ในปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการแจกเงินสดมูลคต่า 10,000 บาทให้แก่ประชาชนในกลุ่มเปราะบาง หรือผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้พิการ จำนวน 14.5 ล้านคนทั่วประเทศไทย เป็นเงินมูลค่ากว่า 145,552.40 ล้านบาท โดยที่รัฐบาลหวังว่าโครงการในระยะแรกนี้จะสามารถกระตุ้น GDP ไทยในปี พ.ศ. 2567 ได้ 0.35% ล่าสุดทาง World Bank ได้มีการออกรายงาน “THAILAND ECONOMIC MONITOR UNLEASHING GROWTH: INNOVATION, SMES AND STARTUPS FEBRUARY 2025” โดยมีการประเมินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะแรกว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.3% ใกล้เคียงกับความคาดหวังของรัฐบาล แต่ทั้งนี้แม้ตัวเลขจะดูสวยงามเป็นไปดั่งที่รัฐบาลคาดหวังไว้แต่หากพิจารณาภาพรวมแล้วจะพบว่าต้นทุนทางการคลังที่ใช้ไปในการกระเศรษฐกิจครั้งนี้มีมูลค่าสูงถึง 145,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.8% ของ GDP ประเทศไทย นั่นหมายความว่าแม้โครงการนี้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามรัฐบาลหวังก็จริง แต่เป็นการกระตุ้นที่ใช้เงินลงทุนสูงแต่ได้ผลตอบแทนกลับมาไม่คุ้มค่าเท่ากับที่ลงทุนไป
อีกทั้ง จากรายงาน “Thailand: 2024 Article IV Consultation-Press Release; Staff Report; and Statement by the Executive Director for Thailand” โดย IMF ยังคงได้มีการแนะนำรัฐบาลว่า IMF ได้วิเคราะห์ว่าหากนำงบประมาณที่ใช้ในโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลไปลงทุนในด้านอื่น เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและกายภาพ หรือการศึกษา อาจช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีกว่าในระยะยาว เมื่อเทียบกับการแจกเงินโดยตรง
ทั้งนี้ ทาง World Bank และ IMF ได้มีการคาดการณ์ GDP ประเทศไทยว่ายังคงเติบโตต่ำกว่า 3% การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีมานาน นอกจากนี้ แรงกดดันจากทั้งภายในและภายนอกประเทศยังส่งผลให้เงินเฟ้อลดลง ขณะเดียวกัน แนวโน้มเศรษฐกิจก็ยังคงไม่แน่นอนและเผชิญกับความเสี่ยงด้านลบที่สำคัญ โดยทาง World Bank และ IMF ได้มีการคาดการณ์ไว้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันที่ 2.6% และ 2.7% ตามลำดับ โดยทาง World Bank เน้นว่าการปฏิรูปโครงสร้างเป็นสิ่งสำคัญเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและกระตุ้นการเติบโตในระยะยาว หากไม่มีการปฏิรูปนโยบายอย่างเร่งด่วน คาดว่าอัตราการเติบโตของไทยจะลดลงจากค่าเฉลี่ย 3.2% (ช่วงปี 2554-2564) เหลือ 2.7% (ช่วงปี 2565-2573) ซึ่งอาจขัดขวางเป้าหมายในการเป็นประเทศรายได้สูง อีกทั้ง IMF แนะนำให้นโยบายการคลังของไทยเน้นการสร้าง “พื้นที่ทางการคลัง” ใหม่ โดยในปีงบประมาณ 2568 ควรใช้แนวทางการคลังที่ไม่ขยายตัวมากเกินไป (Less Expansionary Fiscal Stance) เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจพร้อมกับรักษาพื้นที่ทางการคลังไว้ จากนั้นเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2569 ควรดำเนินการรัดเข็มขัดทางการคลังในระยะกลาง โดยเน้นการปรับปรุงรายได้ (Revenue-Based Medium-Term Fiscal Consolidation) เพื่อช่วยลดหนี้สาธารณะและสร้างกันชนทางการคลังใหม่ให้กับประเทศ
หากพิจารณาภาพรวมของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะแรกจะพบว่า โครงการนี้ความคาดหวังของทางรัฐบาลคือการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ถือบัตรสวัสดืการแห่งรัฐ และบัตรคนพิการเพื่อเป็นการช่วยเหลือจุนเจือค่าใช้จ่ายต่างๆในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ โครงการนี้เดิมทีจะเป็นการให้ “เงินดิจิทัล “ผ่านแอพพลิเคชั่น แต่ว่าในการปฏิบัติจริงกลับมีการเปลี่ยนเป็น “เงินสด” แทนหากมองในด้านของความคล่องตัว และความสะดวกในการใช้งานไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเป็นตัวเลือกที่ถูกต้องแล้ว แต่หากมองในด้านของการรั่วไหล หรือมีความตรงต่อจุดประสงค์การใช้งานที่รัฐบาลคาดหวังไว้หรือไม่คงไม่สามรถตอบได้ซะทีเดียว เพราะหากพิจารณาจากผู้ที่ได้รับเงินหมื่นแล้วนั้นจะพบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในภาคอีสานจากทั่วประเทศ 14.5 ล้านคน เป็นคนอีสานไปแล้วมากถึง 5.9 ล้านคน โดยจากบทวิเคราะห์เดือนตุลาคม 2567 ของทาง ISAN Insight & Outlook ได้มีการทำแบบสำรวจในภาคอีสาน และพบว่า ส่วนใหญ่ของผู้ที่ได้รับเงินนั้นนอกจากจะนำเงินส่วนหนึ่งไปใช้ในการอุปโภคบริโภคตามที่รัฐบาลมีการคาดหวังไว้ก็จริง แต่ส่วนหนึ่งอีกกว่า 21% ในกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ และ 75% ในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง ได้มีการนำเงินส่วนนี้ไปใช้ในการชำระหนี้สินต่างๆที่มีอยู่ หรือกล่าวคือนี้คือส่วนรั่วไหลที่ไม่ได้อยู่ในความคาดหวังของรัฐบาล และไม่สามารถควบคุมได้เนื่องจากเงินในโครงการนี้ได้เปลี่ยนเป็นการให้เงินสดแทน
รูปที่ 1 การประมาณการผู้ได้รับเงินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 ทั่วประเทศ
ที่มา: บทวิเคราะห์ไตรมาส 3/2567 โดยทาง ISAN Insight & Outlook
อีกทั้งส่วนใหญ่ได้มีการนำเงินไปใช้จ่ายในร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่ซึ่งเป็นการทำให้เงินหมุนเวียนเข้าไปสู่ผู้ประกอบการรายใหญ่ มากกว่าที่จะเป็นการหมุ่นเวียนเงินให้กลุ่มชาวบ้าน หรือผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่น ซึ่งอาจผิดวัตถุประสงค์ของทางรัฐบาลเช่นกัน
รูปที่ 2 จำนวนร้านค้าที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 ในภาคอีสาน
ที่มา: บทวิเคราะห์ไตรมาส 3/2567 โดยทาง ISAN Insight & Outlook
แม้ว่าโครงการนี้จะมีคำติชมมากมายเกี่ยวกับความเหมาะสมของโครงการ แต่ในช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้มีการดำเนินการแจกเงินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุทั่วประเทศแล้ว ทั้งนี้หากมองในด้านของความครอบคลุม จะพบว่า จากจำนวนผู้สูงอายุทั่วประเทศกว่า 13 ล้านราย หากลบจำนวนผู้สูงอายุที่ได้รับเงินในระยะแรกที่เป็นผู้เปราะบางออกไปประมาณ 5 ล้านราย จะพบว่าประมาณการผู้สูงอายุที่ควรจะได้รับเงินในส่วนนี้ควรจะอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านราย ดังตารางที่ 1 แต่จากการรายงานพบว่าจาการคาดการของรัฐบาลในครั้งแรกจะมีการแจกเงินในกลุ่มนี้อนู่ที่ประมาณ 4 ล้านคน แต่จากการรายงานล่าสุดพบว่ามีการแจกเงินจริงๆเพียง 3 ล้านคนเท่านั้น ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากในจำนวน 8 ล้านคนไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าเกณฑ์ในการได้รับสิทธิ์ทุกคนทำให้มีจำนวนผู้สูงอายุหลายคนหายไป
ตารางที่ 1 จำนวนผู้สูงอายุทั่วประเทศ หักจำนวนผู้สูงอายุที่ได้รับเงินในระยะแรกที่เป็นผู้เปราะบางออก และคาดการณ์จำนวนผู้สูงอายุที่ได้รับเงิน
ภูมิภาค | จำนวนผู้สูงอายุ (คน) | คาดการณ์ผู้สูงอายุที่ได้รับเงินหมื่นระยะที่ 2 (คน) |
กรุงเทพและปริมณฑล | 1,597,772 | 586,991 |
ภาคเหนือ | 1,465,601 | 538,434 |
ภาคใต้ | 1,168,365 | 429,235 |
ภาคกลาง | 1,844,797 | 677,744 |
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ | 2,159,043 | 793,192 |
รวม | 8,235,578 | 3,025,596 |
ที่มา: กรมกิจการผู้สูงอายุ
รูปที่ 2 คาดการณ์ผู้จำนวนผู้สูงอายุในภาคอีสานที่ได้รับเงินโครงการกระตุเศรษฐกิจระยะที่ 2
ที่มา: กรมกิจการผู้สูงอายุ
หากมองในด้านของความครอบคลุมและจุดประสงค์ของรัฐบาลในการให้เงินกลุ่มนี้นั้นทางผู้เขียนมองว่าการแจกเงินในรอบนี้อาจไม่สามารถกระตุ้นหรือหวังผลได้มากเท่ากับในครั้งแรกที่มีการแจกเงินไปเนื่อจากความสามารถในการใช้จ่ายของกลุ่มผู้สูงอายุนั้นต่ำกว่าวัยทำงาน อีกทั้ง หากพิจารณาจากจำนวนผู้ที่ได้รับไปนั้นจะพบว่าไม่ใช่จำนวนที่มากมายซักเท่าไหร่จึงต้องมาพิจารณากันอีกครั้งในภายหลังว่า จุดประสงค์ของการแจกเงินให้กลุ่มผู้สูงอายุที่ทางรัฐบาลบอกว่า “เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้สูงอายุให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็น โดยการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นั้นจะช่วยได้จริงมากน้อยเพียงใด และตอบโจทย์ได้อย่างที่รัฐบาลคาดหวังไว้หรือไม่ หากมองในภาพรวมคงพูดได้ว่า “คงเป็นเหมือนในรอบแรกที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามรัฐบาลหวังก็จริง แต่เป็นการกระตุ้นที่ใช้เงินลงทุนสูงแต่ได้ผลตอบแทนกลับมาไม่คุ้มค่าเท่ากับที่ลงทุนไป” หากรัฐบาลมีการพิจารณานำเงินในส่วนนี้ไปจัดสรรเป็นงบประมาณไปใช้ในด้านอื่น หรือเปลี่ยนให้เป็นการลงทุนระยะยาวตามที่ IMF ได้มีการเสนอไว้จะมีความคุ้มค่ามากกว่ากันหรือไม่นั้นคงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันทั้งจากมุมมองฝั่งรัฐบาล และฝั่งที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกันต่อไป
อ้างอิง
- World Bank: https://documents1.worldbank.org/curated/en/099021125051038392/pdf/P5080791f9e0bc03b1ab8019753dc6998d3.pdf
- IMF: https://www.imf.org/en/News/Articles/2025/02/20/pr25040-thailand-imf-executive-board-concludes-2024-article-iv-consultation-with-thailand
- The STANDARD:
- https://thestandard.co/world-bank-thailand-gdp/
- https://thestandard.co/imf-rate-cut-advice/
- ISAN Insight & Outlook: https://isaninsight.kku.ac.th/wp-content/uploads/2024/11/Q3_2567.pdf
อะไรทำให้ เศรษฐกิจอีสาน ฟื้นตัวช้า คาดการณ์ การเติบโตต่ำกว่า 1%💼