พามาเบิ่ง อีสานมีแรงงานนอกระบบมากที่สุด แม้เกษียณก็ยังต้องทำงาน?
แรงงานในภาคอีสานทำอาชีพในกลุ่มไหน
ในระบบ | นอกระบบ | |
ภาคการเกษตร | 2.8% | 97.2% |
ภาคการค้า | 39.3% | 60.7% |
ภาคบริการ | 56.0% | 44.0% |
ภาคการผลิต | 59.0% | 41.0% |
ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานรวมประมาณ 40 ล้านคน แต่มีเพียง 19 ล้านคนเท่านั้นที่เป็นแรงงานในระบบ ส่วนอีกกว่า 21 ล้านคนยังคงเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งหมายความว่าแรงงานในกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการทางสังคมเทียบเท่ากับแรงงานในระบบ เมื่อเจาะลึกไปยังภาคอีสานซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนแรงงานมากเป็นอันดับสองของประเทศ กลับพบว่าภาคที่มีแรงงานนอกระบบมากที่สุด คิดเป็น 7.4 ล้านคน หรือ 35.4% ของแรงงานนอกระบบทั้งประเทศ ขณะที่แรงงานในระบบในภาคอีสานมีเพียง 2.3 ล้านคน หรือ 12.0% ของแรงงานในระบบทั่วประเทศ ซึ่งนับว่าน้อยเกือบที่สุด เป็นรองเพียงภาคเหนือ
หากพิจารณาภายในภูมิภาคเอง จะพบว่า แรงงานกว่า 76.4% ในภาคอีสานเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างด้านแรงงานที่ฝังรากลึก และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน แรงงานนอกระบบในภาคอีสานกว่า 72.7% กระจุกตัวอยู่ในภาคเกษตรกรรม หากพิจารณาภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งมีแรงงานภาคเกษตรประมาณ 12.6 ล้านคน พบว่าแรงงานนอกระบบในอีสานมีจำนวนสูงถึง 5.4 ล้านคน หรือ คิดเป็น 42.6% ของแรงงานภาคเกษตรทั่วประเทศ
แม้ว่าภาคอีสานจะมีแรงงานภาคเกษตรมากที่สุดในประเทศ แต่กลับสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาคการเกษตรได้เพียง 21.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภูมิภาค (GRP) ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่สมดุลระหว่าง “ปริมาณแรงงาน” กับ “มูลค่าผลิตภัณฑ์” ที่เกิดขึ้น เนื่องจากการที่แรงงานจำนวนมากยังคงอยู่นอกระบบ สะท้อนถึงแนวโน้มที่ธุรกิจภาคเกษตในอีสานจำนวนไม่น้อยยังคงอยู่นอกระบบเศรษฐกิจเช่นกัน หากภาครัฐสามารถผลักดันให้ทั้งแรงงานและธุรกิจในกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบได้มากขึ้น ก็จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเพิ่มจำนวนแรงงานในระบบ และยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานได้
แนวโน้มแรงงานนอกระบบในช่วงวัยทอง (Silver/ Gold Age 50 ปีขึ้นไป) ที่ทำงานนอกระบบ จะกลายเป็นแรงงานสูงวัยนอกระบบ ผนวกกับแรงงานในระบบที่ต้องทำงานหลังเกษียณจากระบบ ยิ่งทำให้ตัวเลขนี้มีแต่จะเติบโตขึ้น ดังนั้น ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งแรงงานนอกระบบที่มีมากกว่าในระบบ สังคมสูงวัย จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งจะเกิดปัญหา “แก่ก่อนรวย” แรงงานในระบบไม่มีแผนเกษียณหรือการวางแผนทางการเงินซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในเชิงครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจตามมา จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด จึงต้องการการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งการขยายวัยเกษียณการทำงานในระบบสำหรับคนที่สมัครใจอยากทำงาน และมีศักยภาพ เพื่อไม่ให้ตัวเลขแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้น การสร้างงานและการนำเทคโนโลยีทดแทนแรงงาน
แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ในอีสานเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี และลดหลั่นลงมาตาช่วงอายุ ส่วนหนึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าแม้จะแก่แล้วก็ยังต้องทำงานอยู่ ยิ่งไปกว่านั้นคือ แม้แต่แรงงานในระบบเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณก็ยังต้องทำงานและไม่สามารถทำงานในระบบได้อีก จึงต้องมาทำงานนอกระบบมากขึ้น
แรงงานในระบบทั่วประเทศจะมีมากกว่า 19 ล้านคน แต่มีเพียง 14 ล้านคน เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงสวัสดิการสังคม
แม้ว่าแรงงานในระบบทั่วประเทศจะมีมากกว่า 19 ล้านคน แต่มีเพียง 14 ล้านคน เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงสวัสดิการสังคม เช่น ประกันสังคม หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ได้จริง สะท้อนให้เห็นว่า การเป็นแรงงานในระบบ ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับสวัสดิการสังคมโดยอัตโนมัติทุกคน ในขณะเดียวกัน แรงงานนอกระบบจำนวน 21 ล้านคน กลับมีผู้ที่เข้าร่วมสวัสดิการสังคมภาครัฐในรูปแบบต่างๆ แล้วประมาณ 15 ล้านคน ซึ่งแม้จะไม่ได้อยู่ในระบบก็ตามแต่ก็แสดงให้เห็นว่าแรงงานกลุ่มนี้ มีความตระหนักและความพยายามในการดูแลตนเองผ่านระบบสวัสดิการที่เข้าถึงได้ แม้อาจไม่ครอบคลุมหรือเทียบเท่ากับแรงงานในระบบก็ตาม
ที่มา:
- สำนักงานสถิติแห่งชาติ
- บทวิเคราะห์เศรษฐกิจอีสาน กุมภาพันธ์ 2568
พามาเบิ่ง อีสานมีแรงงานนอกระบบมากที่สุด แม้เกษียณก็ยังต้องทำงาน?