เผาอ้อยเฮ็ดหยัง? ต้นตอฝุ่นควัน กับเหตุผลที่หลายคนยังไม่รู้

วันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นวันเปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2567/68 ของโรงงานน้ำตาลภาคอีสาน ซึ่งต่อไปตั้งแต่สิ้นปีนี้ไปจนถึงต้นปีหน้า ก็จะเป็นช่วงที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยทุกๆปี จะพบปัญหาสำคัญจากการเก็บเกี่ยวอ้อยคือ “การเผาอ้อย” ที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านมลภาวะไม่ว่าจะเป็น ควัน ฝุ่น PM 2.5 เถ้าจากการการเผาหรือที่เรียกกันติดปากว่า “หิมะดำ” ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้างในด้านทัศนียภาพและสุขภาพอนามัยของคนในพื้นที่ จากรายงานจุดความร้อนพื้นที่ปลูกอ้อย ในช่วงเวลาการเปิดหีบปีการผลิต เดือนธันวาคม – เมษายน 2566/2567 พบว่าภาคอีสานเป็นภาคที่พบจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกอ้อยมากที่สุดในประเทศกว่า 1,237 จุด เนื่องจากมีพื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อยมากที่สุด 4.6 ล้านไร่ รองลงมาเป็นภาคกลาง 661 จุด ภาคเหนือ 580 จุด และภาคตะวันออก 152 จุด ลดหลั่นลงตามพื้นที่ปลูกและเก็บเกี่ยวอ้อย โดยปริมาณอ้อยลักลอบเผาหรืออ้อยไฟไหม้ที่เกษตรชาวไร่อ้อยอีสานได้นำมาขายให้โรงงานมีปริมาณทั้งสิ้น 14 ล้านตัน หรือเป็นสัดส่วนกว่า 34% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบในภาคอีสาน ทำไมต้องเผาอ้อย? สาเหตุที่การเผาอ้อยเกิดขึ้น มีอยู่ และจะยังคงมีต่อในอนาคต ปัจจัยหลักมาจากเรื่อง “ต้นทุน” โดยจากรายงานศึกษาของสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าชาวไร่อ้อยต้องแบกรับต้นทุนที่สูง เฉลี่ยทั้งประเทศประมาณ 10,974 บาท/ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเลือกที่จะทำการ “เผาก่อนตัด” ซึ่งการเผาก่อนตัด จะช่วยให้ลดต้นทุนในด้านการเก็บเกี่ยว จากการที่ประหยัดเวลากว่าการตัดอ้อยสดถึง 3 เท่าต่อวัน จ้างคนน้อยกว่าและสามารถแรงงานตัดอ้อยได้ง่ายกว่า เนื่องจากการตัดอ้อยที่เผาแล้วนั้นง่ายกว่าตัดอ้อยสด ไม่ต้องเสี่ยงกับใบอ้อยบาดมือ แรงงานไร่อ้อยทั้งไทยและต่างชาติจึงชอบการตัดอ้อยเผา ในด้านของเครื่องจักร เกษตรกรชาวไร่อ้อยหลายรายเลือกที่จะไม่ใช้ เนื่องจากเครื่องตัดอ้อยสดนั้นหามาใช้ได้ยากกว่า มีต้นทุนที่สูง และอาจไม่เหมาะกับพื้นที่ของไร่ ด้วยเหตุนี้ปัจจัยด้านการประหยัดต้นทุนทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเลือกที่จะเผาไร่อ้อย   ปัญหามลภาวะที่เกิดจากการเผาอ้อย เป็นสิ่งที่ภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามแก้ไขเรื่อยมา โดยปีเก็บเกี่ยว 2567/68 นี้ บอร์ดคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ได้ออกมาตรการลดการเผาอ้อยเพื่อลดฝุ่น โดยการเน้นจูงใจเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้เลือกตัดอ้อยสดมากกว่า โดยมีแนวทางได้แก่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ใบและยอดอ้อย ในการให้ชาวไร่อ้อยส่งขาย ให้การสนับสนุนและดูแลเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เก็บเกี่ยวอ้อยสดโดยชาวไร่อ้อยจะมีรายได้เพิ่มประมาณ 120 บาท/ตันอ้อย และมาตรการสำคัญในปีนี้ที่แตกต่างไปจากเดิมคือ การหักเงินชาวไร่อ้อยเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนอ้อยลักลอบเผาที่ส่งเข้าโรงงาน ตั้งแต่ 30-130 บาท/ตันอ้อย    ซึ่งหวังว่ามาตรการเหล่านี้จะลดการเผาอ้อยในพื้นที่ภาคอีสานและทั้งประเทศได้เพิ่มขึ้น เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น โดย อีสาน อินไซต์ จะขอติดตามประเด็นนี้ต่อไป #อ้อย #เผาอ้อย #pm2.5   ที่มา สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฐานเศรษฐกิจ สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร โรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย ไทยรัฐออนไลน์