ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารพัฒนาอย่างรวดเร็ว วิถีการทำงานของผู้คนทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ หนึ่งในเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ คือการทำงานในรูปแบบ “Digital Nomads” หรือ “นักเดินทางดิจิทัล” โดยเพื่อความง่ายในการเข้าใจ บทความนี้จะใช้คำแปลว่า ”นักทำงานออนไลน์” ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่ใช้เทคโนโลยีในการทำงานจากระยะไกล โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับสถานที่ทำงานแบบดั้งเดิม
และจากสถานการณ์โรคระบาด Covid-19 ก็ได้ส่งผลให้จำนวนนักทำงานออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2567 มีกลุ่มคนอเมริกันที่นิยามตัวเองว่าเป็นนักทำงานออนไลน์เพิ่มขึ้นจากปี 2562 กว่า 147% (MBO partners, 2024) ซึ่งพวกเขาสามารถทำงานจากที่ใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นคาเฟ่ในเมืองใหญ่ ชายหาดในต่างประเทศ หรือพื้นที่ชนบทที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งเหล่านักทำงานออนไลน์เหล่านี้ก็ได้กระจายตัวอยู่ทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายยอดนิยมของกลุ่มคนเหล่านี้
จากการสำรวจของ Flatino (2023) พบว่านักทำงานออนไลน์ มีลักษณะโดยทั่วไปดังนี้
- ลักษณะประชากรศาสตร์: นักทำงานออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย อายุระหว่าง 30 ถึง 39 ปี หรือกลุ่ม Gen Y และมาจากหลากหลายประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตกผิวขาวหรือก็คือฝรั่งนั่นเอง กว่า 40% มาจากสหรัฐอเมริกา รองลงมาเป็นประเทศต่างๆ ในยุโรป
- การทำงานและรายได้: 32% ของนักทำงานออนไลน์มีงานประจำ และ 35% ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ อุตสาหกรรมหลักที่นักทำงานออนไลน์ทำงานอยู่ ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีทั่วไป สื่อ การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการตลาด โดยนักทำงานออนไลน์ประมาณ 40% มีรายได้ 1.5 – 2.6 ล้านบาท/ปี และ 20% มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท/ปี
- วิถีชีวิตและการอยู่อาศัย: ชาวนักทำงานออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนหัวก้าวหน้า โดย 43% ชอบที่จะเดินทางคนเดียว และ 24% มีเพื่อนหรือคู่หูร่วมเดินทางด้วย โดยในการอยู่อาศัยต่างถิ่นจะอยู่ช่วงสั้นๆ แล้วแต่ความต้องการ โดยประมาณ 55% จะอยู่ที่ใดที่หนึ่งไม่เกิน 4 เดือน ซึ่งการหาที่พักเป็นสิ่งที่เหล่านักเดินทางออนไลน์กังวลใจที่สุด โดยนอกจากการทำงานแล้ว พวกเขาก็ชอบที่จะมีกิจกรรมที่หลากหลายทำ เช่น เล่นกีฬา หรือ ปาร์ตี้ เป็นต้น
ตามที่เกริ่นไปว่าประเทศไทย โดยเฉพาะ กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เป็นเมืองยอดนิยมอันดับต้นๆ สำหรับพวกเขา เนื่องจากค่าครองชีพที่ถูก มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุม มีสถานที่ท่องเที่ยวและหลากวัฒนธรรมน่าดึงดูด นอกจากนั้นสังคมไทยยังค่านิยมที่ฝังรากลึกอย่าง “White privilege” หรือเอกสิทธ์คนขาว ที่คนมักจะปฏิบัติต่อฝรั่งผิวขาวในทางที่ดีกว่า ส่งผลให้ชาวตะวันตกสามารถใช้ชีวิตในเมืองไทยได้ค่อนข้างสะดวกสบาย และทางรัฐบาลไทยก็ได้ส่งเสริมกลุ่มนักทำงานออนไลน์เช่นกัน ผ่านการให้วีซ่า DTV (Destination Thailand Visa) เพื่อให้ชาวต่างชาติที่ทำงานระยะไกลสามารถพำนักและทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย
นักทำงานออนไลน์ เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง มีแนวโน้มใช้จ่ายในท้องถิ่น ส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ที่พัก คาเฟ่ Co-working space ร้านอาหาร และบริการด้านดิจิทัลในพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ชั่วคราว ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นได้อย่างมาก จึงได้เกิดคำถามว่า จะเป็นไปได้มากแค่ไหนที่จังหวัดในอีสานอย่างขอนแก่น จะกลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายของเหล่านักทำงานออนไลน์? เพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจ การปรับตัวสู่ดิจิทัลของธุรกิจ และ Soft Power ในจังหวัด
ถ้าขอนแก่นจะส่งเสริม Digital nomads ได้ไหม
การประเมินโอกาสที่ขอนแก่นจะก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในจุดหมายของนักทำงานออนไลน์ (Digital Nomads) ไม่ได้อยู่ที่การเปรียบเทียบกับเมืองหลักอย่างกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่โดยตรง หากแต่อยู่ที่การพิจารณาศักยภาพของขอนแก่นในการดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาพำนักและทำงานจากระยะไกล โดยใช้ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและธุรกิจเป็นฐานในการวิเคราะห์ ทั้งนี้ การศึกษาจะนำกรณีของเชียงใหม่มาประยุกต์ให้สอดคล้องกับบริบทของขอนแก่น เพื่อชี้ให้เห็นช่องว่างที่ยังต้องพัฒนา พร้อมทั้งเสนอแนวนโยบายที่เอื้อต่อการผลักดันให้ขอนแก่นกลายเป็น “ศูนย์กลางของนักทำงานออนไลน์แห่งภาคอีสาน”
เบื้องต้น จากแผนพัฒนาจังหวัดขอนแก่น พ.ศ. 2566 – 2570 พบว่ามีประเด็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับแนวทางการรองรับกลุ่มนักทำงานออนไลน์ (Digital Nomads) ได้แก่
จังหวัดมีเป้าหมายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่เชื่อมโยงกับภูมิภาค อาทิ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การจัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม และการเป็นหนึ่งในเมืองศูนย์กลางการประชุมและนิทรรศการ (MICE City) ของประเทศ ซึ่งสามารถต่อยอดเป็นปัจจัยดึงดูดกลุ่มผู้ทำงานระยะไกลที่ต้องการทั้งการทำงานและคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กันไป นอกจากนี้ ขอนแก่นยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนสู่การเป็น “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City) ซึ่งสอดคล้องกับวิถีการทำงานของนักทำงานออนไลน์ ที่ต้องการความสะดวกสบายด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ระบบสื่อสารที่เสถียร และบริการออนไลน์ที่เข้าถึงง่าย
จากทิศทางการพัฒนานี้ สะท้อนให้เห็นว่าขอนแก่นสามารถเปิดรับการผลักดันจุดหมายของกลุ่มนักทำงานออนไลน์ในระดับภูมิภาคได้ โดยสอดรับกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดในการเป็นเมืองทันสมัย น่าอยู่อาศัย และมีความสามารถในการแข่งขัน
การวิเคราะห์ศักยภาพ
ในการวิเคราะห์ศักยภาพในบทความนี้ จะมองจาก 4 ปัจจัยหลัก ที่เป็นปัจจัยในการเลือกจุดหมายของนักทำงานออนไลน์ ได้แก่
- ค่าครองชีพและที่พัก
การใช้ชีวิตของนักทำงานออนไลน์จำเป็นต้องหาพื้นที่ที่มีค่าครองชีพไม่แพง จากการที่นักทำงานออนไลน์กว่า 40% มีรายได้ 1.5 – 2.6 ล้านบาท/ปี ซึ่งถือว่าสูงมากหากบริบทของประเทศไทย ที่มีค่าครองชีพประมาณ 22,282 บาท/เดือน เหล่านักเดินทางออนไลน์สามารถใช้ชีวิตอย่างสบายในไทย รวมไปถึงในจังหวัดขอนแก่น ที่อีสานนั้นมีค่าครองชีพต่อเดือนถูกกว่ากรุงเทพฯ ประมาณ 1.7 เท่า
ด้านที่พักอาศัย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเลือกจุดหมายของนักทำงานออนไลน์ (Digital Nomads) โดยที่พักเหล่านี้ไม่เพียงทำหน้าที่เป็นที่อยู่อาศัย แต่ยังต้องเอื้อต่อการทำงาน พักผ่อน และการเชื่อมโยงกับชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากลักษณะการพำนักของกลุ่มนี้มักไม่เกิน 1 ปี พวกเขาจึงมองหาที่พักแบบรายเดือน เช่น คอนโดมิเนียมและอพาร์ตเมนต์เป็นหลัก
ขอนแก่นถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2568 มีนิติบุคคลที่จดทะเบียนในหมวดกิจกรรม ‘การซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่เพื่ออยู่อาศัย’ (TSIC 68102) มากกว่า 170 แห่ง และหมวดอื่นๆ มีจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง และมีหลายระดับให้เลือก หลายแห่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และราคาค่าเช่าถูกกว่ากรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีที่พักแบบให้เช่าโดยเจ้าของหลากหลายรูปแบบ ซึ่งสามารถรองรับความต้องการของนักทำงานออนไลน์ชาวต่างชาติได้อย่างเพียงพอ
- ความครอบคลุมและความเร็วอินเทอร์เน็ต
อินเทอร์เน็ต เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการทำงานในระยะไกล ซึ่งความเร็วของอินเทอร์เน็ตในพื้นที่นั้นเป็น 1 ในปัจจัยที่เหล่านักทำงานออนไลน์เลือกที่จะปักหลักอยู่ โดยเมื่อมาดูความครอบคลุมของสัญญาณอินเทอร์เน็ตจาก nPerf.com ในบริเวณจังหวัดขอนแก่น จะพบว่าสัญญาณระดับ 5G นั้นครอบคลุมทั่วจังหวัด ซึ่งจะกระจุกตัวบริเวณตัวเมืองขอนแก่นเป็นส่วนใหญ่ บ่งชี้ว่าพื้นที่ศักยภาพที่สามารถส่งเสริมได้ดีที่สุดจะเป็นบริเวณตัวเมือง
- บริการที่ตอบโจทย์นักทำงานออนไลน์
พื้นที่สำหรับนั่งทำงาน: ออฟฟิศของเหล่านักทำงานออนไลน์นั้นต้องเป็นพื้นที่ที่สามารถนั่งทำงานได้ยาวๆ มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างไฟฟ้า และสัญญาณอินเทอร์เน็ตรี ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ Co-Working space, คาเฟ่ หรือห้องสมุด เช่น
ประเภทธุรกิจ 56302 – การบริการด้านเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เป็นหลักในร้าน: 52 รายประเภทธุรกิจ 56101 – การบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร: 288 ราย
ซึ่งบริเวณตัวเมืองขอนแก่นนั้น มีคาเฟ่ในลักษณะนี้จำนวนหนึ่ง ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานในระดับหนึ่ง แต่หากในอนาคตมีการส่งเสริมการรองรับนักทำงานออนไลน์ต่างชาติ ก็อาจจะเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนบริเวณขอนแก่นนี้ นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักทำงานออนไลน์ได้เป็นอย่างดี อาทิ บริการเช่ารถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นรูปแบบการเดินทางที่สะดวกและยืดหยุ่น รวมถึงบริการด้านสุขภาพ ยา และการแพทย์ ซึ่งขอนแก่นมีศักยภาพและความพร้อมในด้านนี้อย่างชัดเจน
- แหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรม
นักทำงานออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Gen Y) ที่ให้ความสำคัญกับรูปแบบการใช้ชีวิตที่ยืดหยุ่น และมองหาความสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อน ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดให้พวกเขาเลือกพำนักในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง คือแหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมนันทนาการ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ ซึ่งเชียงใหม่ สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้อย่างดี เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่ทำให้มีกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ เช่น วิ่งเทรล ขี่จักรยานรอบเมือง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ขอนแก่นยังมีจุดอ่อนในด้านนี้ หากต้องการรองรับทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักทำงานออนไลน์ จำเป็นต้องมีคำตอบที่ชัดเจนว่า “ทำไมต้องขอนแก่น?” เมืองนี้มีจุดเด่นอะไร และมีกิจกรรมใดบ้างที่สามารถเติมเต็มประสบการณ์การใช้ชีวิตของพวกเขาได้
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย: ถ้าขอนแก่นจะเป็น “ศูนย์กลางของนักทำงานออนไลน์แห่งภาคอีสาน” ต้องพัฒนาสิ่งเหล่านี้
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ครอบคลุม
- ขยายเครือข่าย อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ให้ครอบคลุมพื้นที่ในเมืองและรอบเมือง
- ส่งเสริม Smart Wi-Fi Zone ในพื้นที่ท่องเที่ยว ตลาด คาเฟ่ หรือสวนสาธารณะ
- สนับสนุนการจัดตั้ง Co-working Space หรือ Hub ที่มีเทคโนโลยีพร้อมสำหรับการทำงานร่วมกัน
- สร้างสรรค์แหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมนันทนาการ
- พัฒนา พื้นที่สีเขียว/ย่านน่าอยู่ สำหรับการเดินเล่น ออกกำลังกาย และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
- สร้างกิจกรรม แหล่งท่องเที่ยวที่ ‘ชัดเจน’ ตรงตามความต้องการของนักท่องเที่ยว
- ผสานการท่องเที่ยวตามเทรนด์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจ เข้ากับวัฒนธรรมอีสาน
- ยกระดับบริการด้านวีซ่าและกฎหมายที่เป็นมิตร
- ประสานกับหน่วยงานระดับชาติเพื่อผลักดัน “Digital Nomad Visa” หรือวีซ่าระยะยาวที่เอื้อต่อการอยู่และทำงานในไทยอย่างถูกกฎหมาย
- จัดตั้ง One-stop Service สำหรับให้คำปรึกษาด้านวีซ่า การขอใบอนุญาตทำงาน และการเริ่มต้นธุรกิจย่อย
- สนับสนุนการจัดกิจกรรมให้ความรู้ทางกฎหมายแก่นักทำงานออนไลน์ และผู้ให้บริการท้องถิ่น
- สร้างระบบนิเวศทางสังคมที่เชื่อมโยงระหว่างนักทำงานออนไลน์กับท้องถิ่น
- ส่งเสริมกิจกรรม Networking / Tech Meetup / Startup Talk อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างการเชื่อมโยงกับชุมชนผู้ประกอบการและนักเรียน/นักศึกษา
- สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็น “Innovation Partner” ร่วมจัดหลักสูตรสั้น กิจกรรมแลกเปลี่ยน หรือบ่มเพาะความร่วมมือด้านเทคโนโลยี
- พัฒนา แพลตฟอร์มออนไลน์ระดับท้องถิ่น สำหรับอัปเดตข่าวสาร บริการ และการเชื่อมโยงกลุ่มนักทำงานออนไลน์กับผู้ให้บริการในขอนแก่น
- ประชาสัมพันธ์และสร้างแบรนด์ “ขอนแก่น เมืองของนักทำงานยุคใหม่”
- จัดทำ แคมเปญการตลาด ที่ชูจุดแข็งของขอนแก่น เช่น ทันสมัย ค่าครองชีพต่ำ การเดินทางสะดวก ความเป็นมิตรของคนในพื้นที่
- ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางที่นักทำงานออนไลน์ นิยม เช่น Nomad List, Remote OK, Expat Communities
- จัดงาน เทศกาลหรืออีเวนต์ดิจิทัลระดับภูมิภาค เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างแบรนด์ให้ขอนแก่นเป็นเมือง “Digital Nomads Friendly”
หากขอนแก่นสามารถเป็นหนึ่งในเมืองที่เหล่านักทำงานออนไลน์ ต้องมาเยือนให้ได้ จะก่อให้เกิดรายได้เพิ่มจากที่พัก ร้านอาหาร พื้นที่ทำงานร่วม บริการด้านไลฟ์สไตล์และสุขภาพ ซึ่งกระจายสู่ผู้ประกอบการรายย่อยและชุมชนในพื้นที่ นอกจากนั้น ขอนแก่นจะถูกเชื่อมเข้ากับชุมชนดิจิทัลระดับนานาชาติ สร้างการรับรู้ใหม่ในฐานะ “เมืองแห่งความคิดสร้างสรรค์แห่งแดนอีสาน” ที่ดึงดูดคนทำงานยุคใหม่จากทั่วโลก