พาสำรวจเบิ่ง “เด็กน้อยอีสาน” ตกหล่น
จากการระบบศึกษามากแค่ไหน
.
.
ในปี 2565 ประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนอายุตั้งแต่ 3-18 ปี ที่อยู่นอกระบบการศึกษามีมากกว่า 1.02 ล้านคน ในจำนวนนี้ยังมีหลายคนกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษามีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่วงจรอันตราย 3 เรื่อง คือ (1) แรงงานรายได้ต่ำ เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ (2) ค้าประเวณีหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยเฉพาะเด็กผู้หญิง และ (3) ยุวอาชญากรที่ตกอยู่ในวังวนยาเสพติด และลักขโมย
.
แล้วเคยรู้หรือไม่ว่า ในภาคอีสานมีเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษามากแค่ไหน?
.
โดยในภาคอีสานมีเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาอยู่มากกว่า 211,692 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนอยู่ 20.64% ของเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาทั้งหมดในประเทศ
.
และเมื่อนำสัดส่วนเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษามาเปรียบกับจำนวนเด็กและเยาวชนทั้งหมดในภาคอีสาน ก็พบว่า มีสัดส่วนอยู่ที่ 5.34%
.
จังหวัดที่มีสัดส่วนเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษามากที่สุด คือ จังหวัดหนองคาย มีสัดส่วนอยู่ที่ 7.40% ของจำนวนเด็กและเยาวชนทั้งหมดในจังหวัด
.
.
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เด็กออกนอกระบบการศึกษา?
.
กสศ.ได้พัฒนางานวิจัยเชิงสํารวจเพื่อศึกษาข้อมูลของเด็กนอกระบบการศึกษาภายใต้ “โครงการการสนับสนุนและพัฒนากลไกการขับเคลื่อนครูและเด็กนอกระบบการศึกษา” ประกอบด้วยข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จากองค์กรเครือข่าย ทั้งสิ้น 67 องค์กร จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มีจำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาที่ให้ข้อมูลความต้องการ 35,003 คน โดย 3 อันดับสาเหตุของการออกนอกระบบการศึกษาหลัก ได้แก่ ความยากจนมากที่สุด 46.70% รองลงมาคือ มีปัญหาครอบครัว 16.14% และออกกลางคัน/ถูกผลักออก 12.03% ตามลำดับ
.
เมื่อวิเคราะห์สาเหตุอื่นๆ ของการ “ออกกลางคัน” จากการตอบคำถามปลายเปิดจากจำนวนคำตอบทั้งสิ้น 5,270 คำตอบพบว่า เหตุผลที่ปรากฏบ่อย ได้แก่ ไม่อยากเรียน ต้องการทำงาน ตั้งครรภ์ในวัยเรียน มีครอบครัว ไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีบัตรประชาชน พิการ ยาเสพติด เป็นต้น
.
.
อ้างอิงจาก:
– กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
– กรมการปกครอง
ติดตาม ISAN Insight ทุกช่องทางได้ที่