พาย้อนเบิ่ง ในช่วง 14 ปีที่ผ่าน “แรงงานต่างด้าว” ในอีสานเปลี่ยนไปมากแค่ไหน

ในปี 2567 ภาคอีสานมีจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานกว่า 75,193 คน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 2.2% จากจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั้งหมดในประเทศ หากนำข้อมูลไปเปรียบเทียบจำนวนแรงงานต่างด้าวเมื่อ 14 ที่ผ่านมามีจำนวนการเพิ่มขึ้นมากว่า 31,588 คน หรือเพิ่มขึ้นมากถึง 72%

 

ข้อมูลจำนวนแรงงานต่างด้าวในภาคอีสานตลอด 14 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าในช่วงปี 2554 – 2559 ตัวเลขค่อนข้างทรงตัว บางปีมีแนวโน้มลดลง ตัวเลขนี่อาจสะท้อนถึงโครงสร้างเศรษฐกิจในขณะนั้น ที่ยังพึ่งพาแรงงานภายในประเทศเป็นหลัก แต่แล้วในช่วงปี 2560 เป็นต้นมา มีการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมาเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2562 ก่อนที่จะชะลอตัวลงเล็กน้อยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และกลับมาเติบโตอีกครั้งในปี 2567 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้แสดงถึงปัจจัยภายนอกและภายในประเทศที่ส่งผลต่อความต้องการแรงงานต่างด้าวอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมบางประเภท การขาดแคลนแรงงานในบางสาขา หรือแม้แต่นโยบายการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไป

 

หากดูเป็นรายจังหวัดจะเห็นได้ว่า แรงงานต่างด้าวในจังหวัดนครราชสีมาที่มีจำนวนสูงถึง 29,709 คนในปี 2567 และมีการเติบโตถึง 92% เมื่อเทียบกับปี 2554 ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของนครราชสีมาในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการค้าของภาคอีสาน ความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นในภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โครงการก่อสร้าง หรือภาคบริการ จึงดึงดูดแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านให้เข้ามาแสวงหาโอกาส 

 

ในขณะเดียวกัน จังหวัดที่มีอัตราการเติบโตของแรงงานต่างด้าวสูงอย่างน่าตกใจ อย่างเช่น ชัยภูมิ (161%), บึงกาฬ (168%), มหาสารคาม (105%), และอำนาจเจริญ (421%) แสดงให้เป็นถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจในพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งอาจมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือการเติบโตของภาคการเกษตรที่ต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นนั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของแรงงานต่างด้าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายมิติด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านบวก คือ แรงงานต่างด้าวสามารถช่วยเติมเต็มตำแหน่งงานที่ขาดแคลน โดยเฉพาะงานที่คนไทยอาจไม่นิยมทำ หรือมีทักษะไม่เพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานในบางภาคส่วน ทำให้สินค้าและบริการมีราคาที่แข่งขันได้มากขึ้น

 

แต่หากในระยะยาว อาจเกิดผลกระทบต่อตลาดแรงงานในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือหรือกึ่งฝีมือ อาจมีการแข่งขันที่สูงขึ้น และอาจนำไปสู่ปัญหาการกดค่าแรง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการใช้ทรัพยากรของประเทศ และภาระด้านสวัสดิการสังคม

 

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้ ก็สามารถเกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่น่าสนใจได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจจัดหาและบริหารจัดการแรงงาน บริษัทที่ให้บริการจัดหาแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย การฝึกอบรมภาษาและวัฒนธรรม การจัดการด้านเอกสารและวีซ่า จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจที่พักอาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวก ความต้องการที่พักอาศัยราคาที่ไม่สูง และสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานสำหรับแรงงานต่างด้าวจะเพิ่มขึ้น รวมถึงธุรกิจอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าและธุรกิจที่จำหน่ายสินค้าและอาหารที่ตอบสนองความต้องการของแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะ จะมีโอกาสเติบโตอีกด้วย

 

 

อ้างอิงจาก:

– กรมการจัดหางาน สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว

 

ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่

https://linktr.ee/isan.insight

 

#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์ #Business #Economy #ธุรกิจ #เศรษฐกิจ #ธุรกิจอีสาน #เศรษฐกิจอีสาน #แรงงานต่างด้าว #ต่างด้าว

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top