ฮู้บ่ว่า? บริษัทมหาชนของไทยที่มีรายได้รวมและกำไรสูงสุดยังคงเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม ไม่ว่าจะเป็น ปตท. ไทยออยล์ หรือบางจาก เป็นต้น ส่วนต่อมาเป็นของกลุ่ม ธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น ที่สามารถสร้างรายได้และทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลการส่งงบการเงินปี 2567 พบว่า ประเทศไทยมีบริษัทจำกัด (มหาชน) ที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่มากกว่า 1,200 แห่ง กระจายตัวอยู่ในหลายภูมิภาคทั่วประเทศ โดยในภาคอีสาน มีบริษัทจำกัด (มหาชน) อยู่ประมาณ 15 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจในภาคการผลิต ซึ่งอาจจะมีจำนวนบริษัทที่ไม่มากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นก็ตามแต่ก็ยังคงถือว่าเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีสานให้ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การแปรสภาพมาเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) มักมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือ และเพิ่มศักยภาพในการระดมทุนจากประชาชนทั่วไปหรือนักลงทุนสถาบัน ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินงานและขยายธุรกิจตามแผนที่วางไว้
ภายใต้ข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น บริษัทมหาชนจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่เข้มงวด ทั้งด้านการเปิดเผยข้อมูล การส่งงบการเงิน และการกำกับดูแลกิจการอย่างโปร่งใส ซึ่งกลไกเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนและสาธารณชนในระยะยาว
ตารางที่ 1 รายชื่อธุรกิจที่มีการจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในภาคอีสานปี 2567
ชื่อบริษัท | ชื่อหุ้น | รายได้รวม ปี 2567 (ล้านบาท) | รายได้รวม %YoY | กำไร ปี 2567 (ล้านบาท) | กำไร %YoY | ราคาหุ้น ณ วันที่ 9 ก.ค. 68 (บาท) | จังหวัด | กิจกรรม |
บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) | GLOBAL | 32,484 | -0.13 | 2,115 | -16.42 | 5.1 | ร้อยเอ็ด | ขายส่งวัสดุก่อสร้าง |
บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) | NER | 27,496 | 9.69 | 1,652 | 6.91 | 4.08 | บุรีรัมย์ | ผลิตยางแผ่นและยางแท่ง |
บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) | UBE | 3,285 | 5.77 | 675 | 29.2 | 0.5 | อุบลราชธานี | ผลิตเคมีภัณฑ์ |
บริษัท พี.ซี.เอส. แมชีน กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) | PCSGH | 4,008 | -19.34 | 132 | 63.31 | 3.1 | นครราชสีมา | ผลิตเครื่องยนต์รถ |
บริษัท พรีเมียร์ควอลิตี้สตาร์ช จำกัด (มหาชน) | PQS | 1,610 | 23.86 | 241 | 77.5 | 2.28 | มุกดาหาร | ผลิตแป้งมันสำปะหลัง |
บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) | CHAO | 1,556 | 22.55 | 290 | 119.79 | 5 | นครราชสีมา | ผลิตไส้กรอกลูกชิ้นจากเนื้อสัตว์ |
บริษัท โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จำกัด (มหาชน) | RPH | 1,150 | -2.37 | 173 | -6.4 | 5 | ขอนแก่น | โรงพยาบาล |
บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) | BRR | 1,025 | 1.33 | 520 | -8.29 | 4.08 | บุรีรัมย์ | บริษัทโฮลดิ้ง |
บริษัท วัฒนาการแพทย์ จำกัด (มหาชน) | NEW | 473 | -1.96 | 44 | -22.27 | อุดรธานี | โรงพยาบาล | |
บริษัท เค.ซี.เมททอลชีท จำกัด (มหาชน) | KCM | 265 | 1.31 | -825 | -103.8 | 0.14 | ขอนแก่น | สร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย |
บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) | CHO | 229 | -35.73 | 72 | -49.08 | 0.06 | ขอนแก่น | ผลิตรถพ่วงและรถกึ่งรถพ่วง |
บริษัท สยาม โซล่าร์ เจนเนอเรชั่น จำกัด (มหาชน) | 333 | -36.14 | -18 | -44.18 | ชัยภูมิ | ผลิตและส่งไฟฟ้า | ||
บริษัท ชูวิทย์ฟาร์ม (2019) จำกัด (มหาชน) | CFARM | 226 | -6.08 | 10 | -66.73 | 0.92 | บุรีรัมย์ | เลี้ยงไก่เนื้อ |
บริษัท ดีเฮ้าส์พัฒนา จำกัด (มหาชน) | DHOUSE | 48 | 207.13 | 26 | 120.94 | 0.52 | มหาสารคาม | ซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์ |
บริษัท ดีมาก ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) | 100 | -13.99 | 4 | 9.33 | ร้อยเอ็ด | ซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์ |
ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
หมายเหตุ: ข้อมูลบริษัทจำกัด (มหาชน) ที่นำเสนอ อ้างอิงจากบริษัทที่มีการยื่นงบการเงินประจำปี 2567 เท่านั้น
ในภาคอีสานมีบริษัทจำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ประมาณ 15 แห่ง โดยสามารถสร้างรายได้รวมกันได้ราว 74,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 4% ของรายได้รวมทั้งหมดจากบริษัททุกประเภทในภูมิภาคนี้ แม้จำนวนจะไม่มากนักเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น แต่บริษัทมหาชนเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของภาคอีสานอย่างชัดเจน
บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ยังคงเป็นบริษัทมหาชนรายใหญ่ที่สุดของอีสาน และเป็นผู้ทำรายได้สูงสุดมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยธุรกิจหลักในการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและของตกแต่งบ้าน ซึ่งเป็นสินค้าที่จำเป็นในทุกภูมิภาคและทุกครัวเรือน บริษัทสามารถขยายสาขาได้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงเริ่มขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศอีกด้วย ส่งผลให้มีฐานลูกค้ากว้างและสร้างรายได้จำนวนมาก
รองลงมาคือ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและแปรรูปยางพารารายใหญ่ของภาคอีสาน ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศและมีบทบาททั้งในตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก ความต้องการใช้ยางในอุตสาหกรรมต่างๆ จึงทำให้บริษัทสามารถสร้างรายได้ในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง
อันดับที่สามคือ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ของประเทศจากวัตถุดิบมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคอีสาน การแปรรูปมันสำปะหลังเป็นเอทานอลไม่เพียงช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร แต่ยังมีส่วนช่วยลดการพึ่งพาพลังงานนำเข้า เพิ่มความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและแรงงานในท้องถิ่น โดยเอทานอลจากบริษัทถูกนำไปใช้ในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เช่น E10, E20 และ E85 รวมถึงในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เครื่องสำอาง แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ และผลิตภัณฑ์ชีวภาพ
ท้ายที่สุด การที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจะตัดสินใจแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และแนวทางการพัฒนาองค์กรในระยะยาว หากผู้บริหารมองว่าบริษัทสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องโดยอาศัยกำไรสะสม หรือแหล่งเงินทุนจากธนาคารเพียงพอ การแปรสภาพก็อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็น
อย่างไรก็ตาม หากการขยายธุรกิจต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก และผู้บริหารพิจารณาแล้วว่าการระดมทุนจากประชาชนหรือนักลงทุนสถาบันผ่านการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะ (IPO) เป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่าการกู้ยืมในระยะยาว การแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนก็อาจเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสม
ทั้งนี้ การตัดสินใจดังกล่าวต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่ได้รับ เช่น ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่ และการยกระดับความน่าเชื่อถือขององค์กร กับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น ความโปร่งใสในการดำเนินงาน การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ และข้อกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริหารต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
อ้างอิง
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย