ชื่อบริษัท | วัตถุประสงค์ | กำไร (ล้านบาท) | %YoY | รายได้ (ล้านบาท) | %YoY |
บริษัท มอนเดลีซ (ประเทศไทย) จำกัด | ผลิตและส่งออกหัวเชื้อผสมเครื่องดื่ม | 380 | -46.2 | 2,588 | -10.6 |
บริษัท อินฟุส เมดิคัล จำกัด | ผลิตเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ | 355 | 11.0 | 1,143 | 6.2 |
บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น จำกัด | โรงพยาบาล | 177 | 3.4 | 1,256 | 10.1 |
บริษัท ซีนเมล็ดพันธุ์ จำกัด | จัดการเมล็ดพันธุ์สำหรับการขยายพันธุ์ | 174 | 0.0 | 763 | 8.5 |
บริษัท โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จำกัด (มหาชน) | โรงพยาบาล | 173 | -6.4 | 1,150 | -2.4 |
บริษัท ขอนแก่นกรีนพาวเวอร์ จำกัด | การผลิตไฟฟ้า | 110 | 19.3 | 479 | -1.9 |
บริษัท โรงพยาบาลขอนแก่น ราม จำกัด | โรงพยาบาล | 106 | -48.2 | 853 | -11.5 |
บริษัท โค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด | จำหน่ายรถยนต์ใหม่ | 104 | -14.9 | 3,403 | -36.2 |
บริษัท ไทยไปป์อีสาน จำกัด | ผลิตและจำหน่ายท่อพีวีซี | 87 | 11.6 | 665 | 42.8 |
บริษัท แกรนด์ อินเตอร์ ฟูดส์ จำกัด | ผลิตอาหารปรุงสำเร็จ | 81 | 26.4 | 608 | 12.4 |
หมวดธุรกิจที่มีกำไรสูงในภาคอีสาน
- การผลิตลูกกวาดและขนมจากน้ำตาล
- โรงพยาบาลเอกชน
- การขายรถยนต์ใหม่
- การผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์
- การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า
เมื่อพูดถึงภาคอีสานจังหวัดแรกๆ ที่ผู้คนมักจะถูกนึกถึงก็คือ ขอนแก่น ไม่เพียงเพราะตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของภูมิภาคในเชิงภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ขอนแก่นยังมีบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์กลางของหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การศึกษา การแพทย์ การคมนาคมขนส่ง รวมถึงการเป็นศูนย์ราชการระดับภูมิภาค
บทบาทเหล่านี้ส่งผลให้ขอนแก่นกลายเป็นจังหวัดที่มีความเคลื่อนไหวของผู้คนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากประชากรในพื้นที่ นักศึกษา แรงงาน และนักลงทุนจากภายนอกที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย การสัญจรที่คล่องตัว และการเชื่อมโยงกับเมืองอื่นๆ ทั้งทางถนน ราง และอากาศ ที่ยิ่งตอกย้ำสถานะของขอนแก่นในฐานะเมืองศูนย์กลางของอีสาน
ข้อมูลในปี 2566 ระบุว่า ขอนแก่นมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) อยู่ที่ 225,107 ล้านบาท โดยภาคบริการมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในโครงสร้างเศรษฐกิจของจังหวัด คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 56.5% ของ GPP หรือราว 127,259 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นเมืองแห่งบริการที่หลากหลาย ทั้งการแพทย์ การศึกษา การเงิน การท่องเที่ยว และภาคบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน ขณะที่ภาคการผลิตมีสัดส่วน 32.2% ของ GPP แสดงถึงการมีฐานอุตสาหกรรมและโรงงานที่รองรับแรงงานจำนวนมาก รวมถึงการผลิตเพื่อส่งออกและเชื่อมโยงกับซัพพลายเชนระดับประเทศ ส่วนภาคเกษตรกรรม แม้จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 11.3% แต่ก็ยังมีบทบาทสำคัญในด้านปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจในชนบท โดยเฉพาะการผลิตวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมอาหารและสินค้าเกษตรแปรรูป สามารถกล่าวได้ว่า ขอนแก่นไม่เพียงเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในเชิงกายภาพ แต่ยังเป็นหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนภาคอีสานในเชิงเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่องและมั่นคง
นอกจากขอนแก่นจะเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และการคมนาคมของภาคอีสานแล้ว ศักยภาพที่โดดเด่นในด้านธุรกิจสุขภาพและการแพทย์ก็โดดเด่นไม่แพ้ภูมิภาคอื่นเช่นกัน สะท้อนผ่านตัวเลขกำไรของธุรกิจในพื้นที่ โดยธุรกิจที่มีมูลค่ากำไรสูงสุด 10 อันดับแรกในจังหวัดขอนแก่น พบว่า 4 ใน 10 บริษัทเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และโรงพยาบาล ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ที่น่าสนใจคือ กำไรของกลุ่มโรงพยาบาลจากขอนแก่นมีมูลค่ารวมประมาณ 570 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของกำไรธุรกิจโรงพยาบาลทั้งหมดในภาคอีสาน แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของขอนแก่นในฐานะแหล่งบริการทางการแพทย์ที่ทั้งสร้างรายได้และรองรับความต้องการของประชาชนในวงกว้าง โดยตัวเลขกำไรในส่วนนี้นั้นเป็นเพียงตัวเลขที่มาจากโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น ไม่ได้รวมโรงพยาบาลของรัฐหรือของมหาวิทยาลัย
ศักยภาพนี้ยังสะท้อนผ่านแผนการพัฒนาระดับมหภาค โดยจังหวัดขอนแก่นตั้งเป้าหมายเป็น Medical Hub ของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง เพื่อดึงดูดผู้ป่วยทั้งจากในประเทศและต่างประเทศให้เดินทางเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในผู้นำสำคัญที่ขับเคลื่อนเป้าหมายนี้คือ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้ลงทุนกว่า 4,300 ล้านบาทในการก่อสร้าง “ศูนย์การแพทย์ชั้นเลิศ” ที่จะทำให้โรงพยาบาลมีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยมากกว่า 5,000 เตียง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่อันดับต้นๆของโลก
ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยซึ่งเคยเติบโตอย่างแข็งแกร่งมานานกว่าทศวรรษ กำลังเผชิญสัญญาณการชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งจากตลาดในประเทศที่เริ่มอิ่มตัว และตลาดผู้ป่วยต่างชาติที่แม้ยังเป็นความหวัง แต่ก็เติบโตในอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งปรับกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อสร้างโอกาสใหม่ และรักษาเสถียรภาพทางรายได้ในระยะยาว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยและศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ต่างเห็นพ้องว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนได้ผ่านจุดพีคของการเติบโตมาแล้ว โดยหลังจากขยายตัวเฉลี่ยถึง 11.6% ต่อปีในช่วงปี 2555–2565 ธุรกิจกลับเริ่มชะลอลง โดยในปี 2566 ผลประกอบการหดตัวลง 0.6% และปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวเพียง 4% ซึ่งมาจากการปรับขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาลเป็นหลัก มากกว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เข้ารับบริการ
สำหรับปี 2568 ttb analytics คาดการณ์ว่า รายได้รวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะเติบโตเพียง 3% หรืออยู่ที่ประมาณ 3.3 แสนล้านบาท ท่ามกลางแรงกดดันสำคัญจากภาวะอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มเข้าสู่จุดอิ่มตัว เนื่องจากข้อจำกัดด้านโครงสร้างประชากร โดยเฉพาะอัตราการเกิดที่ลดลง และการที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพเชิงป้องกันมากขึ้นเพื่อลดความจำเป็นในการเข้ารักษา ทำให้รูปแบบธุรกิจที่เน้นการ “รักษา” แบบเดิมเริ่มไม่ตอบโจทย์การเติบโตในอนาคต
รายได้จากผู้ป่วยต่างชาติยังถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่มีศักยภาพ แต่ก็ไม่พ้นกระแสการชะลอตัว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ในปี 2567 รายได้กลุ่มนี้จะอยู่ที่ประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพียง 8.0–10.0% เมื่อเทียบกับการฟื้นตัวที่ร้อนแรงในช่วงหลังโควิด-19 ปัจจัยกดดันสำคัญ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และความไม่แน่นอนในตลาดหลักอย่างจีน โดยตลาดผู้ป่วยต่างชาติสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
- ผู้ป่วย Fly-in จากตะวันออกกลางและอาเซียน (กัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย) ซึ่งมีความต้องการเข้ารับการรักษาที่ซับซ้อนหรือเฉพาะทาง
- ผู้ป่วย EXPAT หรือชาวต่างชาติที่พำนักในไทย ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวในเขตเศรษฐกิจที่มีชาวต่างชาติและแรงงานต่างชาติจำนวนมาก เช่น ชลบุรี ระยอง และสมุทรปราการ
อย่างไรก็ดี การกลับมาของตลาดจีนยังต้องติดตามความเชื่อมั่นในการเดินทางและสภาพเศรษฐกิจจีนอย่างใกล้ชิด ขณะที่การแข่งขันจากประเทศในภูมิภาค เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์ ที่มีบทบาทเป็น Medical Hub ก็กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น
เมื่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เน้น “การตั้งรับรักษา” ไม่สามารถขับเคลื่อนการเติบโตได้อีกต่อไป ttb analytics เสนอให้โรงพยาบาลเอกชนปรับสู่กลยุทธ์เชิงรุก (Proactive Strategy) ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 3 แนวทางหลัก ได้แก่
1. เจาะตลาดบริการเฉพาะทาง (Specialized Medical Treatments)
เพื่อสร้าง “อุปสงค์ที่คาดเดาได้” (Predictable Demand) โดยเฉพาะกลุ่มบริการที่ตอบโจทย์สังคมสูงวัย เช่น โรคหัวใจ ไต กระดูกและข้อ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตลาดนี้สร้างรายได้รวมกว่า 9 หมื่นล้านบาทในปี 2566 และคาดว่าจะยังเติบโตในปี 2567
ด้านบริการเสริมความงามและเวชศาสตร์ชะลอวัยก็มีแนวโน้มดี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชายซึ่งมีอัตราการขยายตัวถึง 65% ในปี 2566 สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์และสุขภาพมากขึ้น
2. รุกตลาดเวชศาสตร์เชิงป้องกันและสุขภาพองค์รวม (Wellness & Preventive Care)
บริการในกลุ่มนี้สามารถสร้างอุปสงค์ใหม่ได้เองผ่านการทำตลาด และสามารถสร้างรายได้ในรูปแบบ “รายได้ประจำ” (Recurring Income) ที่มั่นคงในระยะยาว อีกทั้งยังตอบรับกับเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่เน้นป้องกันมากกว่าการรักษา
3. ขยายบริการสู่ตลาดภูมิภาค
ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเริ่มเผชิญจุดอิ่มตัว รายได้ในปี 2566 หดตัวลง 1% ตลาดภูมิภาคกลับเติบโต 4.7% โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวหรือหัวเมืองใหญ่ที่รายได้ประชากรเพิ่มขึ้น เช่น ภูเก็ต (+23.3%), ระยอง (+10.2%), นครราชสีมา (+9.8%) และเชียงใหม่ (+9.1%) ซึ่งยังมีช่องว่างในการรองรับอุปสงค์จากทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ
นอกเหนือจากการแข่งขันและข้อจำกัดเชิงโครงสร้างแล้ว ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยังต้องเผชิญความท้าทายใหม่จาก นโยบาย Co-payment ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 โดยเปลี่ยนรูปแบบการเคลมประกันให้ผู้เอาประกันต้องร่วมจ่ายค่ารักษา อาจส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจเข้ารับการรักษาที่ไม่จำเป็น และกระทบต่อรายได้ของโรงพยาบาลที่พึ่งพารายได้จากประกันและผู้ป่วยในเป็นหลัก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 50–55% ของรายได้รวม
ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยกำลังเข้าสู่ “ยุคแห่งความท้าทาย” ที่ไม่สามารถพึ่งพาโมเมนตัมจากอดีตได้อีกต่อไป การเติบโตในอนาคตจะไม่สามารถเกิดขึ้นจาก “จำนวนคนไข้” ที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัย การปรับกลยุทธ์เชิงรุก ทั้งการเจาะตลาดต่างชาติ การขยายบริการเฉพาะทาง และการขยายพื้นที่สู่ตลาดภูมิภาค ควบคู่กับการบริหารต้นทุนและเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายอย่าง Co-payment เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
อ้างอิง
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- ศูนย์วิจัยทีทีบี
- MGROnline