เวียดนามจ่อลดขนาดหน่วยงานรัฐ ท่ามกลางเป้าหมายในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น

ฮู้บ่ว่า เวียดนาม ตั้งเป้าหมายใหม่ ลดขนาดหน่วยงานภาครัฐลง 20% เพื่อลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ และจัดสรรงบประมาณไปที่การลงทุนในโครงการมากขึ้น โดยคาดว่ามีหลายหน่วยงานถูกยุบและบุคคลากรของรัฐจำนวนมากได้รับผลกระทบ “ หากเปรียบเทียบกับบริบทของประเทศไทย เป็นอย่างไรบ้าง? “

 

.

เวียดนามปฏิรูประบบราชการ ผ่านแผนการลดขนาดหน่วยงานรัฐลง 20% 

รัฐบาลเวียดนามเริ่มดำเนินการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ โดยตั้งเป้าลดขนาดหน่วยงานของรัฐลง 20% เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ ลดหนี้สาธารณะ และเพื่อเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในโครงการของภาครัฐ รวมถึงช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการบริหาร

 

.

ขนาดของภาครัฐไทยเปรียบเทียบกับเวียดนาม

จากข้อมูลล่าสุดพบว่า ไทยมีบุคลากรภาครัฐ 2.81 ล้านคน ขณะที่เวียดนามมี 2.00 ล้านคน นอกจากนี้ หากพิจารณาสัดส่วนการใช้จ่ายภาครัฐ พบว่า ไทยใช้จ่ายภาครัฐสูงถึง 21% ของ GDP ในปี 2566 โดยแบ่งเป็นการบริโภคของรัฐบาล 17% และการลงทุนในภาครัฐ 4.4% เวียดนามใช้จ่ายเพียง 18% ของ GDP แต่มีสัดส่วนการลงทุนในภาครัฐมากกว่าไทยโดยที่เกินครึ่งของค่าใช้จ่ายของภาครัฐบาล เป็นการลงทุนในภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เมื่อรวม รัฐวิสาหกิจ ภาครัฐของเวียดนามกลับมีขนาดใหญ่กว่าไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่เวียดนามมีรัฐวิสาหกิจมากกว่า 2,200 แห่ง และมีพนักงานกว่า 1.5 ล้านคน ในขณะที่ไทยมีเพียง 52 แห่ง และมีพนักงานราว 230,000 คน เท่านั้น

 

.

ทำไมเวียดนามต้องลดขนาดภาครัฐ?

ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้เวียดนามผลักดันการปฏิรูประบบราชการ เป็นผลมาจากเป้าหมายในการจัดสรรงบประมาณเพื่อลงทุนในโครงการต่างๆให้มากขึ้น รวมถึงลดการขาดดุลงบประมาณและระดับหนี้สาธารณะลง สำหรับเป้าหมายในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 8% อีกทั้งการยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ และการเปิดพื้นที่ให้ภาคเอกชนสามารถเติบโตและเข้ามามีบทบาทในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้มากขึ้น รวมถึงยังสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติผ่านการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและการลดอุปสรรคจากความซ้ำซ้อนและกฎระเบียบของภาครัฐ

 

.

แนวทางปฏิรูปของเวียดนาม

ลดจำนวนแผนกและฝ่ายงานภายในกระทรวง รวมถึงลดจำนวนข้าราชการ ผ่านการเกษียณก่อนกำหนด หรือโอนย้ายไปยังภาคเอกชน รวมถึงมีการยุบและควบรวมหน่วยงานที่มีบทบาทซ้ำซ้อน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นเวียดนามจะมีการยุบหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจ ผ่านการปิดกิจการสถานีโทรทัศน์ 5 ช่อง ผู้ผลิตหนังสือพิมพ์และนิตยสารอีกราวๆ 19 บริษัท รวมถึงการควบรวมกระทรวงและหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงวางแผนและการลงทุนจะอยู่ในกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจะถูกรวมอยู่ในกระทรวงเกษตร เป็นต้น 

 

.

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

เวียดนามได้อานิสงส์จากการลดภาระงบประมาณ ทำให้มีงบเพิ่มเติมสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สร้างเสถียรภาพทางการเงิน เพิ่มความสามารถในการจัดสรรงบประมาณ รวมถึงเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ จากโอกาสที่ให้ภาคเอกชนได้เติบโต

 

แต่ในขณะเดียวกัน ผลกระทบอาจทำให้เกิดการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจากการถูกปลดของแรงงานในภาครัฐซึ่งนำไปสู่แรงต้านจากกลุ่มข้าราชการและรัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวแม้ว่าจะมีการชดเชยรองรับแล้ว อีกทั้งอาจเป็นอุปสรรคในการทำตามเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต้องการ จากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่อาจเกิดความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจขึ้นได้ หากการดำเนินการปฏิรูปถูกจัดการได้ไม่มีประสิทธิภาพ

 

.

ไทยควรพิจารณานโยบายปรับลดขนาดภาครัฐเช่นเดียวกับเวียดนามหรือไม่?

ด้วยโครงสร้างภาครัฐของไทยยังค่อนข้างใหญ่กว่าเวียดนาม โดยมีบุคลากรมากกว่าของเวียดนามถึง 40%

หากไม่นับรวมรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งไทยใช้ยังมีการใช้งบประมาณภาครัฐในสัดส่วนต่อ GDP ที่สูงกว่า ซึ่งในสัดส่วนที่มากเป็นการใช้จ่ายเพื่อบริโภคของภาครัฐ

 

แต่ด้วยบริบทที่ต่างกันทั้งในแง่ของโครงสร้างของภาครัฐ ระบบราชการ โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน รวมถึงงบประมาณด้านสวัสดิการที่ไทยมีสวัสดิการทางสังคมที่สูงกว่า ส่งผลให้การปฏิรูประบบราชการเฉกเช่นเดียวกันกับเวียดนามนั้น สามารถนำไปสู่ผลกระทบที่รุนแรงกว่า และอาจมีประสิทธิภาพที่น้อยกว่าเมื่ออยู่ในบริบทของประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันการปรับปรุงเพื่อยกระดับระบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอาจทำได้ผ่านการลดขนาดข้าราชการแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อปรับปรุงโครงสร้างที่ซ้ำซ้อนที่นำไปสู่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่มาก รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัย และการพัฒนาการจัดสรรทรัพยากรของรัฐให้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น

พามาเบิ่ง GDP ย้อนหลัง 35 ปี ของอีสานบ้านเฮาและเพื่อนบ้าน GMS

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top