อาชีพหลัก vs รายได้หลักของคนอีสาน

ในอดีตดินแดนอีสานผู้คนกล่าวขานถึงความแห้งแล้งและยากจน แต่ในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก พื้นที่เหล่านี้กลับกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรสำคัญของประเทศ
.
คนอีสานกว่า 3.57 ล้านครัวเรือนประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก พื้นที่กว่า 63.9 ล้านไร่เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ประกอบด้วยพื้นที่ทำนา 41.7 ล้านหรือคิดเป็น 65% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด
.
ถึงอย่างนั้นอาชีพเกษตรกรก็นับว่าเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงแต่ผลตอบแทนต่ำ (high risk, low return) ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ ระบบการผลิต กลไกราคา และอื่น ๆ อีกมากมาย
.
สาเหตุสำคัญที่ทำให้รายได้ของเกษตรกรอีสานต่ำ
.
1. ผลผลิตต่อไร่ต่ำ จากข้อจำกัดทางกายภาพของภาคอีสาน ที่มีแหล่งชลประทานน้อยครอบคลุม พื้นที่การเกษตรเพียงร้อยละ 9.8 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด บางพื้นที่ประสบกับภัยแล้งซ้ำซาก การมีดินเค็มมากถึง ร้อยละ 30.2 ของพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ
.
2. ต้นทุนการผลิตสูง ต้นทุนการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคอีสาน ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.8 ต่อปี ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.4 ต่อปี ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย
.
3. เกษตรกรรายย่อยไม่มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง เนื่องจากต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างขาย ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพแตกต่างกัน และมีผลผลิตในจำนวนไม่มากนัก เมื่อขายออกสู่ท้องตลาดจึงถูกกดราคาผลผลิตให้ต่ำ
เหล่าเกษตรกรเลือกที่จะผลักดันลูกหลานออกจากระบบเกษตร ให้ไปแสวงหาอาชีพอื่นที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าและรายได้ดีกว่า อาทิ แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ไปจนถึงภาคบริการและรับจ้าง เมื่อดูจีดีพีรายภูมิภาค พบว่ามีสัดส่วนรายได้ที่มาจากนอกภาคการเกษตรกรรมสูงถึงร้อยละ 81 ส่วนภาคเกษตรมีเพียงร้อยละ 19 ในปี 2562
.
กิจกรรมที่มีสัดส่วนรายได้สูงสุดในอีสาน ได้แก่ ภาคการผลิตโรงงาน (Manufacturing) มีสัดส่วนร้อยละ 24 ภาคค้าส่งและค้าปลีก การซ่อมยานยนต์ฯ (Wholesale and retail trade and repair of motor vehicles) มีสัดส่วนร้อยละ 15 และภาคการศึกษา (education) มีสัดส่วนร้อยละ 12 รายได้หลักของคนอีสานจึงไม่ได้มาจากภาคเกษตรกรรม แต่มาจากนอกภาคเกษตรกรรม
.
ถึงแม้ภาคอีสานจะพึ่งพารายได้จากกิจกรรมนอกภาคเกษตรกรรมในสัดส่วนที่สูง แต่ยังคงเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ทั้งปัญหาเรื่องผลิตภาพที่ต่ำกว่าทุกภาค หรือปัญหาเชิงโครงสร้างที่อยู่กับคนอีสานมายาวนาน โดยเฉพาะในเรื่องของการกระจายรายได้
.
เป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการสร้างงานใหม่ ๆ ที่มีรายได้ สร้างความมั่นคงทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ดึงคนที่มีคุณภาพ มีความรู้กลับมาทำงานที่ภูมิลำเนาเพื่อเพิ่มผลิตภาพ แทนที่จะย้ายไปทำงานที่กรุงเทพฯ นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้มากขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจอีสานให้เติบโตต่อไปได้
.
.
หมายเหตุ: จำนวนครัวเรือนเกษตร เป็นจำนวนครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียนสะสมถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2564
พื้นที่ทำการเกษตร ข้อมูลปี 2560, ข้อมูลรายได้ภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร ข้อมูลปี 2562 เป็นข้อมูลเบื้องต้น

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top