พามาเบิ่ง “ยิ่งยง มินิมาร์ท” ตำนวนค้าปลีกสู่เจ้าพ่อร้านสะดวกซื้ออีสานใต้ กับวิถีการปรับตัวของห้างภูธร สร้างจุดแตกต่างในวงล้อมยักษ์ใหญ่

ย้อนหลังไปเมื่อกว่า 30 ปีก่อนหน้านี้ เส้นแบ่งระหว่าง ห้างสรรพสินค้าภูธร กับห้างในส่วนกลาง มีออกมาอย่างชัดเจน โดยมีไลฟ์สไตล์หรือพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้ง 2 กลุ่ม ที่มีความแตกต่างเป็นตัวแบ่ง และห้างในต่างจังหวัดที่เรารู้จัก จึงมีออกมาในลักษณะของการเป็นห้างของคนท้องถิ่น ไม่ว่าห้างตันตราภัณฑ์ แห่งเชียงใหม่ เจริญศรี พลาซ่า จังหวัดอุดรธานี หรือยิ่งยง จังหวัดอุบลราชธานี

แต่เมื่อต่างจังหวัด มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผู้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งจากผลผลิตทางการเกษตร ราคาที่ดิน ทำให้เกิดคนชั้นกลางที่มีการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับสังคมเมืองทั่วไป ทำให้มุมมองของกลุ่มทุนค้าปลีกจากส่วนกลาง ที่มีต่อคนต่างจังหวัดเปลี่ยนไป

ยิ่งความเป็น Urbanization หรือความเป็นอยู่แบบสังคมเมือง แผ่ขยายไปอย่างรวดเร็วเท่าไร ก็ยิ่งเป็นตัวที่เข้ามากวักมือเรียกให้ยักษ์ค้าปลีกเหล่านี้ เร่งขยายการลงทุนเข้าไป เพื่อรองรับกับการเติบโตดังกล่าวที่เห็นภาพชัดเจนสุดก็มี กลุ่มเซ็นทรัล Retail Conglomerate ซึ่งมีทิศทางการลงทุนที่ชัดเจน ด้วยรูปแบบของโมเดลศูนย์การค้าที่สามารถเข้าไปในทุกไซส์ของตลาด โดยมีการผสานกองทัพธุรกิจในเครือทั้งหมดเข้าเป็นแพ็ก และเดินหน้าเข้าไปลงทุนอย่างเต็มรูปแบบ

แน่นอนว่า การขยายตัวทั้งหมดกลายเป็นแรงกระตุ้นให้ห้างท้องถิ่นต้องเร่งปรับตัวเพื่อหาจุดยืนที่มั่นคงให้กับตัวเอง เหมือนกับที่ห้างยิ่งยงสรรพสินค้า ห้างภูธรชื่อดังของจังหวัดอุบลราชธานี ที่วันนี้มีการแปลงร่างตัวเองจากห้าง สรรพสินค้าสู่การเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ ภายใต้แบรนด์ Y Square Food Mall (Y2 Food Mall) ซึ่งมีที่มาจาก Y 2 ตัว ซึ่งย่อมาจาก ยิ่งยง เพราะธุรกิจเดิมคือ ทำห้างยิ่งยงสรรพสินค้า

คุณไพบูลย์ จงสุวัฒน์ หรือ “โกเฒ่า” เจ้าของและผู้บริหารของคอมมูนิตี้มอลล์แห่งนี้ กล่าวว่า “Y Square Food Mall เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการปรับตัวของผู้ประกอบการท้องถิ่นที่เลือกจะเจาะตลาดด้วยการสร้างนิช มาร์เก็ตของตัวเอง โดยเลี่ยงที่จะชนกับศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่ขยายมาจากส่วนกลาง”

ห้างยิ่งยง คือ 1 ในผู้ประกอบการห้างท้องถิ่นเก่าแก่ของภูธรในจังหวัดอุบลราชธานี เปิดตัวครั้งแรกในปี 2527 มีจุดกำเนิดที่แทบจะไม่แตกต่างจากห้างต่างจังหวัด คือเป็นร้าน “เซ็นเตอร์” ที่ขายเสื้อผ้า กางเกงยีนส์มาก่อนที่จะขยับขยายมาเปิดห้างเมื่อกิจการเติบโตขึ้น

ห้างท้องถิ่นรายนี้ถูกดึงเข้ามาร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัลในปี 2538 ที่ในตอนนั้น เซ็นทรัลได้ร่วมทุนกับโรบินสัน พร้อมกับขยายสาขาของโรบินสันออกไปในต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งจะมีการดึงเอาห้างท้องถิ่นมาร่วมทุนด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการทำตลาด

การร่วมทุนกับกลุ่มทุนจากส่วนกลางดูเหมือนจะดี เพราะแทนที่จะแข่งกับเขา ก็หันมาเป็นพันธมิตรร่วมกันทำตลาดแทน แต่เมื่อกลุ่มเซ็นทรัลเข้าไปลงทุนเปิดศูนย์การค้าเองพร้อมนำโรบินสันเข้าไปเป็นแมกเน็ตหนึ่งในศูนย์ สาขาที่ร่วมทุนกับยิ่งยงจึงต้องปิดตัวลง

แต่สัญญาที่เซ็นกันยังเหลือ ซึ่งถ้าไม่ทำต่อก็ต้องปิดตัวลง นั่นหมายถึงเป็นการปิดตำนานของห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของจังหวัดอุบลราชธานีด้วย เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ “โกเฒ่า” ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ต้องกลับมาลงทุนปลุกตำนานที่มีชีวิตนี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

“โกเฒ่า” ยังกล่าวอีกว่า คอมมูนิตี้มอลล์แห่งใหม่นี้ จะเป็นไลฟ์สไตล์มอลล์ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ในจังหวัดอุบลราชธานี โดยจะมีร้านอาหารชื่อดังของจังหวัดอุบลราชธานี และจากส่วนกลางเข้ามาเปิดในศูนย์ อาทิ ร้านอินโดจีน เป็นร้านอาหารเวียดนามชื่อดังของอุบล ร้าน Y-Space ที่ประกอบด้วย 4 ร้านย่อย คือ U-bao, Summer Spoon, Rocky และ Trocadero ร้านยำนัว เป็นร้านอาหารประเภทยำต่างๆ ร้านชานมคลิกลี่ ขายเค้ก และชานมไข่มุกคลิกลี่ และ ร้าน Max Beef ขายเนื้อย่างจากส่วนกลาง รวมถึงการมีฟู้ดคอร์ทซึ่งมีร้านค้าต่างๆ 19 ร้านค้า มีร้านอาหารหลากหลายสไตล์ในราคาประหยัดเริ่มต้นที่ 40 บาท

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ที่เป็น “โค เวิร์คกิ้งสเปซ” ที่เปิดให้คนรุ่นใหม่ได้มาเรียนรู้การทำธุรกิจ ในครั้งนี้จะไม่มีดีพาร์ตเมนต์สโตร์ที่เคยเป็นธุรกิจหลักมาก่อน เพราะมองว่า ห้างมันทำลำบาก และมีเทรนด์ที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะลูกค้ายุคนนี้สามารถซื้อของที่ไหนก็ได้ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ โดยจะมีพื้นที่ True Space ซึ่งจะประกอบด้วยร้านทรูคอฟฟี่ และพื้นที่เช่าให้ประชุมพบปะสังสรรค์

แม้จะเทียบไซส์กันไม่ได้กับคู่แข่งจากส่วนกลาง แต่โกเฒ่าบอกว่าสิ่งที่จะเข้ามาช่วยรับมือได้เป็นอย่างดีก็คือ การมีโลเกชั่นที่ดีกว่าช่วยในเรื่องของความสะดวก ขณะเดียวกัน การเป็นห้างท้องถิ่นที่อยู่คู่กับอุบล มานาน ทำให้เข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างดี โดยจะอาศัยจุดเด่นในเรื่องของทำเลที่ตั้งที่อยู่ในย่านการค้าและชุมชนสำคัญมากกว่า ซึ่งคอมมูนิตี้มอลล์ที่เปิดขึ้นมานี้จะอยู่ติดกับสวนสาธารณะห้วยม่วง และติดกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยมีหน่วยงานราชการมากมายล้อมรอบ เช่น โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี เป็นต้น

อ้างอิงจาก:

https://data.creden.co/company/general/0345536000095

https://guideubon.com/2.0/yingyong-ubon/2095/

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top