NAGA Legacy การท่องเที่ยวสายศรัทธาพญานาค

🐍สกลนคร นครพนม บึงกาฬ
3 จังหวัด ตำนาน พญานาค เส้นทางการท่องเที่ยวสายศรัทธา🙏✈️
.
🚙🛣️การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในกิจกรรมเศรษฐกิจหลักที่สามารถกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว แต่ในปัจจุบันจังหวัดในอีสานกว่า 20 จังหวัด มีเมืองที่นับว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวเมืองหลักเพียง 2 เมืองเท่านั้น สะท้อนภาพการกระจุกตัวของกิจกรรมการท่องเที่ยวในอีสานชัดเจน
.
แล้วจุดขายของเมืองรองอีสาน ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยว อยู่ที่ไหน ?
.
วันนี้อีสานอินไซต์พาเปิดหนึ่งในกลุ่มเมืองรองอีสานที่โดดเด่นด้วยจุดแข็งด้านวัฒนธรรม และความเชื่อ “พญานาค” ตามนโยบาย IGNITE TOURISM THAILAND ที่มุ่งผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายการเป็น Tourism Hub ที่สำคัญของโลก
.
🐍NAGA Legacy (นครพนม สกลนคร บึงกาฬ) ตามรอยตำนานศรัทธาพญานาค
.
เพื่อฉายภาพกระแสพญานาคให้ชัดเจนขึ้น อีสานอินไซต์ขอพาย้อนชมในรอบ 20 ปี ว่ามีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง
.
อีสานเกิดพญานาค Fever ครั้งแรกที่เป็นกระแสไปทั่วประเทศ ในเดือนกรกฎาคม 2554 เมื่อมีข่าวว่าพญานาคโผล่ออกมาเล่นน้ำในบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ ต่อหน้าต่อตาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และประชาชนนับพันคน
.
ต่อมาในปี 2560 พญานาคเป็นกระแสอีกรอบ ตามความเชื่อว่าปีนี้เป็นปีที่พญานาคมีอิทธิฤทธิ์และอำนาจเรืองรองที่สุดในรอบพันปี (ความเชื่อส่วนบุคคล) ส่งผลดีจากกิจกรรมการเดินทาง รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยจากสายบูชาพญานาค ไม่แปลกใจที่จะเห็นว่าบรรดาผู้เลื่อมใสศรัทธาต่างก็เดินทางไปกราบไหว้ขอพรกันอย่างหนาแน่น
.
และพญานาคยังได้รับแรงหนุนจากการผลักดันความเชื่อและวัฒนธรรมเข้าสู่ Mass market ผ่านจอแก้วใน “นาคี” ปี 2559 และภาคต่อผ่านจอเงิน “นาคี 2” ในปี 2561 ที่เผยแพร่ความเชื่อเรื่องพญานาคไปทั่วทุกภูมิภาครวมถึงต่างประเทศ
.
❓แล้ว 3 หัวเมืองในอีสาน มีจุดแข็งอะไร ที่ทำให้รัฐบาล มองว่าเป็นเส้นทางท่องเที่ยวสายพญานาค นั้นมีความสำคัญ
.
อย่างแรกที่ปฏิเสธไม่ได้คือตำแหน่งที่ตั้ง ที่อยู่บนสุดขวาของประเทศไทย ติดกับ สปป.ลาว แหล่งความเชื่อของวัฒนธรรมร่วมไทย-ลาว ที่นับถือพญานาคเป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ กั้นกลางด้วยแม่น้ำโขง แหล่งน้ำสำคัญที่มีความเชื่อว่าเกิดขึ้นจากการไถลตัวของพญานาค รวมถึงสะพานเชื่อมประเทศ “สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว” ถึง 2 แห่ง
.
ความเชื่อยังสะท้อนออกมาในรูปกิจกรรมวัฒนธรรมของพื้นที่ โดยข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวจาก Thailand Tourism Directory ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สะท้อนภาพแหล่งท่องเที่ยวทั้งหมด 161 แห่ง ใน 3 จังหวัด ซึ่งกว่า 40% เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในกลุ่มความเชื่อ ความศรัทธา สะท้อนจุดแข็งในการรองรับกิจกรรมการท่องเที่ยวในด้านนี้ชัดเจน ตามด้วยสถานที่ท่องเที่ยวในกลุ่มการท่องเที่ยวธรรมชาติ และการท่องเที่ยวชุมชนเชิงการเรียนรู้เป็นหลัก
.
สถานที่ท่องเที่ยวด้านความเชื่อ ความศรัทธา เด่น ๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัด เช่น ถ้ำนาคา ที่บึงกาฬ ลานพญาศรีสัตตนาคราช ที่นครพนม และวัดถ้ำผาแด่น ที่สกลนคร ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งในสถานที่แรก ๆ ที่ถูกนึกถึงเมื่ออยากท่องเที่ยว สักการะ หรือ เยี่ยมชม กับวัฒนธรรมและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพญานาคในอีสาน
.
การดึงดูดการท่องเที่ยวโดยการใช้จุดแข็งด้านวัฒนธรรมและความเชื่อ โดยเฉพาะพญานาค ยังเป็นหนึ่งในประเด็นพัฒนาสำคัญที่ทั้ง 3 จังหวัด ให้ความสำคัญชัดเจน และพร้อมสนับสนุน โดยมีการบรรจุลงในแผนพัฒนาจังหวัดประจำรอบ 5 ปี 2566-2570 โดยมีใจความสรุปรวมได้ว่า ทั้ง 3 จังหวัด มุ่งเน้น ส่งเสริม อนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม รวมถึงวิถีชีวิตอารยธรรมลุ่มน้ำโขง อย่างยั่งยืนให้สอดคล้องการท่องเที่ยววิถีใหม่ New Normal
.
🧐แล้วสถานการณ์การท่องเที่ยวปัจจุบันใน 3 จังหวัดนี้เป็นอย่างไรบ้าง อีสานอินไซต์จะพาไปชม
.
จำนวนผู้เยี่ยมเยือนล่าสุดสะสม 5 เดือน ปี 2567 ใน 3 จังหวัด ได้แก่ นครพนม สกลนคร และบึงกาฬ อยู่อันดับที่ 7, 11, 15 ตามลำดับ มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนรวม 2.1 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 11% ของจำนวนผู้เยี่ยมเยือนทั้งอีสาน โดยโครงสร้างผู้เยี่ยมเยือนใน 3 จังหวัด คือ คนไทย 95 คน ต่อ ต่างชาติ 5 คน
.
แต่อีสานอินไซต์เห็นการขยายตัวของกิจกรรมการท่องเที่ยวและเดินทางใน 3 จังหวัด ซึ่งปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงปกติก่อน COVID-19 ชัดเจน ที่ตลอดทั้งปี 2562 มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือน 3.1 ล้านคน แต่ในปีที่แล้ว (2566) มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนเพิ่มขึ้นชัดเจนเป็น 4.7 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 50% รวมถึงสถานการณ์ในปี 2567 ที่ภาพรวมจำนวนผู้เยี่ยมเยือนสะสม 5 เดือนแรกมากถึง 2.1 ล้านคน สะท้อนแนวโน้มว่าตลอดทั้งปีน่าจะมีผู้เยี่ยมเยือนทะลุ 5.1 ล้านคน
.
อีกหนึ่งแรงหนุนที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและความเชื่อ คือ พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในประเทศจากแบบสำรวจพฤติกรรมการท่องเที่ยวของ ททท. ที่เริ่มมีแนวโน้มต้องการท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้น โดยอีสานเป็นภูมิภาคที่ 2 ที่นักท่องเที่ยวต้องการท่องเที่ยวเมืองรองมากที่สุดรองจากภาคเหนือ และส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยวแบบค้างคืน สะท้อนผลดีต่อเนื่องถึงกลุ่มบริการโรงแรม ที่พัก รวมถึงกลุ่มบริการร้านอาหาร/เครื่องดื่ม โดยนครพนม และบึงกาฬ ยังเป็นอันดับที่ 1 และ 3 ของจังหวัดเมืองรองอีสานที่นักท่องเที่ยวอยากมามากที่สุด โดยกว่าครึ่งของนักท่องเที่ยวต้องการกิจกรรมการท่องเที่ยวในรูปแบบโบราณสถาน/ศาสนสถาน/และที่ท่องเที่ยวในกลุ่มความเชื่อ
.
จากปัจจัยที่เล่ามาทั้งหมด ก็เป็นที่น่าสนใจว่า รัฐบาลจะออกกลยุทธ์ผ่านมาตรการหรือนโยบายใด ที่จะสามารถผลักดันทุก “เมืองรอง” เป็น “เมืองน่าเที่ยว” ได้มากน้อยขนาดไหน รวมถึงเมื่อสำเร็จแล้ว เมืองน่าเที่ยวจะเปลี่ยน NAGA Legacy ไปในทิศทางไหน
.
.
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่
.

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top