บึงกาฬ จังหวัดน้องใหม่ของประเทศไทยที่ไม่ธรรมดา

บึงกาฬ จังหวัดน้องใหม่ของประเทศไทยที่ไม่ธรรมดา 

เมืองส่งออกยางพารา สู่ดินแดนการท่องเที่ยวสายมู

.

.

บึงกาฬ จังหวัดน้องใหม่ของประเทศไทย ที่ทุกคนรู้กันว่าเป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศ โดยบึงกาฬก่อตั้งในปี 2554 ซึ่งถือว่าก่อตั้งมา 13 ปีแล้ว

แต่รู้หรือไม่ว่าจังหวัดน้องใหม่จังหวัดนี้มีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับ 7 ของภาคอีสาน ซึ่งมากกว่าจังหวัดใหญ่ๆบางจังหวัดเสียอีก ถึงแม้มูลค่าทางเศรษฐกิจของจังหวัดบึงกาฬจะเป็นอันดับที่ 17 ของภาคอีสาน

.

ทำไมจังหวัดที่มีมูลค่าเศรษฐกิจอันดับที่ 17 ของภูมิภาค ถึงกลายเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวมากเป็นอันดับ 7 ในภาคอีสาน ?

.

อีสานอินไซต์จะพาไปเบิ่ง

.

.

บึงกาฬ เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนสุดของไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติให้เป็นจังหวัดบึงกาฬ เมื่อปี พ.ศ. 2554 เป็นพื้นที่ที่แยกออกมาจาก อำเภอบึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอโซ่พิสัย อำเภอบุ่งคล้า อำเภอบึงโขงหลง อำเภอปากคาด อำเภอพรเจริญ และ อำเภอศรีวิไล จากการปกครองของจังหวัดหนองคาย ซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย

โดยบึงกาฬมีพื้นที่ 4,305 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับที่ 17 ของภาคอีสาน และมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 400,000 คน โดยจัดเป็นอันดับที่ 18 ของภูมิภาค

.

ถึงแม้จะเป็นจังหวัดที่มีประชากรเพียงไม่กี่แสนคน และมีมูลค่าเศรษฐกิจในอันดับที่ 17ของภาคอีสาน

.

แต่ถ้าหากลองมาดู รายได้ต่อหัวในปี 2565 จะพบว่า บึงกาฬ มีรายได้ต่อหัว 89,033 บาท

เป็นรองเพียงแค่นครราชสีมา ขอนแก่น เลย หนองคาย อุดรธานี และนครพนม ซึ่งมากกว่าหลายๆจังหวัดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าบึงกาฬ 

.

ปัจจัยที่ทำให้ บึงกาฬ มีรายได้ต่อหัวอยู่ในลำดับต้นๆของภูมิภาค มีตั้งแต่

– เป็นแหล่งเพาะปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันที่สำคัญของภาคอีสาน

– มีแหล่งท่องเที่ยวเกี่ยวกับความเชื่อและสายมูที่มีชื่อเสียง

– มีชายแดนที่ติดกับประเทศลาว

.

.

  1. แหล่งเพาะปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันที่สำคัญของภาคอีสาน

เมื่อพูดถึงแหล่งเพาะปลูกยางพาราที่สำคัญของประเทศ ภาคอีสานของเราถือว่าเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญภาคหนึ่ง จากการที่สามารถเพาะปลูกยางพาราได้ผลผลิตกว่า 1.3 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 27.7% ของผลผลิตยางพาราทั้งหมดในประเทศ โดยเป็นรองเพียงแค่ภาคใต้เท่านั้น

.

ซึ่งในปี 2565 จังหวัดบึงกาฬ ถือเป็นจังหวัดที่มีผลผลิตการเพาะปลูกยางพารามากทึ่สุดในภาคอีสาน อยู่ที่ 208,035 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 15.6% อีกทั้งมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่สูงที่สุดในภาคอีสาน และสูงที่สุดของประเทศด้วย โดยมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 248 กิโลกรัม/ไร่

.

และเมื่อดูสัดส่วนมูลค่าทางเศรษฐกิจ ภาคเกษตรกรรมมีมูลค่ามากที่สุด โดยมีสัดส่วนสูงถึง 34% จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มูลค่าเศรษฐกิจของ “บึงกาฬ” ถูกขับเคลื่อนด้วยพืชเศรษฐกิจหลัก อย่าง “ยางพารา” มากที่สุด

.

นอกจากยางพาราแล้ว บึงกาฬยังเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดในอีสานที่ 35,979 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 33,956 ไร่ และมีผลผลิตต่อปีกว่า 65,000 ตัน โดยถือเป็นพื้นที่กว่า 14% ของพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันทั้งหมดภาคอีสาน

.

ถึงแม้จะมีผลผลิตยังไม่มากหากเทียบกับภาคกลางและภาคใต้ แต่เนื่องจากข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ทำให้ บึงกาฬ เป็นจังหวัดที่เหมาะสมกับการปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดในอีสาน

.

.

  1. มีแหล่งท่องเที่ยวเกี่ยวกับความเชื่อและสายมูที่มีชื่อเสียง

และสิ่งที่ทำให้บึงกาฬมีรายได้ต่อหัวสูงอีกอย่าง คือ

มีแหล่งท่องเที่ยวเกี่ยวกับความเชื่อและสายมูที่มีชื่อเสียง

.

หากพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่โด่งดังที่สุดในจังหวัดบึงกาฬ ทุกคนคงนึกถึง “ถ้ำนาคา” ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตสำหรับผู้ที่มีความเชื่อและศรัทธาเกี่ยวกับพญานาค ที่จะต้องมากราบไหว้สักการะบูชาซักครั้งหนึ่งในชีวิต

.

ซึ่งเห็นได้จากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาถ้ำนาคาและบึงโขงหลงที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยข้อมูลในปี 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเที่ยวถ้ำนาคา 220,000 คน และบึงโขงหลงมากถึง 400,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2564

.

ซึ่งการท่องเที่ยวสายมูที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของบึงกาฬ ที่มีเรื่องราว อัตลักษณ์และวิถีชีวิตท้องถิ่นของคนลุ่มแม่น้ำโขงที่มีคติความเชื่อเรื่องพญานาคเป็นจุดที่เรียกความสนใจให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวสายมูได้ดี ทั้งจากคนไทยและชาวต่างชาติให้มาที่บึงกาฬได้มากขึ้น

.

และจากที่กล่าวไปข้างต้น จึงเป็นสาเหตุทำให้การท่องเที่ยวของบึงกาฬมีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 8 แสนคนต่อปี ซึ่งมีการเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 18%

.

.

3.การค้าชายแดน ไทย-ลาว

มาถึงปัจจัยสุดท้าย นั่นก็คือ มีชายแดนติดกับสปป.ลาว

.

บึงกาฬเป็นจังหวัดที่มีเขตพื้นที่ติดต่อกับประเทศลาว ซึ่งติดกับแขวงบอลิคำไซ ประเทศลาว

ทำให้บึงกาฬมีด่านการค้าชายแดนไปยังลาว โดยมีมูลค่าการค้าชายแดนกับสปป.ลาว กว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีการส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมมากที่สุด โดยมีมูลค่าส่งออกกว่า 1,700 ล้านบาท

.

และบึงกาฬมีโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ที่ร่วมลงทุนโดยรัฐบาลไทย และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567 โดยจะเป็นเส้นทางคมนาคมให้การขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวที่สะดวกเชื่อมต่อไปลาว 

.

ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญของบึงกาฬที่มีชายแดนติดกับประเทศลาว และช่วยทำให้บึงกาฬมีมูลค่าเศรษฐกิจมากขึ้น

.

นอกจากนี้ บึงกาฬ ยังมีแผนงานในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่าง สนามบิน โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ พร้อมเริ่มตอกเสาเข็มตามแผนในปี 2569 ก่อนจะเปิดให้บริการในปี 2572

‘บึงกาฬ’ สนามบินแห่งที่ 30 คมนาคมทุ่ม 3 พันล้าน เชื่อม ‘ลาวใต้’

สำหรับจังหวัดบึงกาฬถือเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับท่าอากาศยานใน 3 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานนครพนม และท่าอากาศยานสกลนคร แต่โดยรวมต้องใช้เวลาเดินทางเพื่อไปใช้บริการท่าอากาศยานไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ ทย.เริ่มศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาท่าอากาศยานบึงกาฬ ให้ตอบโจทย์ต่อความต้องการเดินทางของประชาชน อีกทั้งเพื่อสนับสนุนการค้าชายแดน เนื่องจากจังหวัดบึงกาฬอยู่ติดกับแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว หรือพื้นที่ลาวใต้

สำหรับ ท่าอากาศยานบึงกาฬ จากผลการศึกษาเบื้องต้นจะใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 3,152 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • อาคารที่พักผู้โดยสารพื้นที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร
  • ทางวิ่ง (รันเวย์) ขนาด 45 เมตร
  • ความยาวทางวิ่ง 2,990 เมตร
  • รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ อาทิ แอร์บัส A320 จำนวน 180 ที่นั่ง และเครื่องบินแอร์บัส 777-200 จำนวน 305 ที่นั่ง
  • ลานจอดอากาศยาน
  • อาคารประกอบต่างๆ

‘บึงกาฬ’ สนามบินแห่งที่ 30 คมนาคมทุ่ม 3 พันล้าน เชื่อม ‘ลาวใต้’

โดยที่ตั้งของโครงการอยู่ในตำบลวิศิษฐ์ และตำบลโป่งเปือย อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ประมาณ 4,400 ไร่ ตั้งอยู่ระหว่างทางหลวงชนบทหมายเลข บก.3013 และทางหลวงเชื่อมโยง จังหวัดอุดรธานี-บึงกาฬ (ในอนาคต) มีระยะทางห่างจากตัวเมืองบึงกาฬ และสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (อยู่ระหว่างก่อสร้าง) ห่างจากที่ตั้งท่าอากาศยานบึงกาฬ ประมาณ 12 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ยังมีการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารและปริมาณเที่ยวบิน โดยประเมินว่าในปี 2572 หรือปีแรกของการเปิดให้บริการ จะมีจำนวนผู้โดยสาร 149,172 คนต่อปี และมีจำนวนเที่ยวบิน 1,244 เที่ยวบินต่อปี หลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2602 คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารสูงสุด 494,254 คนต่อปี และมีจำนวนเที่ยวบิน 4,120 เที่ยวบิน

‘บึงกาฬ’ สนามบินแห่งที่ 30 คมนาคมทุ่ม 3 พันล้าน เชื่อม ‘ลาวใต้’

ท่าอากาศยานบึงกาฬถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่กระทรวงฯ ให้ความสำคัญ เพราะเป็นโครงการลงทุนที่จะส่งเสริมพื้นที่เศรษฐกิจ สนับสนุนการค้าชายแดน ส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก – ตะวันตก (East – West Economic Corridor) แม้ว่าโดยรอบจังหวัดบึงกาฬจะมีท่าอากาศยานในจังหวัดใกล้เคียงอยู่แล้ว แต่ภาพรวมก็มีระยะห่างเกิน 200 กิโลเมตร จึงเข้าข่ายในการขออนุญาตก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ ซึ่งคาดว่าจะส่งเสริมการเดินทาง การท่องเที่ยว และการเดินทางระหว่างประเทศได้ในอนาคต

‘บึงกาฬ’ สนามบินแห่งที่ 30 คมนาคมทุ่ม 3 พันล้าน เชื่อม ‘ลาวใต้’

.

สรุปแล้ว ถึงแม้บึงกาฬจะเป็นจังหวัดที่พึ่งก่อตั้งมาได้เพียง 13 ปี แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้ บึงกาฬ เป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับต้นๆ ก็คือ การเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอีสานอย่างยางพาราและปาล์มน้ำมัน อีกทั้งมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงความเชื่อและสายมูที่มีชื่อเสียง ทำให้เป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างดี

.

รวมถึงการมีทำเลที่ติดชายแดนสปป.ลาว ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้รายได้ต่อหัวของบึงกาฬอยู่ในระดับสูงอีกด้วย

.

.

อ้างอิงจาก:

– กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

– กรมการปกครอง

– สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

– สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

– กรมการค้าต่างประเทศ

– TrueID

กรมท่าอากาศยาน

.

ติดตาม ISAN Insight ทุกช่องทางได้ที่

https://linktr.ee/isan.insight

.

#ISANInsight #อีสาน #อีสานอินไซต์ #Business #Economy #ISAN #ธุรกิจ #เศรษฐกิจ #ธุรกิจอีสาน #เศรษฐกิจอีสาน #บึงกาฬ #อีสาน

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top