อีสานใต้ ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ซึ่งเพียง 4 จังหวัดนี้มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเป็น 43% ของมูลค่าเศรษฐกิจของทั้งภาคอีสาน โดยหากไม่นับรวมจังหวัด นครราชสีมา และ อุบลราชธานี ที่เป็นจังหวัดกลุ่ม Big 4 แห่งอีสานที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ยังพบว่า อีก 3 จังหวัดที่เหลือก็มีขนาดเศรษฐกิจที่ไม่ธรรมดา โดยมี มีมูลค่าเศรษฐกิจจังหวัด(GPP) ดังต่อไปนี้
- บุรีรัมย์ 104,961 ล้านบาท (อันดับที่ 5 ของภาค)
- สุรินทร์ 88,660 ล้านบาท (อันดับที่ 6 ของภาค)
- ศรีสะเกษ 80,437 ล้านบาท (อันดับที่ 8 ของภาค)
จะเห็นได้ว่ามูลค่าเศรษฐกิจของทั้ง 3 จังหวัดอีสานใต้นี้ตามหลังกลุ่ม Big 4 มาแบบติดๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยบทความนี้ ISAN Insight and Outlook สิพามาแกะเหตุผลที่ส่งผลให้จังหวัดในโซนนี้มีเศรษฐกิจที่ใหญ่และมาแรงกว่าโซนอื่นในภาคอีสาน
รากฐานสำคัญของเศรษฐกิจโซนอีสานใต้ คือ “ภูมิศาสตร์ที่ดี”
ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ถือได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ ขนาดและพิกัดพื้นที่แต่ละจังหวัดสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆที่ส่งผลมายังปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มจังหวัดอีสานใต้ก็ถือได้ว่ามีภูมิศาสตร์ที่ดีซึ่งส่งผลการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีต ดังนี้
- ขนาดพื้นที่ที่ใหญ่
จังหวัดกลุ่ม Big 4 มีพื้นที่จังหวัดเฉลี่ย 14,713.72 ตารางกิโลเมตร และขนาดพื้นที่ในจังหวัดในภาคอีสานเมื่อไม่รวม Big 4 มีขนาดเฉลี่ยประมาณ 6,875.01 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจังหวัดในอีสานใต้มีขนาดพื้นที่ที่จัดได้ว่ามีกว้างขวางและเกินกว่าขนาดพื้นที่เฉลี่ยของจังหวัดในภาคเมื่อไม่รวม Big 4 โดย 3 จังหวัดอีสานอีสานใต้มีขนาดพื้นที่รวม 27,286.917 ตารางกิโลเมตร ดังนี้
- บุรีรัมย์ 10,322.885 ตารางกิโลเมตร (อันดับที่ 17 ของประเทศ)
- ศรีสะเกษ 8,839.976 ตารางกิโลเมตร (อันดับที่ 21 ของประเทศ)
- สุรินทร์ 8,124.056 ตารางกิโลเมตร (อันดับที่ 24 ของประเทศ)
ซึ่งการมีขนาดพื้นที่ใหญ่จะเป็นข้อได้เปรียบด้านการมีพื้นที่ใช้สอยและทรัพยากรที่มาก ทั้งเพื่อการเกษตรและนอกภาคเกษตร เช่น ธุรกิจหรือโรงงาน โดยจะเห็นได้ว่าจังหวัดกลุ่ม Big 4 แห่งอีสานก็มีขนาดพื้นที่ของแต่ละจังหวัดที่ใหญ่เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นทั้ง 3 จังหวัดอีสานใต้ยังมีพื้นที่ชายแดนติดกับกัมพูชา ซึ่งเป็นผลดีในด้านค้าและอุปสงค์จากชาวต่างชาติ
- จำนวนประชากรมาก
ปัจจัยด้านจำนวนประชากรก็เป็นสิ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากจำนวนประชากรเป็นทั้งอุปสงค์และอุปทานในระบบเศรษฐกิจ โดยจะพบได้ว่าค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างจำนวนประชากรและมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) ของจังหวัดในภาคอีสานมีค่าในเชิงบวกสูงถึง 0.9 สะท้อนว่าเศรษฐกิจของจังหวัดภาคอีสานมีการพึ่งพิงอุปสงค์ภายในที่สูง โดยทั้ง 3 จังหวัดอีสานใต้ก็มีจำนวนประชากรที่มากเป็นอันดับต้นๆของภาคสอดคล้องไปกับขนาดพื้นที่ โดยมีจำนวนประชากรในปี 2566 ดังนี้
- บุรีรัมย์ 1,573,230 คน (อันดับที่ 4 ของภาค)
- ศรีสะเกษ 1,450,333 คน (อันดับที่ 6 ของภาค)
- สุรินทร์ 1,367,842 คน (อันดับที่ 7 ของภาค)
การบริโภคเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ของมูลค่าทางเศรษฐกิจ การมีประชากรที่มากย่อมก่อให้เกิดความต้องการการบริโภคมาก โดยความต้องการบริโภคที่สูงนั้นย่อมส่งผลทำให้เกิดความต้องการลงทุนในพื้นที่อีสานใต้ที่มากตาม หรือพูดรวมๆคือ อุปสงค์โดยรวมที่มากเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจโซนนี้ ซึ่งเห็นได้ชัดจากจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจเฉพาะแค่ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และสุรินทร์ มีสัดส่วนเป็น 30% ของจำนวนผู้ประกอบการใน 16 จังหวัดในภาคอีสานหากไม่นับรวม Big 4 ในด้านอุปทาน ประชากรคือ แรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตในทางเศรษฐศาสตร์ ส่งผลโดยตรงต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจ ซึ่งกำลังแรงงานรวมของทั้ง 3 จังหวัดอีสานใต้มีจำนวนเกินกว่าค่าเฉลี่ยของกำลังแรงงานจังหวัดในภาคอีสานเมื่อไม่รวม Big 4
ซึ่งจากการที่มีพื้นที่มาก ประชากรมาก จึงมีเขตการปกครองที่มากตาม ซึ่งส่งผลต่อมูลค่าการภาษีและเงินอุดหนุนจากภาครัฐที่มากตาม โดยทั้ง 3 จังหวัดอีสานใต้มีรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมกัน 37,170 ล้านบาท หรือ เกือบ 20% ของทั้งภาค รายได้จากภาษีและเงินอุดหนุนที่มากนี้ส่งผลดีต่อการพัฒนาจังหวัดไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจ
- มีรถไฟจากกรุงเทพฯเชื่อมทั้งอีสานใต้
1 ในข้อได้เปรียบที่ทำให้อีสานมีเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าโซนอื่นคือการมี “รถไฟ” สายภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านทั้ง 5 จังหวัดอีสานใต้ ซึ่งอีสานใต้เป็นโซนเดียวของภาคที่มีรถไฟผ่านทุกจังหวัด เริ่มจากกรุงเทพ ทอดยาวผ่านอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และสิ้นสุดปลายทางที่อุบลราชธานี ซึ่งการที่มีรถไฟย่อมสะท้อนถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของพื้นที่นั้นๆ
สรุป
แม้ว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมทางเศรษฐกิจ (เช่น GDP, GRP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด) จะเป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงขนาดของเศรษฐกิจในภาพรวม แต่ก็ไม่สามารถชี้ชัดถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมภายในสังคมได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม การที่จังหวัดมีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ดี สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐ ซึ่งการลงทุนเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดในระยะยาว ซึ่งจากปัจจัยที่ส่งเสริมกลุ่มจังหวัดอีสานใต้ที่ทำให้ได้เปรียบมากกว่าโซนอื่นในอีสาน จึงเป็นโอกาสอันดีของกลุ่มจังหวัดนี้ ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงการกระจายรายได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกภาคส่วนในสังคม
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นเพียงการวิเคราะห์ของผู้เขียนผ่านโดยใช้ข้อมูลทางสถิติ
ที่มา
- สำนักงานสถิติแห่งชาติ
- สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- การรถไฟแห่งประเทศไทย
- กรมการปกครอง
- https://govspending.data.go.th/