

.
ISAN Insight พาไปดู
เศรษฐกิจของเมียนมาว่าน่าเป็นห่วงขนาดไหน
.
จากข้อมูลของธนาคารโลกพบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเมียนมาในปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2568 คาดว่าจะหดตัวลง 1% จากที่เคยคาดการณ์ว่าจะเติบโต 1% โดยสาเหตุก็เพราะเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เมียนมาก็เจอพายุไต้ฝุ่นยางิพัดถล่มซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก
.
ขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมายังคงประเมินว่าเศรษฐกิจจะเติบโตที่ 3.8% อย่างไรก็ตาม หลังเกิดแผ่นดินไหว คาดว่าจะต้องมีการประเมินใหม่อีกครั้ง
.
ธนาคารโลกยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเมียนมาจะหดตัวในปีงบประมาณปัจจุบัน เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงเฉลี่ยที่ 26% ต่อปี โดยตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดยังชี้ให้เห็นว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจของเมียนมาในปี 2025 จะลดลงประมาณ 11% เมื่อเทียบกับปี 2019 และการหดตัวของเศรษฐกิจส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรัฐประหารในปี 2021 ซึ่งนำไปสู่สงครามกลางเมืองที่รุนแรงขึ้นทั่วประเทศ
.
ในขณะที่สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ คาดการณ์ความเสียหายทางเศรษฐกิจของเมียนมาจากแผ่นดินไหวอาจสูงถึง 10,000-100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นความเสียหายสูงสุด 70% ของ GDP เมียนมาเลยทีเดียว และความเสียหายเหล่านี้ ต้องใช้งบประมาณมหาศาลเข้ามาดูแล
.
แต่รัฐบาลทหารเมียนมาจะมีความสามารถมากน้อยเพียงใด ในเมื่อเวลานี้ เศรษฐกิจของเมียนมาก็ตกอยู่ในสภาพ “พังพินาศ” ไม่ได้ต่างจากโครงสร้างพื้นฐานหรืออาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว
พามาฮู้จัก รอยเลื่อนสะกาย ยักษ์หลับกลางเมืองพม่า ต้นเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ สะเทือนแรงถึงไทย
สถานการณ์หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา
ยังคงอยู่ในระดับวิกฤต ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งทะลุ 2,700 ราย ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บก็เกิน 4,500 คน โดยบริเวณที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศ มีประชากรมากกว่า 1.7 ล้านคน เนื่องจากเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวที่ของรอยเลื่อนสะกาย และมีการคาดการณ์ว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจสูงมากกว่า 10,000 คน เนื่องจากยังมีอาคารมากมายที่ยังไม่สามารถกู้ซากปรักหักพังได้
.
สำหรับในเมืองมัณฑะเลย์ ผู้คนมากมายต่างต้องอาศัยท้องถนนเพื่อการพักพึง และอยู่ด้วยความหวาดผวา อีกทั้งยังต้องเผชิญหน้ากับอนาคตที่ไม่แน่นอน เนื่องจากอาหารกำลังขาดแคลน และไม่มีไฟฟ้าและน้ําประปา
.
นอกจากนี้ถุงศพมีความจำเป็นอย่างสูงที่ต้องการเพิ่มเติมสําหรับบรรจุศพที่เหล่ากู้ภัยกําลังดึงร่างของผู้เสียชีวิตจากซากอาคาร ซึ่งผู้คนที่อยู่ในประเทศเมียนมาตอนนี้ให้ข้อมูลว่ากองทัพไม่ได้ทําอะไรเพื่อช่วยเหลือประชาชนเลย
.
ขณะที่ความช่วยเหลือจากนานาชาติทั้ง จีน อินเดีย ไทย มาเลเซีย รัสเซีย และสิงคโปร์ก็เริ่มมาถึงเช่นกัน แต่ยังคงมีคําถามว่ากองทัพเมียนมาจะแจกจ่ายความช่วยเหลือที่จําเป็นมากนี้ให้ถึงมือประชาชนได้อย่างไร ซึ่งส่วนหนึ่งของทีมกู้ภัยและเสบียงอาหารจากสิงคโปร์และอินเดีย ได้ส่งไปยังกรุงเนปิดอว์ ซึ่งเป็นเมืองหลวง ซึ่งเป็นที่ที่นายพลของกองทัพอาศัยอยู่และได้รับผลกระทบน้อยกว่ามัณฑะเลย์
รัฐบาลทหารพม่าออกคำสั่ง ห้ามสื่อต่างชาติเข้าไปรายงานข่าวแผ่นดินไหว
วันที่ 1 เมษายน 2568 นายพลจัตวาซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา (พม่า) แถลงว่า รัฐบาลมีคำสั่งห้ามนักข่าวต่างชาติเข้าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ โดยให้เหตุผลว่ามีปัญหาเรื่องที่พัก ไฟฟ้าดับ และการขาดแคลนน้ำสำหรับรองรับผู้มาเยือน
โฆษกฯ กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่นักข่าวต่างชาติจะเดินทางมา พักอาศัย หรือเดินทางในพื้นที่เหล่านี้ และรัฐบาลต้องการให้ทุกคนเข้าใจเรื่องนี้
โดยการสั่งห้ามผู้สื่อข่าวเช้าไปทำข่าวสร้างความกังวลเกี่ยวกับความโปร่งใสของรัฐบาลทหารพม่า เนื่องจากนักข่าวท้องถิ่นก็เผชิญกับข้อจำกัดอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว หลายฝ่ายยังกล่าวหาว่ารัฐบาลทหารขัดขวางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไม่ให้เข้าถึงบางพื้นที่ที่อยู่นอกการควบคุมของตน
ขณะที่ประชาคมโลกเรียกร้องให้มีการเปิดทางให้สื่ออิสระและเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์เข้าถึงพื้นที่ประสบภัยโดยไม่มีข้อจำกัด หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.7 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักทั่วประเทศ
ขณะเดียวกัน สื่ออิสระของเมียนมาส่วนใหญ่ ถูกกองทัพบังคับให้ลี้ภัยจากการปราบปรามของกองทัพ กำลังรายงานข่าวจากพื้นที่ห่างไกล โดยอาศัยรายงานจากประชาชนในพื้นที่และนักข่าวใต้ดินภายในประเทศ
สอดคล้องกับสำนักข่าวบีบีซี ที่รายงานว่า รัฐทหารเมียนมาควบคุมสื่อวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ และออนไลน์ในท้องถิ่นเกือบทั้งหมด และ การใช้งานอินเทอร์เน็ตยังถูกจำกัด
สัญญาณมือถือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนั้นไม่ทั่วถึง ผู้คนหลายหมื่นคนไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยนักข่าวต่างชาติ ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศอย่างเป็นทางการ