สำรวจดัชนีความเสี่ยงทางธุรกิจที่สูงสุดในแต่ละจังหวัด ภาคอีสาน

เว็บไซต์ DBD DataWarehouse+ ซึ่งรวบรวมข้อมูลนิติบุคคลที่มีการจดทะเบียนตามกฎหมายกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เปิดเผยดัชนีความเสี่ยงหรือคะแนนที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงของประเภทธุรกิจ
.
โดยค่าดัชนีจะอยู่ในช่วง 0-1 (คะแนนสูง = มีความเสี่ยงทางธุรกิจมาก) พิจารณาจาก 4 ปัจจัย ประกอบด้วย 1. FS Score หรือคะแนนความเสียงที่บริษัทจะเกิดวิกฤตทางการเงิน 2. ความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก 3. ต้นทุนทางการเงิน และ 4. อัตราการคงอยู่ของธุรกิจ
.
5 อันดับ จังหวัดในภาคอีสานที่มีดัชนีความเสี่ยงของประเภทธุรกิจสูงสุด
.
1. อุบลราชธานี ค่าดัชนี 0.69 ในธุรกิจประเภท การขายส่งสัตว์มีชีวิต
2. นครราชสีมา ค่าดัชนี 0.68 ในธุรกิจประเภท การขายส่งสินค้าเฉพาะอย่างอื่น ๆ
3. หนองบัวลำภู ค่าดัชนี 0.68 ในธุรกิจประเภท การขายส่งเครื่องแต่งกาย และของใช้ในครัวเรือน
4. อำนาจเจริญ ค่าดัชนี 0.67 ในธุรกิจประเภท การขายส่งข้าวเปลือก และธัญพืช
5. สกลนคร ค่าดัชนี 0.67 ในธุรกิจประเภท ร้านขายปลีกอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่าง
.
อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันว่าภาคอีสานมีประชากรหรือผู้มีงานทำที่อยู่ในภาคเกษตรมากที่สุด และเป็นภูมิภาคที่มีการปลูกข้าวสูงที่สุด แต่ที่น่าสนใจ คือ 4 จาก 20 จังหวัดของภาค ได้แก่ อำนาจเจริญ นครพนม อุดรธานี และบุรีรัมย์ กลับมีความเสี่ยงในธุรกิจประเภท ‘การขายส่งข้าวเปลือก และธัญพืช’ สูงที่สุด
.
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจดังกล่าวมีการแข่งขันในจังหวัดน้อย ทำให้ผู้ผลิตไม่ค่อยปรับปรุงหรือพัฒนาสินค้าของตนเพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่น โดยเฉพาะจังหวัดใกล้เคียง เพราะอย่าลืมว่า ‘ข้าว’ เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในประเทศรับประทาน และทุกจังหวัดในภาคอีสานปลูก ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่การแข่งขันในจังหวัด แต่เป็นการแข่งขันในภาคและประเทศ
.
ประกอบกับปัจจุบัน ช่องทางออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งด้านการสั่งซื้อและขนส่ง ทำให้ร้านค้าหรือแบรนด์ที่ให้คุณภาพสินค้าและบริการที่ดีกว่า ทำการตลาดได้ตรงความต้องการมากกว่า สามารถดึงกลุ่มลูกค้าไปได้โดยง่าย
.
ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีดัชนีความเสี่ยงสูงก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นธุรกิจที่ไม่น่าลงทุนเสมอไป หากเรารู้ปัญหาและสามารถทำลายข้อจำกัดต่าง ๆ เหล่านั้นได้ ก็อาจเป็นโอกาสในการทำธุรกิจในจังหวัดนั้นด้วย
.
ยกตัวอย่าง จังหวัดนครพนม หากลองไปดูเนื้อที่เก็บเกี่ยวและผลผลิตข้าวนาปี (ปีเพาะปลูก 2563/64) พบว่า มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 1.44 ล้านไร่ ให้ผลผลิต 5.04 แสนตัน หรือคิดเป็นผลผลิตที่เก็บได้ต่อไร่เท่ากับ 350 กก./ไร่ ซึ่งถือว่าสูงกว่าหลายจังหวัดในภูมิภาค และจะช่วยเรื่องความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากประหยัดต่อขนาด (มีวัตถุดิบผลิตสินค้าจำนวนมากพอจนได้ต้นทุนที่ต่ำ) อีกทั้งพันธุ์ข้าวที่ผลิตส่วนใหญ่ก็เป็นข้าวเจ้าหอมมะลิ และข้าวเหนียว ที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว
.
หรือในด้านการส่งออก จังหวัดนครพนมก็ยังมีความได้เปรียบด้านการส่งออกชายแดน-ผ่านแดน มากกว่าหลายจังหวัดในภูมิภาค เนื่องจากมีด่านศุลกากรในพื้นที่ (ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า)
.
ดังนั้น หากธุรกิจรู้จักปรับปรุง พัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงมีการทำการตลาดที่ดี เมื่อรวมกับปัจจัยสนับสนุนอย่างการมีแหล่งวัตถุดิบในพื้นที่ และช่องทางการค้าที่เอื้ออำนวย เชื่อว่าจากความเสี่ยงจะเปลี่ยนเป็นโอกาสที่ช่วยให้สินค้าขายได้มากขึ้น
.
.
อ้างอิงจาก: https://kku.world/yzi0j
https://kku.world/bv05k
https://kku.world/ym805
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ดัชนีความเสี่ยง #ข้าว

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top