คลังเตรียมเปิดตัว “สลากเกษียณ” ในรูปแบบสลากขูดดิจิทัล ใบละ 50 บาท ขายผ่านกอช. เพื่อจูงใจให้ออมเงินเพื่อเกษียณ โดยเงินที่ซื้อสลากจะถูกออมในกอช. ถอนได้เมื่ออายุครบ 60 ปี ออกรางวัลทุกวันศุกร์ เวลา 17.00 น. รางวัลที่ 1 รับ 1 ล้านบาท 5 รางวัล คาดเริ่มปี 2568
6 มิ.ย. 2567 ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยมีปัญหาประชาชนเข้าสู่วัยเกษียณ แต่ไร้เงินเก็บ ปัญหานี้จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วของไทย และปัญหานี้แก้ไม่ได้ด้วยการอัดงบประมาณในรูปแบบเบี้ยคนชราจำนวนสูงๆ ซึ่งในที่สุดแล้วระบบงบประมาณไม่มีทางรับไหว
ดังนั้น กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณา “นโยบายสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ” หรืออาจเรียกสั้นๆว่า “สลากเกษียณ” หรืออย่างไม่เป็นทางการว่า “หวยเกษียณ” ซึ่งเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบายที่รวมเอาลักษณะการชอบเสี่ยงดวงของคนไทยมาเป็นแรงจูงใจในการเก็บออมที่สามารถถอนเงินที่ซื้อสลากทั้งหมดออกมาได้ตอนเกษียณ (อายุ 60 ปี) โดยมีรายละเอียดเบื้องต้น (สามารถเปลี่ยนได้ภายหลัง) ดังนี้
1. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ออกสลากขูดแบบดิจิทัล ใบละ 50 บาท เพื่อขายให้กับสมาชิก กอช. ผู้ประกันตน ม. 40 และแรงงานนอกระบบ (กลุ่มเป้าหมายจะเพิ่มเติมภายหลัง) ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาท ต่อเดือน
2. สามารถซื้อสลากได้ทุกวัน แต่ออกรางวัลทุกวันศุกร์เวลา 17.00 น. ผู้ถูกรางวัลจะได้เงินรางวัลทันที โดยที่เงินค่าซื้อสลากถูกเก็บเป็นเงินออม แม้ว่าจะถูกรางวัลหรือไม่ก็ตาม
3. รางวัลของ ทุกวันศุกร์ กำหนดดังนี้ (อาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม)
3.1. รางวัลที่ 1 จำนวน 1,000,000 บาท จำนวน 5 รางวัล
3.2. รางวัลที่ 2 จำนวน 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล
4. เงินค่าซื้อสลากทั้งหมดจะเป็นเงินออมของผู้ซื้อสลาก (เงินสะสม) ซึ่งจะนำเงินส่งเข้าบัญชีเงินออมรายบุคคลกับ กอช. โดย กอช. จะเป็นผู้บริหารจัดการเงินจำนวนดังกล่าว และเมื่อผู้ซื้อสลากอายุครบ 60 ปี จะสามารถถอนเงินทั้งหมดที่ซื้อสลากมาทั้งชีวิตออกมาได้
ทั้งนี้ นโยบายนี้จะเข้าแก้ไขปัญหาคนไทยแก่แต่จน แก่แต่ไม่มีเงินเก็บ เพราะการออมภาคสมัครใจในปัจจุบันไม่ได้ผล ต้องอาศัยการออมที่ผูกกับแรงจูงใจซื้อสลาก ถูกกฎหมาย เงินไม่หาย กลายเป็นเงินออมยามเกษียณ ถูกรางวัลได้เงินเลย ไม่ถูกทุกบาททุกสตางค์จะถูกเก็บเป็นเงินออมยามเกษียณ ซื้อมาก ได้ลุ้นมาก มีเงินออมมาก
“นโยบายนี้อยู่ระหว่างขัดเกลารายละเอียด และต้องใช้เวลาในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายของกองทุนการออมแห่งชาติ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน – 1ปี ไม่เกิดขึ้นเร็วอย่างแน่นอน แต่จะเร่งรัดให้เร็วที่สุด คาดว่าจะเริ่มขายได้ในปีหน้า”
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล
ดร. เผ่าภูมิ เปิดเผยต่อว่า สำหรับรูปแบบสลากจะเป็นสลากดิจิทัลแบบขูด ตัวอย่างเช่น สลาก 1 ใบ จะมีแถบสีเงินปิดไว้ โดยผู้ซื้อสลากจะต้องขูดสลากแบบดิจิทัล โดยจะมีตัวเลข 10 หมายเลข อาจเป็นเลข 2 หลัก มีสิทธิถูกรางวัลใบละ 1 ครั้ง ไม่ใช่สลากแบบลุ้นรางวัลติดต่อกันจนครบอายุ ขายผ่านแอปพลิเคชันของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
“สลากเกษียณไม่ได้มีรูปแบบที่ซื้อ 1 ใบ แล้วจะได้ลุ้นรางวัลจนครบอายุ แต่ซื้อ 1 ใบ จะได้ลุ้นรางวัลแค่ 1 ครั้ง สัปดาห์ต่อไปต้องซื้อเพื่อลุ้นรางวัลใหม่ วิธีการนี้เพื่อเป็นการจูงใจให้กลุ่มเป้าหมายมีการออมมากขึ้น การออกสลากเช่น เมื่อผู้ซื้อสลากขูดแถบสีเงินแล้วจะมีหมายเลข 2 หลัก จำนวน 10 หมายเลข เช่น 12, 15, 18 หากออกเลขที่ตรงกับที่ผู้ซื้อสลากมีก็คือถูกรางวัล อย่างไรก็ตามเรื่องรูปแบบที่แน่นอนของสลากเกษียณยังอยู่ระหว่างพิจารณา”
สำหรับแหล่งเงินในการดำเนินเรื่องสลากเกษียณมาจากเงินงบประมาณ โดยจะใช้งบประมาณสัปดาห์ละ 15 ล้านบาท เดือนละ 60 ล้านบาท หรือปีละประมาณ 720 ล้านบาท
“การออกสลากเกษียณในครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 20 ล้านคน คาดว่าจะทำให้สมาชิกของกอช. เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่16-17 ล้านราย จากปัจจุบันอยู่ที่ 3 ล้านราย ส่วนเรื่องดอกเบี้ย และ เงินรางวัลต้องเสียภาษีหรือไม่ ยังอยู่ระหว่างพิจารณา รวบรวมความเห็นจากหลายภาคส่วน และต้องรอหลังแก้กฎหมายก่อน อย่างไรก็ตามการออกสลากรูปแบบนี้ได้หารือกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้ว ซึ่งมองว่าจะไม่กระทบผู้ค้าสลากเดิมเนื่องจากรูปแบบและกลุ่มเป้าหมายต่างกัน”