ภาคอีสานถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีประชากรมากที่สุดและมีการพึ่งพาเศรษฐกิจฐานรากเป็นหลัก ทั้งด้านการเกษตร การบริโภคภายในประเทศ
ข้อมูลจากธนาคารเเห่งประเทศไทย เผยดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (Private Consumption Index : PCI) ของประเทศไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและอยู่เหนือระดับก่อนโควิด-19 แล้ว ขณะที่ การบริโภคภาคเอกชนของภูมิภาคค่อย ๆ ฟื้นตัวและยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิด-19 โดยภาคอีสานฟื้นตัวช้ากว่าทุกภูมิภาค
โดยการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3 ในปี 2567 มีแนวโน้มหดตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า จากการใช้จ่ายสินค้า ประเภทกึ่งคงทนและคงทนที่มีแนวโน้มลดลง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
การบริโภคภาคเอกชนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอีสาน เป็นตัวชี้ทิศทางการอุปโภคบริโภคหรือการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ภาคธุรกิจ และรวมถึงการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งแสดงถึงกำลังซื้อโดยรวมของภาคเอกชน
หากการบริโภคลดลงย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนก็เป็นอีกภาพสะท้อนหนึ่งที่เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าคนในพื้นที่นั้นมีเงินสําหรับการจับจ่ายใช้สอยมากเเค่ไหน ดังเช่นนั้นหากจะสํารวจหรือกล่าวถึงเหตุปัจจัยที่มีผลต่อกำลังซื้อคนอีสานในช่วงที่ผ่านมาและสร้างแรงกดดันต่อการบริโภคของคนอีสาน มีความสําคัญเเละจําเป็นที่ต้องคํานึงเเละพิจารณาถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของภาคอีสาน
รายได้
ทราบหรือไม่ว่ากว่า 58% ของครัวเรือนในภาคอีสานนั้นอยู่ในภาคการเกษตร เเละมีโครงสร้างของกําลังเเรงงานเเละเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้อง โดยมีเเรงงานอยู่ในภาคเกษตรเกินครึ่งเเต่กลับสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เพียงเเค่ 1 ใน 5 ของมูลค่าเศรษฐกิจในภูมิภาค เเละทราบหรือไม่ว่าอาชีพเกษตกรกลับเป็นกลุ่มอาชีพที่มีคนอยากจนมากที่สุดหากใช้เส้นความยากจนเป็นเกณฆ์โดย 10.62% ของเกษตกรเป็นคนยากจน ซึ่งสูงกว่า สัดส่วนเฉลี่ยของประเทศที่ 4.54% เป็นเท่าตัว
ปัญหาความยากจนดังกล่าวมีสาเหตุมาจากรายได้การเกษตรที่ต่ำ โดยเกษตกรมีรายได้เฉลี่ยจากการเกษตรเพียง 233.61 บาท/วัน ซึ่งตํ่ากว่าค่าเเรงขั้นตํ่าของจังหวัดที่มีค่าเเรงขั้นตํ่าที่สุด ซึ่งอยู่ที่ 332 บาท/วัน นอกจากรายได้น้อยการผลิตยังมีประสิทธิภาพต่ำ จากข้อมูลขององค์การเเรงงานระหว่างประเทศ ประสิทธิภาพการผลิตของเเรงงานภาคเกษตร(รายวัน) เกษตรกรไทยผลิตได้เพียง 8.74 ดอลลาร์ต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเเละเเปซิฟิกเป็นเท่าตัว เท่ากับว่าลงเเรงมากเเต่ได้ผลน้อย
โดยระดับรายได้ของเกษตกรที่น้อยเช่นนี้มิได้เกิดจากความขี้เกียจ หรือไร้สมรรถนะของเกษตรกรไปซะทีเดียว เเต่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ราคาผลผลิตตํ่าเเละผันผวน เกษตกรกําหนดเองไม่ได้ เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรเน่าเสียได้ง่าย และเกษตรกรมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรจึงมักถูกบีบให้ขายผลผลิตในราคาต่ำ เกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนในการทำเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในครัวเรือนที่ปลูกข้าวและมันสำปะหลัง ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นน้อยกว่าต้นทุน
การทําการเกษตรมีต้นทุนเเละความเสี่ยงสูง เช่น ด้านความเสี่ยงจากสภาพอากาศ โดยในภาคอีสานมีพื้นที่ชลประทานเพียงร้อยละ 7.8 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด จึงต้องพึ่งพิงน้ำฝนเป็นหลักเมื่อสภาพภูมิอากาศแปรปรวนย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตและรายได้เกษตรกรที่จะนำไปใช้เพื่อการบริโภค รายได้หลักที่มาจากเกษตรกรรมจึงมีความผันผวน ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศพึ่งพาฟ้าฝนเป็นหลัก
ในช่วงก่อนโควิด-19 ขนาดเศรษฐกิจ (GRP) และรายได้ต่อหัวเฉลี่ย (GRP per capita) ของอีสานมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3 และร้อยละ 4 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่รายได้ครัวเรือนเติบโตเพียงร้อยละ 1 ต่อปีเท่านั้น แสดงให้เห็นว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอีสานส่งผ่านมาที่รายได้ครัวเรือนอีสานเพียงเล็กน้อย ทำให้ครัวเรือนอีสานในปัจจุบันมีรายได้สำหรับนำไปใช้จ่ายอย่างจำกัด สะท้อนจากรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของอีสานที่ต่ำที่สุดในประเทศเพียง 181,231 บาทต่อครัวเรือนต่อปี อีกทั้งสัดส่วนครัวเรือนที่มีรายได้ตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยในปี 2566 ในภาคอีสานที่อยู่ที่ 67 %เเทบจะไม่เปลี่ยนเเปลงไปจากอดีตเมื่อ 10 ปีก่อน และจำนวนคนฐานะยากจนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนมากที่สุด ที่อีสานมีมากถึง 277,875 คน หรือร้อยละ 34 ของจำนวนคนจนทั้งประเทศ
รายจ่าย
นอกจากปัจจัยทางด้านที่มาของรายได้ดังที่กล่าวมา ครัวเรือนอีสานมีปัญหา รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย โดยในปี 2556-66 รายได้จากการทำงานของครัวเรือนเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 0.87 ต่อปี น้อยกว่าการเติบโตของรายจ่ายเฉลี่ยที่เติบโตร้อยละ 1.27 ต่อปี จึงทำให้มีส่วนต่างระหว่างรายได้กับรายจ่ายต่อเดือนติดลบอย่างต่อเนื่องและติดลบมากกว่าทุกภูมิภาค ในปี 2566 ครัวเรือนอีสานมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายถึง 5,396 บาทต่อเดือน ทำให้ครัวเรือนอีสานยังพึ่งพาเงินช่วยเหลือมากกว่าทุกภูมิภาค ที่ 5,024 บาทต่อเดือน
ผนวกกับต้นทุนค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นเนื่องจากต้นทุนค่าครองชีพของประชาชนในภาคอีสานมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาอาหารสด และราคาพลังงาน ทั้งนี้สามารถสังเกตได้จาก ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในภูมิภาคที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าในระยะหลังอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลง แต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันจำนวนมากยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง อาทิ ไข่ไก่ น้ำมันพืช บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และวัตถุดิบอาหารสดอื่นๆ
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนในภาคอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และมีภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่คิดเป็นสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับรายได้ รวมถึงแรงกดดันจากภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาด ทำให้กำลังซื้อของคนในพื้นที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
หนี้สิน
นอกจากรายได้เเละค่าใช้เเล้วอีกเหตุปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อกําลังซื้อของคนอีสานคือ ปัจจัยด้านหนี้สิน
ภาคอีสานในปี 2566 มีหนี้สินต่อครัวเรือน 200,540 บาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่ 197,255 บาท เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้สินต่อครัวเรือนทั้งหมด พบว่าอีสานมีสัดส่วนถึงร้อยละ 61 สูงกว่าทุกภูมิภาคและค่าเฉลี่ยประเทศ
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหากมองเป็นรายจังหวัดหนี้ครัวเรือนภาคอีสาน จังหวัดอํานาจเจริญซึ่งมีหนี้ต่อครัวเรือนมากสุดอยู่ที่ 337,610 บาทในปี 2566 นั้นเพิ่มขึ้นจาก 10 ปีที่เเล้วถึง 151% เเละจังหวัดที่หนี้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือบึงกาฬที่เพิ่มขึ้นถึง 172% จังหวัดโดยส่วนมากในภาคอีสานมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นถึง 16 จาก 20 จังหวัดเเละมีเพียง 4 จังหวัดเท่านั้นที่หนี้ครัวเรือนลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
อีกทั้งทัศนคติและพฤติกรรมต่อการเป็นหนี้ของคนอีสานน่าเป็นห่วงกว่าภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งจะนําไปสู่ปัญหาการหมุนหนี้ ก่อหนี้เรื้อรัง การผิดนัดชําระหนี้ ครัวเรือนอีสานส่วนใหญ่ก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 43.9 ของจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งหมด โดยเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลมากที่สุด รองลงมาคือ สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบัตรเครดิต ตามลำดับซึ่งสูงกว่าหนี้ที่นำไปสร้างรายได้ ซึ่งปัจจุบันสินเชื่อเหล่านี้มีแนวโน้มกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้น
หากจะมองเจาะไปที่กลุ่มเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรกว่าครึ่งของภาคอีสานนั้นพบกว่า เกษตรกรกว่า 93% เป็นหนี้ เเละมีมากกว่าครึ่งที่เป็นหนี้เรื้อรังที่มีโอกาสส่งต่อมกดกหนี้ให้เเก่ลูกหลานหรือคนรุ่นหลัง
สรุป
ดังที่กล่าวมาทั้งหมดทั้งปัจจัย ด้านรายได้ รายจ่าย หนี้สิน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้กําลังซื้อของภาคอีสานลดลง เเละนอกจากประเด็นที่ได้กล่าวมาหากลองส่องสํารวจเพิ่มเติมไปยังรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ซึ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บจากการบริโภคสินค้าและบริการแสดงได้ถึงกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ ในปี 2567 จะพบว่าอีสานจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 24,389 ล้านบาท โดยจังหวัดที่เก็บได้มากที่สุดอยู่ที่ นครราชสีมา 5,410 ล้านบาทเเละขอนแก่น 4,368 ล้านบาท คิดเป็นถึงร้อยละ 40 ของการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มของทั้งภูมิภาค เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่นและมีรายได้เฉลี่ยค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน ทำให้มีกำลังซื้อสินค้าและบริการสูงตามไปด้วย เป็นอีกภาพสะท้อนหนึ่งว่าภาคอีสานมีกําลังซื้อที่กระจุกตัวอยู่ในจังหวัดใหญ่เพียงไม่กี่จังหวัด
กำลังซื้อของผู้บริโภคเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่สะท้อนถึงสุขภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และการรักษาสมดุลระหว่างรายได้ ค่าครองชีพ และความเชื่อมั่นของประชาชนคือกุญแจสำคัญที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพและความเจริญเติบโตในระยะยาว ปัญหาเรื่องกําลังซื้อจึงเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการเเก้ไขอย่างยั่งยืนจากทั้งภาครัฐเเละเอกชน สําหรับการหาทางออกในประเด็นเรื่องกําลังซื้อของภาคอีสานรวมถึงการกระจายความเจริญให้คนมีอยู่มีใช้อย่างเท่าเทียมเเละมั่นคง
ที่มา: