เมื่อ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีได้แถลงข่าวการค้นพบ “ผึ้งหยาดอำพันภูจอง” (Phujong resin bee) ผึ้งเฉพาะถิ่นชนิดใหม่ของโลก ที่พบแห่งเดียวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี
.
ผึ้งหยาดอำพันภูจอง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Anthidiellum (Ranthidiellum) phujongensis n. sp. เป็นกลุ่มผึ้งหายากที่เคยมีการค้นพบก่อนหน้านี้เพียง 4 ชนิดในโลกเท่านั้น และค้นพบเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.
นอกจากนี้ยังพบผึ้งปรสิตชนิดใหม่ ที่พบภายในรังของผึ้งหยาดอำพันภูจอง คือ “ผึ้งบุษราคัมภูจอง” (Topaz cuckoo bee) โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stelis flavofuscinular n. sp. จากลักษณะพิเศษที่มีสีเหลืองเข้ม สลับลายดำบริเวณลำตัว ทำให้นึกถึงความสวยงามของบุษราคัม
.
.
สร้างจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวเชิงเชิงนิเวศ (Ecotourism)
.
การค้นพบผึ้งหายากเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์และความสำคัญของผืนป่าได้เป็นอย่างดี เหมาะกับการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรธรรมชาติที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ โดยคณะผู้วิจัยร่วมมือกับอุทยานแห่งชาติภูจองนายอยได้เพิ่มพื้นที่การสร้างหน้าผาดินธรรมชาติบริเวณพื้นที่ใกล้กับลำห้วย เพื่อเพิ่มโอกาสและสถานที่ในการสร้างรังและขยายพันธุ์ของผึ้งกลุ่มนี้
.
อีกทั้งยังจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อ “สร้างการรับรู้เรื่องราวของผึ้ง” ทั้งความสำคัญ ความงดงาม รวมทั้งข้อมูลทางชีววิทยาที่ให้ประชาชนได้ตระหนักและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับชุมชนโดยให้ความรู้ถึงประโยชน์ของผึ้งต่อระบบนิเวศ และสร้างให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ผลักดันให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
.
พัฒนาต่อยอด สร้างงานหัตถศิลป์ ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน
.
ชุมชนได้มีการนำลักษณะเฉพาะของผึ้งหยาดอำพันภูจอง และ ผึ้งบุษราคัมภูจอง ไปสร้างงานศิลปะส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ผ้าทอมือ เครื่องจักสาน เสื่อกก ตามความถนัดของชุมชน นับเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ BCG model อีกทางหนึ่ง
.
ประกอบกับช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้มีแรงงานย้ายถิ่นออกจากกรุงเทพฯ รวมถึงคนรุ่นใหม่ หรือบัณฑิตจบใหม่ที่มีความรู้และทักษะทางเทคโนโลยีย้ายคืนสู่ถิ่นฐานภูมิลำเนาของตน ในหมู่บ้านใกล้กับอุทยานฯ ทำให้มีโอกาสในการสร้างงานสร้างอาชีพในถิ่นฐานของตนอีกครั้ง ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างอาชีพและเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชน
.
ทั้งนี้ ทีมวิจัยยังได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารระดับนานาชาติ Zookeys และถูกรวบรวมไว้ในฐานข้อมูลของผึ้งในประเทศไทยที่ สวทช. ได้สนับสนุนให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว สามารถอ่านงานวิจัยได้ที่ https://kku.world/xw4vh
.
.
อ้างอิง:
https://kku.world/bxef9
https://kku.world/gv566
https://kku.world/0dbtx
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ผึ้ง #Ecotourism #การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ