ภาคอีสานของเราถือว่ามีความโดนเด่นในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ทั้งในแง่มุมของวิถีชีวิต วัฒนธรรม และอาหารการกิน หากมองในแง่เศรษฐกิจของท้องถิ่น ปราสาทหินถิ่นอีสานใต้สามารถสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว โดยถือเป็นการกระจายของนักท่องเที่ยวและกระจายรายได้สู่ชุมชนและบริเวณใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังทำคนในชุมชนเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังปราสาทหิน อย่างผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหาร ขนมโบราณ เมนูอาหารดั้งเดิม และการแสดงชุมชน
ดินแดนอีสานใต้อันประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่อารยธรรมขอมโบราณยังคงปรากฏมีร่องรอยอยู่ในปัจจุบัน โดยถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบปราสาทหินและศาสนสถานต่าง ๆ ซึ่งสถานที่เหล่านั้นนอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และสถาปัตยกรรมชั้นดีแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญจนก่อเกิดเป็นประเพณีและเทศกาลที่เกี่ยวข้อง
อีสานอินไซต์ พาเลาะเบิ่ง ตัวอย่าง “ปราสาทหิน” ถิ่นอีสานใต้ ร่องรอยแหล่งอารยธรรมขอมโบราณ
🪨ปราสาทหินพิมาย📍นครราชสีมา
สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีลักษณะพิเศษ คือ ปราสาทประธานสร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทหินอื่น ๆ ที่มักหันไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางตัดมาจากเมืองยโศธรปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรขอม โดยเป็นพุทธสถานในลัทธิมหายาน
🪨ปราสาทหินพนมรุ้ง📍บุรีรัมย์
ปราสาทหินพนมรุ้งสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย เขาพนมรุ้งและปราสาทบนยอดเขาจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาส อันเป็นที่ประทับของพระศิวะ และยังเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาล โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบขอม สร้างด้วยศิลาแลงและหินทราย มีอาคารเรียงรายไปจนถึงปราสาทประธาน
นอกจากนี้ยังมีความมหัศจรรย์ที่ถือเป็นไฮไลต์ของที่นี่ คือ ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ลอด 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น 4 ครั้งต่อปีเท่านั้นอีกด้วย
🪨ปราสาทหินเมืองต่ำ📍ดบุรีรัมย์
สร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย เนื่องจากได้มีการขุดพบศิวลึงก์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในลัทธิไศวนิกาย ที่บริเวณปราสาทประธาน ส่วนพระวิษณุน่าจะได้รับการนับถือในฐานะเทพเจ้าชั้นรอง เพราะภาพสลักส่วนมากที่ปราสาทหลังนี้ สลักเรื่องเกี่ยวกับการอวตารของพระวิษณุ
มีลักษณะเป็นกลุ่มปราสาทอิฐ 5 องค์ ตั้งอยู่บนศิลาแลงอันเดียวกัน รอบล้อมด้วยระเบียงคดและซุ้มประตู, กำแพงแก้วและซุ้มประตู และบาราย (ทะเลเมืองต่ำ) หรืออ่างเก็บน้ำที่ขุดเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคของชุมชนเมืองในสมัยโบราณ
.
🪨ปราสาทศีขรภูมิ📍สุรินทร์
สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 17 เนื่องในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย (บูชาพระศิวะเป็นใหญ่) ต่อมามีการบูรณะส่วนยอดของปราสาทหลังทิศตะวันตกเฉียงใต้ ในราวพุทธศตวรรษที่ 22 สมัยศิลปะล้านช้าง ดังมีจารึกอักษรธรรมปรากฏอยู่ ณ ปราสาทแห่งนี้ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมภายในประกอบด้วยปราสาทก่ออิฐที่ไม่สอปูน จำนวน 5 ห้อง องค์กลางเป็นปรางค์ประธาน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน มีคูน้ำล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน และเว้นเป็นทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก
🪨ปราสาทตาเมือน📍สุรินทร์
เป็นที่พักคนเดินทางแห่งหนึ่งใน 17 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราช โปรดฯ ให้สร้างขึ้น มีลักษณะเป็นปรางค์เดียวมีห้องยาวเชื่อมต่อมาทางด้านหน้าผนังด้านหนึ่งปิด ทึบ แต่สลักเป็นหน้าต่างหลอก ส่วนอีกด้านมีหน้าต่างเรียงกันโดยตลอด
🪨ปราสาทตาเมือนโต๊ด 📍สุรินทร์
เป็นอโรคยศาล สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อโรคยศาลแห่งนี้ยังคงสภาพเกือบจะสมบูรณ์ อีกทั้งยังพบศิลาจารึก 1 หลัก จารึกด้วยอักษรขอมภาษาสันสกฤต มีข้อความกล่าวนมัสการพระพุทธเจ้า และกล่าวถึงการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำสถานพยาบาลในแผนกต่าง ๆ
🪨ปราสาทตาเมือนธม📍สุรินทร์
เป็นปราสาทขนาดใหญ่ ประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ สร้างด้วยหินทรายหันหน้าไปทางทิศใต้ ที่ปรางค์ประธานมีลวดลายจำหลักงดงาม
🪨ปราสาทสระกำแพงใหญ่📍ศรีสะเกษ
ถือเป็นปราสาทหินที่ใหญ่และมีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในจังหวัด อีกทั้งยังเป็นเทวสถานที่มีอายุยาวนานกว่า 1,000 ปี ลักษณะเป็นปรางค์ 3 องค์บนฐานเดียวกันและตั้งเรียงกันในแนวทิศเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหลังปรางค์องค์ทิศใต้มีปรางค์ก่ออิฐอีก 1 องค์ ด้านหน้ามีวิหารก่ออิฐ 2 หลัง ล้อมรอบด้วยระเบียงคดก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย มีโคปุระหรือประตูซุ้มทั้ง 4 ทิศ
🪨ปราสาทปรางค์กู่📍ศรีสะเกษ
ปราสาทปรางค์กู่สร้างเมื่อสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สมัยขอมเรืองอำนาจ สันนิษฐานว่าสร้างเพื่อใช้เป็นสถาน “อโรคยาศาล” ทางสภาวัฒนธรรมตำบลกู่ได้มีการสร้างทับหลังจำลอง ความกว้างเท่าของจริงมาตั้งไว้บนฐานด้านหน้าตัวปราสาทเพื่อให้ผู้คนที่มาเที่ยวชมได้ศึกษาเรียนรู้ และปราสาทปรางค์กู่นั้นยังเป็นสถานที่ที่ชุมชนชาวกูยให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง หากมีกิจกรรมในหมู่บ้าน หรือศาสนพิธีต่าง ๆ ก็จะมีการนำเครื่องเซ่นไหว้มาบอกกล่าวที่ปราสาทปรางค์กู่ให้รับทราบ ซึ่งชาวกูยบ้านกู่ได้สมมติชื่อวิญญาณที่สิงสถิต ณ ปราสาทกู่ว่า “ปู่พัทธเสน” และใช้เรียกขานชื่อนี้ในการเซ่นไหว้ตลอดมา
อ้างอิงจาก:
– องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)
– การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่
https://linktr.ee/isan.insight
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์ #วิถีไถบ้าน #ประวัติศาสตร์ #วัฒนธรรม #เศรษฐกิจ #ท่องเที่ยวอีสาน #เศรษฐกิจอีสาน #ปราสาทหิน #ปราสาทหินขอมโบราณ #ปราสาทหินโบราณ