ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก โดยในปี 2566 ไทยครองตำแหน่งผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก ด้วยมูลค่าการส่งออกสูงถึง 4,506 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นรองเพียงบราซิลที่เป็นผู้นำด้านการส่งออกน้ำตาลของโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 15,982 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับคู่แข่งที่สำคัญที่มีมูลค่าการส่งออกน้ำตาลใกล้เคียงกับไทย ได้แก่ อินเดียและเยอรมนี ซึ่งมูลค่าการส่งออกของทั้งสองประเทศมีการเปลี่ยนแปลงลำดับกันในแต่ละปีขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตและการส่งออกในช่วงเวลานั้น ๆ
เมื่อพิจารณาด้านผลผลิตอ้อยต่อไร่ จะพบว่าประเทศที่มีผลผลิตอ้อยต่อไร่สูงสุดไม่ได้เป็นประเทศที่ส่งออกน้ำตาลมากที่สุดเสมอไป โดยในปี 2565 ประเทศเปรูมีผลผลิตอ้อยต่อไร่สูงที่สุดในโลกอยู่ที่ 16.88 ตันต่อไร่ ขณะที่บราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 ของโลก มีผลผลิตอ้อยต่อไร่อยู่ที่ 11.74 ตันต่อไร่ อินเดีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ มีผลผลิตอยู่ที่ 13.59 ตันต่อไร่ ส่วนประเทศไทยมีผลผลิตอ้อยต่อไร่อยู่ที่ 9.66 ตันต่อไร่
จะเห็นได้ว่าประเทศที่ผลผลิตต่อไร่สูงไม่ได้แปลว่าจะส่งออกน้ำตาลได้สูงตาม เนื่องจากกระบวนการผลิตน้ำตาลต้องอาศัยการแปรรูปในโรงงาน ซึ่งมีต้นทุนและกระบวนการที่ซับซ้อน อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น ประสิทธิภาพการสกัดน้ำตาลจากอ้อย ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน และความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า ต้นอ้อย ≠ น้ำตาล เพราะอ้อยต้องผ่านกระบวนการผลิตก่อนจะแปรรูปเป็นน้ำตาลเพื่อการส่งออกได้
ภาคอีสานถือเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลจากอ้อยที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย โดยในฤดูกาลผลิตปี 2567/2568 ประเทศไทยมีปริมาณอ้อยรวมทั้งหมด 93.17 ล้านตัน ซึ่งภาคอีสานมีปริมาณอ้อยถึง 45.9 ล้านตัน คิดเป็น 49.26% ของปริมาณอ้อยทั้งประเทศ ภายในภาคอีสานมีโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 23 แห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นของกลุ่มธุรกิจน้ำตาลรายใหญ่ในประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังมีบางโรงงานที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มทุนใหญ่ เช่น บริษัท โรงงานน้ำตาลทรายขาวเริ่มอุดม จำกัด, บริษัท โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน), และบริษัท น้ำตาลเอราวัณ จำกัด เป็นต้น
ภาคอีสานขึ้นชื่อในเรื่องสภาพพื้นที่ที่ท้าทายต่อการเกษตร เนื่องจากความแห้งแล้งจัดและปัญหาดินเค็ม ทำให้การเลือกพืชที่จะปลูกในพื้นที่นี้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตาม ภาคอีสานกลับเป็นแหล่งปลูก ข้าวหอมมะลิ คุณภาพชั้นหนึ่งของไทย ซึ่งเป็นผลผลิตที่มีชื่อเสียงระดับโลก การปลูกข้าวในภาคนี้ต้องอาศัยการปรับปรุงดินและการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรับมือกับความแห้งแล้งและดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำกว่าภูมิภาคอื่น นอกจากข้าวหอมมะลิแล้ว พืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ปลูกในภาคอีสาน ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด สับปะรด มะพร้าว และลำไย แม้ว่าพืชเหล่านี้จะมีความเหมาะสมในการปลูกในระดับปานกลาง แต่ด้วยการจัดการด้านการเกษตรที่เหมาะสม สามารถสร้างรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่ภาคกลาเป็นพื้นที่ราบลุ่มที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ทำให้การเลือกปลูกพืชในภูมิภาคนี้เป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนมากนัก หากพิจารณาพืชที่เหมาะสมที่สุดสำหรับภาคกลาง ข้าว ถือเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่ง เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศและสภาพดินเอื้อต่อการปลูกข้าวอย่างมาก โดยประเทศไทยมีพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวกว่า 32 ล้านไร่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง นอกจากข้าวแล้ว ภาคกลางยังเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น อ้อย และ ข้าวโพด ซึ่งสามารถปลูกได้ดีในพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม ภูมิภาคนี้จึงเป็นศูนย์กลางการเกษตรที่สำคัญของประเทศด้วยความหลากหลายของพืชที่สามารถเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กลุ่มธุรกิจน้ำตาลที่เลือกตั้งโรงงานในภาคอีสานส่วนใหญ่นั้นเป็นแบรนด์ที่เราคุ้นเคยกันดี โดยกลุ่มที่มีการตั้งโรงงานในภาคอีสานมากที่สุดคือ
- กลุ่มมิตรผล ซึ่งมีโรงงานในภาคอีสานถึง 5 แห่ง จากทั้งหมด 7 แห่งทั่วประเทศ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาคอีสานในฐานะพื้นที่ผลิตที่มีบทบาทสำคัญต่อกลยุทธ์ของบริษัท
- กลุ่มวังขนาย…น้ำตาลที่ไม่เหมือนใคร ที่มีโรงงานในภาคอีสาน 2 แห่ง จากทั้งหมด 4 แห่ง โดยได้ย้ายโรงงานจากจังหวัดกาญจนบุรีมายังจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งยังคงมีกำลังการผลิตใกล้เคียงเดิม
- กลุ่มไทยรุ่งเรือง หรือที่เราคุ้นเคยกันในนาม น้ำตาลลิน (Lin) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีโรงงานมากที่สุดในประเทศ (ทั้งหมด 10 แห่ง) แต่กลับมีโรงงานในภาคอีสานเพียงแห่งเดียว สะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการตั้งโรงงานในภาคกลางเป็นหลัก โดยโรงงานในภาคอีสานของกลุ่มนี้ยังมีกำลังการผลิตที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับโรงงานในพื้นที่อื่น
- กลุ่ม Thai Sugar Mill หรือ รู้จักกันในนาม GOOD SUGAAAR มีโรงงานทั้งหมด 3 แห่งทั่วประเทศ โดย 2 แห่งตั้งอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตน้ำตาลที่สำคัญของไทย และอีก 1 แห่งตั้งอยู่ในจังหวัดอุดรธานี
- ในส่วนของ กลุ่มน้ำตาลครบุรี (KBS) และ น้ำตาลขอนแก่น (KSL) นั้น โรงงานทั้งหมดของทั้งสองกลุ่มตั้งอยู่ในภาคอีสาน โดยมีกลุ่มละ 2 โรงงาน ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นการผลิตในภูมิภาคนี้อย่างเต็มที่
หมายเหตุ: รายได้รวม และกำไร(ขาดทุน) เป็นเพียงงบการเงินของบริษัทแม่เพื่อให้เห็นภาพรวมเท่านั้น ไม่ได้รวมงบการเงินของบริษัทลูกที่จดทะเบียนแยก ทำให้บางบริษัท เช่น วังขนาย อาจดูรายได้น้อย เพราะแต่ละโรงงานมีการจดทะเบียนแยกต่างหาก
อ้างอิงจาก
Thai Sugar Millers, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์, เว็บไซต์ของบริษัท, สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย, TradeMap, Our World in Data, คิวยีลด์ แอสโซซิเอท
5 อันดับอาณาจักรผลิตน้ำตาลเจ้าใหญ่ในภาคอีสาน มีบริษัทอะไรบ้าง ?