🧑🏻⚕️🥼🩺ในปี 2566 หากมาดูจำนวนแพทย์ทั่วภาคอีสานจะพบว่า มีจำนวนแพทย์ทั้งหมด 8,447 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 290 คน ซึ่งในปี 2565 มีจำนวนแพทย์ทั้งหมด 8,157 คน ขณะที่ประชากรในภาคอีสานมีมากถึง 21.7 ล้านคน ทำให้ภาคอีสานมีสัดส่วนประชากร 2,565 คน ต่อแพทย์ 1 คน ซึ่งถือว่ามีตัวเลขที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก เพราะ WHO หรือองค์การอนามัยโลกได้แนะนำสัดส่วนมาตรฐานเอาไว้ โดยกำหนดว่าสัดส่วนที่เหมาะสมคือ แพทย์ 1 คนต่อจำนวนประชากร 1,000 คน นั่นเอง
🧑🏻⚕️5 อันดับจังหวัดที่มีแพทย์มากที่สุดในอีสาน
อันดับที่ 1 ขอนแก่น มีจำนวน 1,647 คน
อันดับที่ 2 นครราชสีมา มีจำนวน 1,243 คน
อันดับที่ 3 อุบลราชธานี มีจำนวน 803 คน
อันดับที่ 4 อุดรธานี มีจำนวน 586 คน
อันดับที่ 5 บุรีรัมย์ มีจำนวน 504 คน
🏥🧑🏻⚕️ขอนแก่น…ผู้นำทัพ “หมออีสาน” สู่เป้าหมาย Medical Hub โอกาสและความท้าทายบนเส้นทางศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ
จากข้อมูลจำนวนแพทย์ใน 5 จังหวัดหลักของภาคอีสาน จะเห็นได้ว่าจังหวัดขอนแก่นมีจำนวนแพทย์ที่สูงสุดถึง 1,647 คน ทิ้งห่างจังหวัดใหญ่อื่นๆ อย่างนครราชสีมาและอุบลราชธานีอย่างเห็นได้ชัด โดยปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ขอนแก่นก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในด้านนี้ คือการเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาชั้นนำที่ผลิตบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่และมีความเชี่ยวชาญสูง อย่างเช่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น
การมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้มแข็งเช่นนี้ ถือเป็นรากฐานสำคัญที่แข็งแกร่งในการผลักดันให้ขอนแก่นก้าวไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาตั้งแต่ปี 2558 และมีแผนยุทธศาสตร์รองรับอย่างชัดเจน (พ.ศ. 2560-2569) การเป็น Medical Hub ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การมีจำนวนแพทย์ที่มากเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงศักยภาพในการให้บริการทางการแพทย์ที่ครบวงจร ตั้งแต่การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานไปจนถึงการรักษาเฉพาะทางขั้นสูง การมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย การมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา รวมถึงการมีระบบสนับสนุนด้านสุขภาพอื่นๆ ที่ได้มาตรฐานระดับสากล
ในขณะที่จำนวนแพทย์ในจังหวัดอื่นๆ ในกลุ่มท้ายตารางอย่างบึงกาฬ อำนาจเจริญ และหนองบัวลำภู นับว่ามีจำนวนแพทย์น้อยมาก ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาการกระจายตัวของบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่สมดุลในภูมิภาคอีสาน แม้ว่าจะมีจังหวัดที่เป็น “หัวเมือง” ที่มีจำนวนแพทย์หนาแน่น แต่จังหวัดรอบนอกหรือพื้นที่ห่างไกลอาจเผชิญกับภาวะขาดแคลนแพทย์อย่างแท้จริง
วิกฤต “แพทย์ไม่พอ” ในอีสาน โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดข้างต้นนี้ นับว่าเป็นสถานการณ์น่าเป็นห่วงที่สุดนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบสาธารณสุขและชีวิตของประชาชน การเข้าถึงการรักษาที่ล่าช้า คุณภาพการรักษาที่อาจลดลง และความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการ เป็นผลกระทบที่น่ากังวลอย่างยิ่ง
🥼🩺โรงเรียนแพทย์อีสานกับการเติมเต็มช่องว่างบุคลากรทางการแพทย์
โรงเรียนแพทย์ในภาคอีสานที่แพทยสภารับรอง มีดังนี้
📍คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
📍คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
📍สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
📍วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
การมีคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของภาคอีสาน ถือเป็นสัญญาณแห่งความหวังในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การผลิตแพทย์เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องมีกลไกและนโยบายที่ส่งเสริมการกระจายตัวของแพทย์ไปยังพื้นที่ที่ยังขาดแคลนอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม แผนการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม เพื่อผลิตแพทย์เพิ่มเติม ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ที่อาจยังเข้าถึงบริการได้ยาก การลงทุนในการศึกษาด้านการแพทย์ในระดับภูมิภาคจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุขของภาคอีสานในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจำนวนประชากรต่อแพทย์ในภาคอีสาน สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ระหว่างจังหวัด แม้ว่าจะมีจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางที่มีจำนวนแพทย์มาก แต่หลายพื้นที่ยังคงเผชิญกับความท้าทายในการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ในการวางแผนและดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมการผลิตและกระจายบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนทุกคนในภาคอีสานสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมนั่นเอง
อ้างอิงจาก:
– สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่
https://linktr.ee/isan.insight
#ISANInsightAndOutlook #อีสานอินไซต์ #หมออีสาน #แพทย์ในอีสาน #สัดส่วนแพทย์ #แพทย์ #หมอ #หมอไม่พอ #วิกฤตสาธารณสุข #อีสาน #บุคลากรทางการแพทย์ #สุขภาพคนอีสาน #ช่วยหมออีสาน