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเริ่มส่งเสริมการจ้างงาน รวมถึงต่ออายุงานให้ผู้สูงอายุที่มีความต้องการทำงานมากขึ้น โดยมองว่าประชากรกลุ่มนี้ยังมีความรู้ความสามารถ ในขณะเดียวกันก็อยากใช้ความสามารถนั้นพัฒนาองค์กรต่อ จึงมีส่วนให้การพึ่งพาเงินสนับสนุน โดยเฉพาะเงินกู้จากภาครัฐเพื่อมาประกอบอาชีพลดลง
.
3. ปี 2564 ผลกระทบของ COVID-19 ต่อภาคธุรกิจค่อนข้างรุนแรง ทำให้หน่วยงานที่คัดกรองทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัดพิจารณาคุณสมบัติของผู้กู้และผู้ค้ำประกันเข้มงวดขึ้น รวมถึงผู้สูงอายุที่มีธุรกิจเป็นของตัวเองหรือสนใจจะเริ่มธุรกิจใหม่ตัดสินใจกู้ยืมจากกองทุนผู้สูงอายุลดลงตามไปด้วย
.
ทั้งนี้ เงินกองทุนผู้สูงอายุ นอกจากจะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้แล้ว ยังช่วยบรรเทาปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบเพื่อมาใช้จ่ายลง แต่ในเชิงนโยบาย โดยเฉพาะในส่วนของหนี้ค้างชำระจากการกู้ยืมเงินทุนเพื่อนำไปประกอบอาชีพของตัวเอง กองทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องควรหามาตรการเร่งรัดในการดูแลหนี้ค้างชำระให้ดียิ่งขึ้น
.
เช่น การสร้างแรงจูงใจให้ผู้ที่กู้ยืมเงินทุนตระหนักถึงภาระและหน้าที่ที่ต้องชำระเงินคืนให้แก่กองทุนเพื่อจะได้นำมาใช้หมุนเวียนให้ผู้กู้รายอื่นได้มีโอกาสกู้ยืมนำไปประกอบอาชีพเช่นกัน เพื่อลดการเกิดหนี้สูญ และผลกระทบที่จะเกิดกับสภาพคล่องของกองทุนในอนาคต
.
.
อ้างอิงจาก : https://kku.world/gpdph
https://kku.world/z0z7a
https://kku.world/bvov4
.
สำหรับผู้สูงอายุที่อยากรู้สิทธิสวัสดิการที่ตนจะได้แบบครบจบในหน้าเดียว คลิก https://kku.world/pdxj2
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #เงินกองทุนผู้สูงอายุ

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top