สินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกของอีสานผ่านรถไฟจีน-ลาว

เส้นทาง “รถไฟจีน-ลาว” ช่วยให้การขนส่งสินค้าข้ามแดนไทย-จีน ผ่านภาคอีสานทางบกมีบทบาทสำคัญมากขึ้น แม้เบื้องต้นไทยต้องเผชิญกับความท้าทายของ “สินค้านำเข้าจากจีนที่จะมีมากกว่าสินค้าส่งออกจากไทย” ซึ่งสินค้าจากจีนจะเข้ามาไทยผ่านทางรางเพิ่มขึ้น จากที่ไม่เคยขนส่งผ่านทางรางมาก่อน
.
แต่ในทางกลับกันไทยก็มีโอกาสขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดไปยังมณฑลยูนนาน (ปลายทางฝั่งจีน) รวมทั้งมณฑลใกล้เคียง จากเดิมที่สินค้าไทยส่วนใหญ่จะนิยมขนส่งไปทางจีนตะวันออกผ่านเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางถนน รวมถึงมณฑลกวางตุ้ง และอื่น ๆ ทางเรือ
.
สำหรับภาคอีสาน สินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกจะเป็นกลุ่มผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ รวมถึงเกษตรแปรรูป เนื่องจากมีความต้องการนำเข้าจากจีนมาก และอีสานก็มีจุดแข็งด้านการเป็นแหล่งผลิตสินค้าทางการเกษตรและปศุสัตว์ที่สำคัญของประเทศ โดยภาคอีสานจะมีกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกมากที่สุด ดังนี้
.
1. อาหารแปรรูป ได้แก่ ผลไม้แปรรูป เช่น สัปปะรดแปรรูป ซึ่งได้ประโยชน์เพิ่มเติมจากข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และอาหารแปรรูปพร้อมทาน (Ready to Eat) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ฮาลาล เนื่องจากคนจีนด้านตะวันตกเป็นชาวมุสลิมกว่า 22 ล้านคน จึงเป็นโอกาสในการเปิดตลาดใหม่ด้านนี้มากขึ้น
.
2. ปศุสัตว์แปรรูป เช่น เนื้อไก่แปรรูป และเนื้อโคขุน ซึ่งมีอัตราการเติบโตของตลาดเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลังในจีนสูงถึงกว่าร้อยละ 2,000 อย่างไรก็ดี ปัจจุบันอีสานยังไม่ได้ส่งออกเนื้อโคประเภทนี้มากนัก จึงเหมาะกับการพัฒนามาตรฐานการผลิตเพื่อคว้าโอกาสจากความต้องการนำเข้าของจีนที่มากขึ้น
.
3. สินค้าของที่ระลึก โดยพัฒนาต่อยอดกับสินค้า OTOP ที่มีอยู่เดิมให้มีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม ผ้าฝ้าย ของใช้ทำจากยางพารา สินค้าความงาม ประเภทสปา ครีมขัดผิวที่ทำจากสมุนไพร เนื่องจากชาวจีนนิยมใช้สินค้าที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติมากขึ้น
.
4. ผลไม้สด ได้แก่ ทุเรียนภูเขาไฟ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง แต่ปัจจุบันอีสานมีปริมาณผลไม้น้อย ซึ่งเป็นโอกาสให้เกษตรกรที่เดิมทีปลูกพืชไร่ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ที่มีความผันผวนด้านราคา ศึกษาการปลูกผลไม้เพื่อการส่งออกมากขึ้น
.
อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนจนกระทบความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ภาครัฐไทยควรมีกฎระเบียบหรือมาตรฐานในการควบคุมสินค้าที่เข้ามา โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากจีนที่ไทยก็ผลิตเช่นกัน รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือด้านการค้า และการลงทุนในการผลิตสินค้าร่วมกับ สปป. ลาว เพราะจะเป็นข้อต่อสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้การค้าผ่านเส้นทางนี้เติบโตไปด้วยกัน
.
.
อ้างอิง: บทความ คว้าโอกาสให้การค้าไทย จากรถไฟจีน-ลาว Regional Letter ฉบับที่ 1/2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย และ https://www.bbc.com/thai/60248500

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top