จากการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2564 ภาคอีสาน มีสัดส่วนนักดื่มมากถึง 32.3% ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ รองจากภาคเหนือ และมีสัดส่วนของนักดื่มประจำ อยู่ที่ 38.6% ซึ่งมีสัดส่วนน้อยที่สุดในประเทศ
เมื่อไปดูก็พบว่า ภาคอีสานมีนักดื่มที่ดื่มในงานประเพณี/คอนเสิร์ต/งานเลี้ยงมากถึง 70.0% ซึ่งมีสัดส่วนมากเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ
ภาคอีสานโดยทั่วไปมีวัฒนธรรมการดื่มที่ผูกพันกับวิถีชีวิตและสังคมมาอย่างยาวนาน การดื่มมักเป็นส่วนหนึ่งของการพบปะสังสรรค์ งานบุญ งานเทศกาล และกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลให้คนในพื้นที่คุ้นเคยและยอมรับการดื่มมากกว่าพื้นที่อื่นๆ
ทำไมคนถึงชอบดื่มในงานสังสรรค์มากกว่าดื่มอยู่บ้าน?
“บรรยากาศ” เพราะวงสังสรรค์ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนุกสนานในการดื่มกินได้อย่างไม่น่าเชื่อ
จากการสำรวจในปี 2016 เพื่อค้นหาคำตอบว่าเราสนุกกับการดื่มมากแค่ไหน โดยรวบรวมข้อมูลจากแอปพลิชันชื่อ ‘Mappiness’ ที่ให้คะแนนความสนุกจาก 1-100 คะแนน พบว่าการดื่มเชื่อมโยงกับความสนุก 10.79 คะแนน หมายความว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลต่อความสนุกของคนจริงๆ ซึ่งนอกเหนือจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ปัจจัยแวดล้อมและกิจกรรมอื่นๆ ก็ยังส่งผลเช่นกัน
การที่คนเรา “รู้สึกดี” ท่ามกลางบรรยากาศสังสรรค์ในวงเหล้า ไม่ใช่แค่เรื่องของการเข้าสังคมเพื่อพบปะเพื่อนฝูงเท่านั้น งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยพอร์ทสมัธ (University of Portsmouth) ประเทศอังกฤษ ระบุว่า ระดับ “ความดัง” ของบรรยากาศทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ “หวาน” ขึ้นด้วย โดยเฉพาะเมื่อเปิดดนตรีขับกล่อมเป็นพื้นหลัง นอกจากนี้มันยังส่งผลต่อปริมาณการดื่มและอัตราความเร็วในการดื่มของผู้คนด้วย พูดง่ายๆ คือยิ่งเสียงดัง คนก็ยิ่งดื่มเยอะ แถมยังดื่มเร็วขึ้น
ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้าในปี 2008 ของมหาวิทยาลัย เด เบรทาเน ซาด (Université de Bretagne-Sud) ในฝรั่งเศส ซึ่งทดสอบระดับความดังในบาร์เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมของนักดื่ม พบว่า เมื่อเปิดเพลงเสียงดังในระดับ 88 เดซิเบล ทำให้ผู้ดื่มจะสั่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นและสั่งถี่ขึ้นตามความดังของบรรยากาศรอบตัว
มนุษย์เราอาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชื่นชอบเครื่องดื่มมึนเมา ซึ่งบรรยากาศสังสรรค์ ผู้คนที่กำลังสรวลเสเฮฮา บวกกับเสียงดนตรีที่เปิดคลอเคล้าภายในงานสังสรรค์ต่างๆ ก็ล้วนเป็น “ตัวกระตุ้นชั้นดี” ที่ทำให้อยากดื่ม แถมยังสนุกกับการดื่มมากขึ้นไปอีก นั่นจึงเป็นคำตอบว่า ทำไมหลายคนถึงโหยหาบรรยากาศการดื่มสุราในงานสังสรรค์มากกว่าการนั่งดื่มที่บ้านนั่นเอง
อ้างอิงจาก:
– BrandThink
– ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.)
– สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่
https://linktr.ee/isan.insight
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #อีสานอินไซต์ #Business #ธุรกิจ #ธุรกิจอีสาน #นักดื่ม #สุราก้าวหน้า #เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ #นักดื่มหนัก #ดื่มหนัก