สถานการณ์โรคไตวายในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอีสานที่กำลังส่งสัญญาณเตือนครั้งใหญ่ หลังข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในปี 2566 มีผู้ป่วยไตวายในภาคอีสานพุ่งสูงถึง 404,680 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 32.9% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงผิดปกติ หากเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ที่เพิ่มขึ้นเพียงปีละไม่เกิน 8% นี่จึงไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงตัวเลขที่ได้นำเสนอไป แต่เป็นการระเบิดของวิกฤตสุขภาพที่อาจส่งผลลึกถึงระดับเศรษฐกิจและนโยบายสาธารณสุขของประเทศ
โรคไตวายเรื้อรังเกิดจากอะไร⁉️
โรคไตวายเรื้อรังมีสาเหตุสำคัญจากพฤติกรรมและโรคประจำตัวของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน และการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ซึ่งล้วนเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังของคนไทยโดยเฉพาะในภาคอีสานที่นิยมบริโภคอาหารรสจัด เช่น ปลาร้า แจ่ว หรืออาหารหมักดองต่าง ๆ ที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบหลัก นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมเสี่ยงอื่น อย่างเช่น การใช้ยาชุด สมุนไพรพื้นบ้านโดยไม่ควบคุม และการดื่มน้ำสมุนไพรหรือเครื่องดื่มพื้นบ้านที่ไม่ได้ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย
แต่ในห้วงเวลาที่วิกฤตไตกำลังปะทุ สิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้นั้นคือ การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายในช่วงปลายปี 2564 ที่ “พืชกระท่อม” ถูกปลดล็อกให้ถูกกฎหมายในประเทศไทย การบริโภคกระท่อมในรูปแบบ “น้ำกระท่อม” จึงขยายตัวอย่างรวดเร็วในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและคนทั่วไปที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ กระท่อมแม้จะมีฤทธิ์ลดปวดหรือเพิ่มพลังงาน แต่เมื่อบริโภคในปริมาณมาก หรือถูกนำไปผสมกับน้ำอัดลม พาราเซตามอล ยาแก้ไอ หรือสารเคมีอื่น กลับเป็นการเพิ่มภาระให้กับระบบไตอย่างรุนแรงนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีงานวิจัยในประเทศไทยที่ยืนยันแบบเฉพาะเจาะจงว่า “น้ำกระท่อม” เป็นสาเหตุโดยตรงของโรคไตวาย แต่การที่ตัวเลขผู้ป่วยไตพุ่งขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 32.9% ภายในปีเดียว ขณะที่ใน 7 ปีก่อนหน้านั้นเพิ่มขึ้นเพียงปีละ 4-8% ย่อมเป็นข้อมูลที่ไม่อาจมองข้ามได้
ผลกระทบของโรคไตวายต่อระบบเศรษฐกิจ
ผลกระทบของโรคไตวายไม่เพียงจำกัดอยู่ในระบบสาธารณสุข แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจในหลายระดับ เริ่มจากภาระงบประมาณของรัฐที่ต้องแบกรับค่ารักษาผู้ป่วยฟอกไต ซึ่งมีต้นทุนสูงถึงหลักแสนบาทต่อคนต่อปีเลยทีเดียว ขณะที่ครอบครัวของผู้ป่วยจำนวนมากต้องสูญเสียรายได้จากการทำงาน หรือกลายเป็นผู้ดูแลโดยจำเป็น ส่งผลให้เกิดภาวะความยากจนจากโรคเรื้อรังที่ยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในภาคอีสานซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่ำอยู่แล้วนั่นเอง
นอกจากนี้ เมื่อกลุ่มแรงงานวัยทำงานกลายเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง ความสามารถในการผลิตของระบบเศรษฐกิจก็ลดลงทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพืชกระท่อม แม้สร้างรายได้ในระยะสั้น แต่หากปราศจากมาตรการควบคุมและมาตรฐานความปลอดภัยในการบริโภค ก็อาจจะย้อนกลับมาก่อปัญหาสุขภาพระยะยาวซึ่งมีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงกว่าผลประโยชน์ที่ได้หลายเท่านั่นเอง
อ้างอิงจาก:
– กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
– กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
– ฐานข้อมูลผู้ป่วยใน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
– Hfocus.org เจาะลึกระบบสุขภาพ
– PPTVHD 36
– The Coverage
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่
https://linktr.ee/isan.insight
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์ #Business #Economy #ธุรกิจ #เศรษฐกิจ #ธุรกิจอีสาน #เศรษฐกิจอีสาน #ไตวาย #โรคไตวาย #คนอีสานเป็นไตวาย #คนไทยเป็นไตวาย