ใครใหญ่สุดในขอนแก่น? ส่อง 10 บริษัทกำไรมหาศาลในขอนแก่น

ชื่อบริษัท วัตถุประสงค์ กำไร (ล้านบาท) %YoY รายได้ (ล้านบาท) %YoY
บริษัท มอนเดลีซ (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตและส่งออกหัวเชื้อผสมเครื่องดื่ม 380 -46.2 2,588 -10.6
บริษัท อินฟุส เมดิคัล จำกัด ผลิตเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ 355 11.0 1,143 6.2
บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น จำกัด โรงพยาบาล 177 3.4 1,256 10.1
บริษัท ซีนเมล็ดพันธุ์ จำกัด จัดการเมล็ดพันธุ์สำหรับการขยายพันธุ์ 174 0.0 763 8.5
บริษัท โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จำกัด (มหาชน) โรงพยาบาล 173 -6.4 1,150 -2.4
บริษัท ขอนแก่นกรีนพาวเวอร์ จำกัด การผลิตไฟฟ้า 110 19.3 479 -1.9
บริษัท โรงพยาบาลขอนแก่น ราม จำกัด โรงพยาบาล 106 -48.2 853 -11.5
บริษัท โค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด จำหน่ายรถยนต์ใหม่ 104 -14.9 3,403 -36.2
บริษัท ไทยไปป์อีสาน จำกัด ผลิตและจำหน่ายท่อพีวีซี 87 11.6 665 42.8
บริษัท แกรนด์ อินเตอร์ ฟูดส์ จำกัด ผลิตอาหารปรุงสำเร็จ 81 26.4 608 12.4

 

หมวดธุรกิจที่มีกำไรสูงในภาคอีสาน

  • การผลิตลูกกวาดและขนมจากน้ำตาล
  • โรงพยาบาลเอกชน
  • การขายรถยนต์ใหม่
  • การผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์
  • การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า

เมื่อพูดถึงภาคอีสานจังหวัดแรกๆ ที่ผู้คนมักจะถูกนึกถึงก็คือ ขอนแก่น ไม่เพียงเพราะตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของภูมิภาคในเชิงภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ขอนแก่นยังมีบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์กลางของหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การศึกษา การแพทย์ การคมนาคมขนส่ง รวมถึงการเป็นศูนย์ราชการระดับภูมิภาค

บทบาทเหล่านี้ส่งผลให้ขอนแก่นกลายเป็นจังหวัดที่มีความเคลื่อนไหวของผู้คนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากประชากรในพื้นที่ นักศึกษา แรงงาน และนักลงทุนจากภายนอกที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย การสัญจรที่คล่องตัว และการเชื่อมโยงกับเมืองอื่นๆ ทั้งทางถนน ราง และอากาศ ที่ยิ่งตอกย้ำสถานะของขอนแก่นในฐานะเมืองศูนย์กลางของอีสาน

ข้อมูลในปี 2566 ระบุว่า ขอนแก่นมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) อยู่ที่ 225,107 ล้านบาท โดยภาคบริการมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในโครงสร้างเศรษฐกิจของจังหวัด คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 56.5% ของ GPP หรือราว 127,259 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นเมืองแห่งบริการที่หลากหลาย ทั้งการแพทย์ การศึกษา การเงิน การท่องเที่ยว และภาคบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน ขณะที่ภาคการผลิตมีสัดส่วน 32.2% ของ GPP แสดงถึงการมีฐานอุตสาหกรรมและโรงงานที่รองรับแรงงานจำนวนมาก รวมถึงการผลิตเพื่อส่งออกและเชื่อมโยงกับซัพพลายเชนระดับประเทศ ส่วนภาคเกษตรกรรม แม้จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 11.3% แต่ก็ยังมีบทบาทสำคัญในด้านปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจในชนบท โดยเฉพาะการผลิตวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมอาหารและสินค้าเกษตรแปรรูป สามารถกล่าวได้ว่า ขอนแก่นไม่เพียงเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในเชิงกายภาพ แต่ยังเป็นหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนภาคอีสานในเชิงเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่องและมั่นคง

นอกจากขอนแก่นจะเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และการคมนาคมของภาคอีสานแล้ว ศักยภาพที่โดดเด่นในด้านธุรกิจสุขภาพและการแพทย์ก็โดดเด่นไม่แพ้ภูมิภาคอื่นเช่นกัน สะท้อนผ่านตัวเลขกำไรของธุรกิจในพื้นที่ โดยธุรกิจที่มีมูลค่ากำไรสูงสุด 10 อันดับแรกในจังหวัดขอนแก่น พบว่า 4 ใน 10 บริษัทเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และโรงพยาบาล ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ที่น่าสนใจคือ กำไรของกลุ่มโรงพยาบาลจากขอนแก่นมีมูลค่ารวมประมาณ 570 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของกำไรธุรกิจโรงพยาบาลทั้งหมดในภาคอีสาน แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของขอนแก่นในฐานะแหล่งบริการทางการแพทย์ที่ทั้งสร้างรายได้และรองรับความต้องการของประชาชนในวงกว้าง โดยตัวเลขกำไรในส่วนนี้นั้นเป็นเพียงตัวเลขที่มาจากโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น ไม่ได้รวมโรงพยาบาลของรัฐหรือของมหาวิทยาลัย

ศักยภาพนี้ยังสะท้อนผ่านแผนการพัฒนาระดับมหภาค โดยจังหวัดขอนแก่นตั้งเป้าหมายเป็น Medical Hub ของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง เพื่อดึงดูดผู้ป่วยทั้งจากในประเทศและต่างประเทศให้เดินทางเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในผู้นำสำคัญที่ขับเคลื่อนเป้าหมายนี้คือ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้ลงทุนกว่า 4,300 ล้านบาทในการก่อสร้าง “ศูนย์การแพทย์ชั้นเลิศ” ที่จะทำให้โรงพยาบาลมีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยมากกว่า 5,000 เตียง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่อันดับต้นๆของโลก

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยซึ่งเคยเติบโตอย่างแข็งแกร่งมานานกว่าทศวรรษ กำลังเผชิญสัญญาณการชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งจากตลาดในประเทศที่เริ่มอิ่มตัว และตลาดผู้ป่วยต่างชาติที่แม้ยังเป็นความหวัง แต่ก็เติบโตในอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งปรับกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อสร้างโอกาสใหม่ และรักษาเสถียรภาพทางรายได้ในระยะยาว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยและศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ต่างเห็นพ้องว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนได้ผ่านจุดพีคของการเติบโตมาแล้ว โดยหลังจากขยายตัวเฉลี่ยถึง 11.6% ต่อปีในช่วงปี 2555–2565 ธุรกิจกลับเริ่มชะลอลง โดยในปี 2566 ผลประกอบการหดตัวลง 0.6% และปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวเพียง 4% ซึ่งมาจากการปรับขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาลเป็นหลัก มากกว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เข้ารับบริการ

สำหรับปี 2568 ttb analytics คาดการณ์ว่า รายได้รวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะเติบโตเพียง 3% หรืออยู่ที่ประมาณ 3.3 แสนล้านบาท ท่ามกลางแรงกดดันสำคัญจากภาวะอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มเข้าสู่จุดอิ่มตัว เนื่องจากข้อจำกัดด้านโครงสร้างประชากร โดยเฉพาะอัตราการเกิดที่ลดลง และการที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพเชิงป้องกันมากขึ้นเพื่อลดความจำเป็นในการเข้ารักษา ทำให้รูปแบบธุรกิจที่เน้นการ “รักษา” แบบเดิมเริ่มไม่ตอบโจทย์การเติบโตในอนาคต

รายได้จากผู้ป่วยต่างชาติยังถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่มีศักยภาพ แต่ก็ไม่พ้นกระแสการชะลอตัว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ในปี 2567 รายได้กลุ่มนี้จะอยู่ที่ประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพียง 8.0–10.0% เมื่อเทียบกับการฟื้นตัวที่ร้อนแรงในช่วงหลังโควิด-19 ปัจจัยกดดันสำคัญ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และความไม่แน่นอนในตลาดหลักอย่างจีน โดยตลาดผู้ป่วยต่างชาติสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่

  1. ผู้ป่วย Fly-in จากตะวันออกกลางและอาเซียน (กัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย) ซึ่งมีความต้องการเข้ารับการรักษาที่ซับซ้อนหรือเฉพาะทาง
  2. ผู้ป่วย EXPAT หรือชาวต่างชาติที่พำนักในไทย ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวในเขตเศรษฐกิจที่มีชาวต่างชาติและแรงงานต่างชาติจำนวนมาก เช่น ชลบุรี ระยอง และสมุทรปราการ

อย่างไรก็ดี การกลับมาของตลาดจีนยังต้องติดตามความเชื่อมั่นในการเดินทางและสภาพเศรษฐกิจจีนอย่างใกล้ชิด ขณะที่การแข่งขันจากประเทศในภูมิภาค เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์ ที่มีบทบาทเป็น Medical Hub ก็กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น

เมื่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เน้น “การตั้งรับรักษา” ไม่สามารถขับเคลื่อนการเติบโตได้อีกต่อไป ttb analytics เสนอให้โรงพยาบาลเอกชนปรับสู่กลยุทธ์เชิงรุก (Proactive Strategy) ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 3 แนวทางหลัก ได้แก่

1. เจาะตลาดบริการเฉพาะทาง (Specialized Medical Treatments)

เพื่อสร้าง “อุปสงค์ที่คาดเดาได้” (Predictable Demand) โดยเฉพาะกลุ่มบริการที่ตอบโจทย์สังคมสูงวัย เช่น โรคหัวใจ ไต กระดูกและข้อ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตลาดนี้สร้างรายได้รวมกว่า 9 หมื่นล้านบาทในปี 2566 และคาดว่าจะยังเติบโตในปี 2567

ด้านบริการเสริมความงามและเวชศาสตร์ชะลอวัยก็มีแนวโน้มดี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชายซึ่งมีอัตราการขยายตัวถึง 65% ในปี 2566 สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์และสุขภาพมากขึ้น

2. รุกตลาดเวชศาสตร์เชิงป้องกันและสุขภาพองค์รวม (Wellness & Preventive Care)

บริการในกลุ่มนี้สามารถสร้างอุปสงค์ใหม่ได้เองผ่านการทำตลาด และสามารถสร้างรายได้ในรูปแบบ “รายได้ประจำ” (Recurring Income) ที่มั่นคงในระยะยาว อีกทั้งยังตอบรับกับเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่เน้นป้องกันมากกว่าการรักษา

3. ขยายบริการสู่ตลาดภูมิภาค

ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเริ่มเผชิญจุดอิ่มตัว รายได้ในปี 2566 หดตัวลง 1% ตลาดภูมิภาคกลับเติบโต 4.7% โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวหรือหัวเมืองใหญ่ที่รายได้ประชากรเพิ่มขึ้น เช่น ภูเก็ต (+23.3%), ระยอง (+10.2%), นครราชสีมา (+9.8%) และเชียงใหม่ (+9.1%) ซึ่งยังมีช่องว่างในการรองรับอุปสงค์จากทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ

นอกเหนือจากการแข่งขันและข้อจำกัดเชิงโครงสร้างแล้ว ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยังต้องเผชิญความท้าทายใหม่จาก นโยบาย Co-payment ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 โดยเปลี่ยนรูปแบบการเคลมประกันให้ผู้เอาประกันต้องร่วมจ่ายค่ารักษา อาจส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจเข้ารับการรักษาที่ไม่จำเป็น และกระทบต่อรายได้ของโรงพยาบาลที่พึ่งพารายได้จากประกันและผู้ป่วยในเป็นหลัก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 50–55% ของรายได้รวม

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยกำลังเข้าสู่ “ยุคแห่งความท้าทาย” ที่ไม่สามารถพึ่งพาโมเมนตัมจากอดีตได้อีกต่อไป การเติบโตในอนาคตจะไม่สามารถเกิดขึ้นจาก “จำนวนคนไข้” ที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัย การปรับกลยุทธ์เชิงรุก ทั้งการเจาะตลาดต่างชาติ การขยายบริการเฉพาะทาง และการขยายพื้นที่สู่ตลาดภูมิภาค ควบคู่กับการบริหารต้นทุนและเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายอย่าง Co-payment เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

อ้างอิง

  • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
  • ศูนย์วิจัยทีทีบี
  • MGROnline

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top