Article

ปี 65 รัฐประกาศให้เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน”

หลายปีที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือนได้รับความสนใจจากหลายหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากหนี้ที่เร่งตัวสูงขึ้นถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ . ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนหรือหนี้สินครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 4/2564 อยู่ที่ 14.58 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 3.9% (YOY) . และด้วยภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังเติบโตช้า ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ สิ้นปี 2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.1% จากระดับ 89.7% ในปี 2563 (เปรียบเทียบง่าย ๆ คือ ถ้าให้ GDP เป็นรายได้ 100% คนไทยเป็นหนี้ 90.1%) . โดยหนี้ส่วนใหญ่ของครัวเรือน 3 อันดับแรกยังคงเป็น 1.เงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย (34.5% ของหนี้ครัวเรือนรวม) 2.เงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจ (18.1% ของหนี้ครัวเรือนรวม) 3.เงินกู้เพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ (12.4% ของหนี้ครัวเรือนรวม) . ปริมาณหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับผลจากวิกฤต COVID-19 ที่ประชาชนไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ ก็อาจไปสร้างภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในอนาคต (ตามภาวะดอกเบี้ยในตลาดโลก) . ยิ่งในยุคที่ค่าครองชีพสูง จากปัญหาราคาสินค้าต่าง ๆ ทยอยปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่รายได้ประชาชนไม่ได้เพิ่มหรือเพิ่มขึ้นน้อยกว่า . ทำให้ปี 2565 รัฐบาลประกาศให้เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน” ด้วยการจัดการกับก้อนหนี้ในปัจจุบัน และชะลอการก่อหนี้ใหม่ในอนาคต . แม้หลักการภาพกว้างจะดูเหมือนง่าย แต่การแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากแหล่งที่มาของหนี้ครัวเรือนจริง ๆ แล้วไม่ได้มาจากระบบสถาบันการเงินที่ ธปท.เป็นผู้ที่ดูแลเพียงแหล่งเดียวเท่านั้น . ยังมีหนี้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงเกษตรฯ ขณะที่หนี้สินจากบริษัทเช่าซื้อและลีสซิ่งจำนวนมากก็ยังไม่มีผู้กำกับดูแลชัดเจน รวมไปถึงหนี้นอกระบบที่ไม่มีตัวเลขเก็บเป็นข้อมูลสถิติไว้ . ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้กว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา (2552-2562) การแก้ไขปัญหาทำได้เพียงลดสัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้ลง ในขณะที่ภาระหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนยังเพิ่มขึ้น . โดยเฉพาะภาคอีสานที่แม้สัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้จะลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าทุกภูมิภาค และภาพรวมประเทศ อีกทั้งภาระหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่เพิ่มสูงกว่าทุกภูมิภาค ก็เป็นไปได้ว่า หนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นกระจุกตัวอยู่กับครัวเรือนหรือผู้กู้รายเดิม . ดังนั้น จากปัญหานี้ ลำพังจะให้ ธปท.หรือกระทรวงการคลังขับเคลื่อนเพียงหน่วยงานเดียวไม่มีทางสำเร็จ การจัดการหนี้สินครัวเรือนจะต้องใช้พลังจากระดับนโยบายที่จะต้องขับเคลื่อนในภาพกว้าง ครอบคลุมในทุกมิติ . ไม่ใช่แค่การจัดการเฉพาะหนี้ในระบบเท่านั้น แต่รวมถึงหนี้นอกระบบด้วย ยิ่งเงินกู้ทั้งสองแห่งมีอัตราดอกเบี้ยต่างกันราวฟ้ากับดิน ถึงแม้จะแก้ไขหนี้ในระบบได้ดีสักเพียงใด แต่ไม่ได้ล้างหนี้นอกระบบไปด้วย สุดท้ายหนี้นอกระบบจะเพิ่มพูนจนครัวเรือนไทยจมกองหนี้ . ทั้งนี้ หนี้สินในระบบสถาบันการเงิน ธปท.ก็มีแนวทางในการกำกับดูแล ทั้งการพักหนี้ ปรับโครงสร้าง เบรกชำระ เพื่อให้ระบบเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนหนี้นอกระบบนั้น คงจะต้องมีการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สายปราบปราม เพื่อจัดการเจ้าพ่อเจ้าแม่เงินกู้ และเพิ่มช่องทางให้ผู้กู้เข้าถึงแหล่งเงินในระบบมากที่สุด . สุดท้าย การปลูกฝังทัศนคติการออม การลงทุน และการวางแผนทางการเงิน ควรบรรจุเป็นหลักสูตรวิชาบังคับตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา …

ปี 65 รัฐประกาศให้เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน” อ่านเพิ่มเติม »

นิคมกรีนอุดรฯ เปิดโกดังเป็นศูนย์ One Stop Services-OSS ฟรี เพื่อส่งออกทุเรียนไทยไปจีน

นายพิสิษฎ์ พิพัฒน์วิไลกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด เจ้าของและผู้พัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ได้ร่วมประชุมคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชน ในการบูรณาการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบสื่ออีเล็กทรอนิกส์ เพื่อหาแนวทางและรวบรวมข้อมูลการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีน . โดยหารือถึงปัญหาการขนส่งทุเรียนของไทย ที่กำลังจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดในเดือนพฤษภาคมนี้ และส่วนหนึ่งจะส่งออกไปยังตลาดประเทศจีน ซึ่งที่ผ่านมานั้นทำการขนส่งทางรถบรรทุก และมีปัญหาเป็นประจำ แล้วหากจะต้องเปลี่ยนการขนส่งทุเรียนมาเป็นทางรถไฟจีน-ลาว จะมีวิธีการอย่างไรบ้าง . เนื่องจากรถไฟจีน-ลาว มีจุดสิ้นสุดอยู่ที่เวียงจันทน์ รวมถึงปัญหาที่ทางการจีนยังเข้มงวดในการควบคุมเชื้อ COVID-19 จำเป็นต้องใช้ตู้คอนเทนเนอร์ของจีนในการบรรทุกเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นหน้าที่ในระดับกระทรวงที่ต้องมีการประสานงานกับทางการจีน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา เพราะการขนส่งทางรางจะมีความสะดวกและประหยัด . ผู้บริหารระดับสูงของโครงการนิคมอุตสากรรมอุดรธานีเห็นว่า เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับการขนส่งทุเรียน และเป็นเรื่องของการบริการสังคม (CSR) โดยเห็นชอบให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ่อค้ารับซื้อคนกลางทุเรียน นำล้ง(ผู้ส่งออก) เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจคุณภาพทุเรียน เจ้าหน้าที่พิธีการทางด้านศุลกากร ฯลฯ เข้ามาใช้พื้นที่บางส่วนที่เป็น CY และอาคารคลังสินค้าของนิคมฯ . เป็นจุดรวบรวมทุเรียนและให้เป็นจุดบริการกระบวนการต่าง ๆ ด้านการส่งออกทุเรียนไปประเทศจีน ตั้งแต่ต้นทางในรูปแบบของการบริการจบในจุดเดียว (One Stop Services-OSS) เสร็จแล้วขนบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ ไปเปลี่ยนขึ้นขบวนรถไฟสินค้า ลาว-จีน ที่ท่าเรือบกเวียงจันทน์ได้เลย โดยทางโครงการไม่คิดค่าใช้จ่ายการใช้พื้นที่ เพียงจ่ายค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ และค่าสาธารณูปโภค เท่านั้น . ทั้งนี้ หลังจากทางการสปป.ลาว เปิดเดินรถไฟจีน-ลาว ที่ก่อสร้างมาถึงนครหลวงเวียงจันทน์แล้ว ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2564 แต่เป็นช่วงสถานการณ์โควิด จึงเปิดเดินรถโดยสารเฉพาะในเขตประเทศ ส่วนขบวนรถสินค้า ได้ทดสอบการขนส่งและเปิดให้บริการแล้ว แต่ระบบรถไฟไทยยังไม่เชื่อมต่อกับระบบรถไฟจีน-ลาว . นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชน ในการบูรณาการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะทำงาน มีคณะทำงานประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ต่าง ๆ . ที่มีหน้าที่เสนอแนะการจัดทำแผนการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน เสนอแนะนโยบายการเชื่อมโยงทางรถไฟ เพื่อผลักดันให้มีความคืบหน้า และดำเนินงานไปสู่การปฏิบัติ บูรณาการข้อมูลการค้า การส่งออก และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการบูรณาการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน จึงเป็นที่มาของข้อเสนอดังกล่าว . . ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ . #ISANInsightAndOutlook #อีสาน #นิคมอุดร #ส่งออกทุเรียน

สงสัยบ่? ทำไมร้านทุกอย่าง 20 บาท ถึงมีของราคาอื่นปะปนด้วย

ร้านทุกอย่าง 20 บาท เป็นการนำไอเดียร้าน Daiso ของญี่ปุ่นที่ขายทุกอย่างในราคา 100 เยน มาใช้ เพราะเจ้าของขี้เกียจจำราคาตอนขายคนเดียว แต่ต่างจากร้านทุกอย่าง 20 บาทของไทยตรงที่แทบไม่มีร้านไหนเลยที่ขายทุกอย่าง 20 บาทจริง ๆ เรียกได้ว่าเป็นร้านบางอย่าง 20 บาทก็ว่าได้ . จุดเด่นไม่ใช่แค่ ‘ถูก’ แต่ต้อง ‘ครบ’ . การที่ร้านทุกอย่าง 20 บาท มีของราคาอื่นตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักร้อยปะปนมาด้วย เนื่องจากความหลากหลายของสินค้าสามารถดึงดูดลูกค้าให้แวะเวียนเข้ามาเลือกชมเลือกซื้ออยู่เรื่อย ๆ ได้ ที่สำคัญต้องมีครบทุกอย่างตามความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน . การทำร้านทุกอย่าง 20 บาท เป็นการใช้กลยุทธ์ราคาเดียว โดยส่วนมากผู้บริโภคจะซื้อเพราะความชอบมากกว่าคำนึงถึงคุณภาพเป็นหลัก ผู้ประกอบการจะต้องรู้จักการบริหารต้นทุนสินค้าให้ดี การหมุนเวียนของสินค้าจะต้องมีรอบความถี่สูง และมีความหลากหลาย . ยอมขาดทุน เพื่อทำกำไร . ถ้าวิเคราะห์ในแง่ต้นทุน การใช้กลยุทธ์ราคาเดียว เป็นการใช้วิธีการคำนวณแบบเฉลี่ยต้นทุน โดยรวม สินค้าหลายชิ้นในร้านมีต้นทุนใกล้เคียงกับราคาขาย แต่อีกหลาย ๆ ชิ้นก็จะมีต้นทุนต่ำกว่าราคาขาย เรียกว่ายอมขาดทุนในสินค้าบางรายการ เพื่อเรียกลูกค้าเข้าร้าน ซึ่งจากพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าส่วนใหญ่ มักจะไม่ได้ซื้อสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่จะเลือกซื้อสินค้าหลายอย่างติดไม้ติดมือกลับไป . ทำให้โดยรวมแล้วร้านค้าสามารถเอากำไรจากสินค้าบางรายการมาถัวเฉลี่ยได้ ส่วนมากที่เห็นในภาคอีสานจะเป็นร้าน Twenty Shop ทุกอย่าง 20 บาท หรือ Ten Shop ทุกอย่าง 10 บาท ทั้งยังเห็นร้านที่ใช้กลยุทธ์นี้ได้ตามห้างด้วยเช่นกัน ทั้งร้าน Daiso, Moshi Moshi, All item trendy หรือ Mr.D.I.Y. เป็นต้น . หมวดสินค้ายอดนิยมของร้านมีอะไรบ้าง . 1. หมวดสินค้าเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลปีใหม่ โบว์ ริบบิ้น กระดาษห่อของขวัญ ปีกนางฟ้า ปีกผีเสื้อ สายรุ้ง โมบายริบบิ้น สำหรับตกแต่งบ้านหรือร้านให้สวยงาม เทศกาลตรุษจีน ซองแดง ตัวอักษรจีน ปลาทอง จานแดง เทศกาลวาเลนไทน์ กุหลาบสบู่ ของขวัญแทนใจ ตุ๊กตาตัวเล็กตัวใหญ่ เป็นต้น . 2. หมวดสินค้าพลาสติก เช่น ไม้แขวนเสื้อ ที่หนีบผ้า ตะกร้า กระจาด เก้าอี้ ฝาชี กระติกน้ำ กล่องพลาสติก เป็นต้น . 3. หมวดสินค้า IT เช่น สายชาร์จแบต หูฟัง เคสโทรศัพท์ …

สงสัยบ่? ทำไมร้านทุกอย่าง 20 บาท ถึงมีของราคาอื่นปะปนด้วย อ่านเพิ่มเติม »

ทำไมจังหวัดในภาคอีสาน ถึงมี GPP per Capita อยู่ท้ายตารางเรื่อยมา

เริ่มด้วย GPP คืออะไร ? . GPP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product) หมายถึง มูลค่าการผลิตสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ดำเนินการภายในจังหวัด รวมทั้งรายได้จากผลตอบแทนปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เช่น ค่าตอบแทนแรงงาน ค่าเช่าที่ดิน ดอกเบี้ย และกำไร โดยสามารถสะท้อนภาพรวมด้านเศรษฐกิจ และมูลค่าเพิ่ม (Value Added) จากกิจกรรมการผลิตทุกชนิดของจังหวัดนั้นได้ .  แล้ว GPP per capita คืออะไร ? . GPP per capita หรือ ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว คือตัวเลขแสดงถึงความสามารถในการสร้างมูลค่าการผลิตสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายของจังหวัดเฉลี่ยต่อประชากร 1 คน ที่หากจังหวัดใดมีค่าเฉลี่ยสูง แสดงว่ามีศักยภาพสร้างรายได้ภายในจังหวัดมาก ในทางกลับกันจังหวัดใดมีค่าเฉลี่ยต่ำ แสดงว่ามีศักยภาพสร้างรายได้ภายในจังหวัดน้อย . ทั้งนี้ GPP per capita ไม่ใช่ตัวเลขรายได้ต่อหัวของประชากรสุทธิของจังหวัดนั้น ๆ เนื่องจากเป็นการนับเพียงด้านมูลค่าเพิ่ม .  จังหวัดที่มี GPP per capita สูงสุด ไม่ใช่กรุงเทพฯ . ปี 2563 แม้กรุงเทพฯ จะสามารถสร้าง GPP สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ( 5.27 ล้านล้านบาท/ปี) แต่ด้วยจำนวนประชากรมากถึง 9 ล้านคน ทำให้มีค่าเฉลี่ย GPP per capita 5.86 แสนบาท/ปี อยู่ในอันดับ 2 รองจากจังหวัดระยอง (GPP 1.03 ล้านบาท/ปี และ GPP per capita 8.32 แสนบาท/ปี) . จังหวัดที่มี GPP per capita ต่ำสุด มักอยู่ในภาคอีสาน . เรียงจากลำดับต่ำสุด ปี 2563 1. นราธิวาส 55,417 บาท/ปี 2. หนองบัวลำภู 59,157 บาท/ปี 3. มุกดาหาร 61,345 บาท/ปี 4. แม่ฮ่องสอน 63,419 บาท/ปี 5. ยโสธร 65,254 บาท/ปี 6. บึงกาฬ 68,497 บาท/ปี 7. สกลนคร …

ทำไมจังหวัดในภาคอีสาน ถึงมี GPP per Capita อยู่ท้ายตารางเรื่อยมา อ่านเพิ่มเติม »

สู้บ่…แปลงโฉมรถแห่เป็นรถกาแฟสด ขายได้หลัก 100 แก้วต่อวัน

“รถแห่” ธุรกิจบันเทิงเคลื่อนที่ที่เรียกได้ว่า เป็นรถแห่งเสียงเพลงและความสนุกสนาน มีทั้งเครื่องดนตรี เครื่องเสียง นักร้อง นักดนตรี ครบครัน โดยส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในภาคอีสาน ใช้ในงานบุญ งานบวช และงานประเพณีต่าง ๆ เพื่อสร้างความม่วน ซื่น โฮ แซว ตามแบบฉบับคนมักม่วน ด้วยจังหวะต่าง ๆ ทั้ง 3 ช่า, วาไรตี้ หรือรำวงย้อนยุค . ราคาจ้างเริ่มต้นอยู่ที่ 15,000-50,000 บาทต่อการแสดง 3 ชั่วโมง โดยทั่วไปใช้เงินลงทุนคันละ 1-3 ล้านบาท เนื่องด้วยการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงของธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการต่างมีการอัพระบบ แสง สี เสียง และระบบการโชว์ของรถแห่ เพื่อให้สามารถแข่งขันกันในตลาดนี้ได้ จึงทำให้ต้นทุนบางคันทะลุ 3-6 ล้านบาท . พิษของ COVID-19 ทำให้ธุรกิจรถแห่ซบเซาลง . ธุรกิจที่กำลังเติบโตและไปได้สวย แต่กลับต้องสะดุดลง เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายงานถูกยกเลิก และไม่สามารถรับงานได้ตามเงื่อนไขข้อปฏิบัติต่าง ๆ ของมาตรการฯ ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบหนัก บางรายสู่ไม่ไหวจำต้องปิดกิจการ พนักงานลูกจ้าง ศิลปิน นักแสดง นักร้อง นักดนตรี ไม่น้อยกว่า 2,000 คน ต้องตกงานไม่มีรายได้ . ผันตัวมาโลดแล่นบนเวทีออนไลน์ . ปัจจุบันการแสดงของชาวรถแห่ไม่ได้มีแค่บนรถตามงานบุญต่าง ๆ เท่านั้น แต่ต้องผันตัวมาทำไลฟ์สตรีม หรือทำวิดีโอลงใน YouTube เพื่อโลดแล่นบนเวทีออนไลน์แทน ซึ่งหลายคณะก็ได้รับความนิยมในวงกว้าง มียอดวิวหลักล้าน นักร้องหลายคนมีชื่อเสียงเทียบเท่านักร้องดังที่มีค่ายสังกัด ตัวอย่างเช่น ออย แสงศิลป์ ที่ได้สมญาว่า “ราชารถแห่” และ ใบปอ รัตติยา ที่เรียกว่าเป็น “ราชินีรถแห่” . มองหาโอกาสจากสิ่งที่มี “แปลงโฉมรถแห่เป็นรถกาแฟสด” . เมื่อ COVID-19 ลากยาว จนทำให้รถแห่ถูกจอดทิ้งไว้ไม่ถูกใช้งาน หนึ่งในเจ้าของรถแห่ดนตรีสด จ.ชัยนาท ได้มองเห็นโอกาสการสร้างรายได้ จากการทำร้านกาแฟโดยเปลี่ยนจาก ‘ร้าน’ เป็น ‘รถแห่’ ทำการปรับเปลี่ยน เพิ่มอุปกรณ์สำหรับการชงกาแฟ พร้อมตกแต่งให้ดูมีสไตล์และแตกต่างจากร้านกาแฟทั่วไป . ทำการศึกษาสูตร พัฒนาฝีมือจนได้สูตรเมนูที่พร้อมขาย ปกติจอดให้บริการอยู่ที่ สามแยกไฟแดงวังกระชาย อ.หันคา จ.ชัยนาท ยอดขาย 100-160 แก้วต่อวัน และยังรับออกงานในพื้นที่ระแวกใกล้เคียง ขั้นต่ำ 200 แก้วขึ้นไป ส่วนงานรถแห่ดนตรีสด ก็พร้อมรับงานเหมือนเดิม หากมีลูกค้าเรียกใช้บริการ . ด้วยความแปลกใหม่นี้ จึงทำให้ร้านรถแห่กาแฟสดได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งจากคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ต่างมาใช้บริการ …

สู้บ่…แปลงโฉมรถแห่เป็นรถกาแฟสด ขายได้หลัก 100 แก้วต่อวัน อ่านเพิ่มเติม »

อีสาน ภูมิภาคที่เคยปลูกโกโก้ได้เป็นอันดับ 2 ในไทย

ภูมิภาคที่เคยปลูกโกโก้ได้เป็นอันดับ 2 ในไทย แต่ทำไม บ่ค่อยมีไผฮู้? . . โกโก้ วัตถุดิบสำคัญในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และขนม โดยเฉพาะช็อกโกแลต แต่หลายคนคงยังไม่รู้ว่าทุกภูมิภาคของไทยรวมถึงภาคอีสานก็สามารถปลูกต้นโกโก้ได้ ซึ่งเป็นเพราะเหตุใด และมีโอกาสพัฒนาต่อยอดหรือไม่ วันนี้อีสานอินไซต์จะเล่าให้ฟัง . ทำความรู้จัก “โกโก้” . โกโก้ เป็นไม้ผลเขตร้อน (Tropical Fruit Crop) มีถิ่นกำเนิดเนิดในประเทศเม็กซิโก และเปรู . สามารถยืนต้นยาวนานกว่า 70 ปี แต่อายุการให้ผลผลิตเชิงพาณิชย์อยู่ระหว่าง 30-40 ปี . โดยจะเริ่มให้ผลผลิตและเก็บเกี่ยวในปีที่ 3 ขึ้นไป (เก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี มากน้อยขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์และสภาพแวดล้อม) . ซึ่งตามธรรมชาติของโกโก้ เป็นพืชที่ต้องการแสงแดด (ภายใต้ร่มเงา) และน้ำสม่ำเสมอ จึงเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนชื้น . สามารถปลูกได้ทั้งแบบเชิงเดี่ยว และแบบปลูกแซมกับพืชเศรษฐกิจอื่นที่มีขนาดใหญ่ . สำหรับผลผลิตโกโก้ของโลกมีประมาณ 4.6 ล้านตัน ในปี 2563 . แหล่งเพาะปลูกสำคัญ ได้แก่ ประเทศไอวอรีโคสต์ กานา เอกวาดอร์ อินโดนีเซีย และไนจีเรีย . การเพาะปลูกโกโก้ในไทย . ปี 2563 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกโกโก้ 5,913 ไร่ ผลผลิตรวม 859 ตัน แบ่งสัดส่วนแต่ละภูมิภาค ดังนี้ . ภาคใต้ 1,799 ไร่ (30%) ภาคอีสาน 1,696 ไร่ (29%) ภาคเหนือ 1,379 ไร่ (23%) ภาคตะวันตก 501 ไร่ (9%) ภาคกลาง 295 ไร่ (5%) ภาคตะวันออก 244 ไร่ (4%) . ทำไมภาคอีสานถึงปลูกโกโก้ได้เป็นอันดับ 2 ในไทย . ก่อนหน้านั้นภาคอีสานมีเกษตรกรปลูกโกโก้ไม่มากนัก เนื่องจากไม่มีความรู้ ปลูกมาแล้วผลผลิตไม่ได้คุณภาพ ต้องเผชิญกับราคาต่อกิโลกรัมที่ไม่สูง และมีตลาดรับซื้อน้อย โดยส่วนใหญ่เป็นรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ซึ่งก็มักมีปัญหาหลอกขายกล้าพันธุ์และไม่มารับซื้อตามสัญญา . ประกอบกับสภาพภูมิอากาศของภาคที่ไม่ได้ร้อนชื้นหรือมีฝนตกชุก ทำให้คนจำนวนมากเข้าใจว่าอีสานไม่เหมาะกับการปลูกโกโก้ ทั้งที่ปลูกได้ แต่หากอยากให้มีผลผลิตตลอดทั้งปีอาต้องลงทุนระบบน้ำเพิ่ม . ส่วนการที่ภาคอีสานมีพื้นที่ปลูกโกโก้มากเป็นอันดับ 2 รองจากภาคใต้ เนื่องจากภายหลังความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ภาครัฐจึงมีแนวคิดขยายพื้นที่เพาะปลูกในอีสาน โดยส่งเสริมให้ปลูกแทนสวนยางพาราที่มีอายุมากกว่า 25 ปีและให้น้ำยางน้อย หรือปลูกแซมพืชเศรษฐกิจอื่นเพื่อเป็นรายได้เสริม …

อีสาน ภูมิภาคที่เคยปลูกโกโก้ได้เป็นอันดับ 2 ในไทย อ่านเพิ่มเติม »

ฮู้จัก Hometown Tax ของญี่ปุ่น สู่การประยุกต์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในอีสาน

Hometown Tax คืออะไร . Hometown Tax เป็นระบบการชำระภาษีให้บ้านเกิดของประเทศญี่ปุ่นที่ประกาศใช้เมื่อปี 2551 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมช่วยฟื้นฟู และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างท้องถิ่นในเขตเมืองกับเขตชนบท ผ่านการบริจาคเงินให้แก่ท้องถิ่นโดยตรง ซึ่งผู้บริจาคสามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ขณะเดียวกันก็ได้รับสินค้าท้องถิ่นเป็นของแทนคำขอบคุณ . Hometown Tax เกิดขึ้นได้อย่างไร . เมื่อก่อนประเทศญี่ปุ่นเคยเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่อย่างหนัก จากการที่ประชากรต่างพากันอพยพเข้าสู่เขตเมืองเพื่อหาโอกาสที่ดีกว่า ทำให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีรายได้ลดลง และไม่สามารถนำไปจัดทำบริการสาธารณะได้เพียงพอ . ประกอบกับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางที่ช่วยเหลือแบบปีต่อปี ทำให้ท้องถิ่นขาดการพัฒนาในระยะยาว และในกรณีมีเหตุฉุกเฉินก็ไม่สามารถช่วยได้ทันกาล การออกแบบนโยบาย Hometown Tax จึงเกิดขึ้น . ทำไม Hometown Tax ถึงได้รับความสนใจ . 1. เป็นการสร้างทางเลือกให้แก่ผู้เสียภาษี สามารถแบ่งภาษีเงินได้ส่วนหนึ่งให้ท้องถิ่นอื่นได้ และสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือตอบแทนบ้านเกิดได้โดยตรง . 2. ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วมกับการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น . 3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดทำและพัฒนาบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพได้ โดยไม่ต้องรอเงินอุดหนุนจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว . ทำไมประเทศไทยต้องสนใจ Hometown Tax . ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยก็มีความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ค่อนข้างสูง การอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่แตกต่างกันยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนได้รับโอกาสในการสร้างรายได้ ตลอดจนโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะที่มีคุณภาพในด้านต่าง ๆ ไม่เท่าเทียมกัน . จากดัชนี Human Achievement Index (HAI) ที่สะท้อนความก้าวหน้า การพัฒนาคนในระดับจังหวัด ระดับภาค ผ่านตัวชี้วัด 8 ด้าน* พบว่า ในปี 2562 กรุงเทพฯ มีค่าดัชนี HAI สูงกว่าทุกภูมิภาค (อยู่ที่ 0.6821) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่คนกรุงเทพฯ มีความก้าวหน้าด้านรายได้มากที่สุด อีกทั้งมีโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะ โดยเฉพาะด้านสุขภาพ และการศึกษาที่มีคุณภาพสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ . ขณะที่ภาคอีสาน และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีค่าดัชนี HAI ต่ำสุด อยู่ที่ 0.5792 และ 0.5142 ตามลำดับ เนื่องจากมีความก้าวหน้าด้านรายได้ค่อนข้างน้อย อีกทั้งโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา หรือการคมนาคมที่มีคุณภาพต่ำกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ดังนั้นเพื่อโอกาสในการสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ Hometown Tax จึงเป็นนโยบายที่น่าสนใจ . ประยุกต์ใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในอีสานได้ยังไง . จากบทเรียน Hometown Tax ของญี่ปุ่น จะเห็นว่ามีมิติที่ไทยอาจลองนำมาประยุกต์ใช้ได้ เช่น การสร้างแรงจูงใจให้คนอยากบริจาคเงินให้กับท้องถิ่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดหย่อนภาษี หรือให้ของสมนาคุณ (เป็นได้ทั้งสินค้าและบริการ) เช่น พืชผลทางการเกษตรที่ไม่สามารถส่งขายไปต่างประเทศได้เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 บัตรส่วนลดค่าที่พัก/ร้านอาหาร เป็นต้น อีกทั้งการระบุวัตถุประสงค์ของการนำเงินไปใช้ให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคน หรือพัฒนาบริการสาธารณะเพื่อคนทุกกลุ่ม . …

ฮู้จัก Hometown Tax ของญี่ปุ่น สู่การประยุกต์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในอีสาน อ่านเพิ่มเติม »

เนื้อพรีเมี่ยม “โพนยางคำ” สกลนคร ยกระดับยังไง ถึงเป็นที่ยอมรับในสากล

ก้าวแรกของเส้นทางโคขุนโพนยางคำ . เริ่มจากการจัดตั้ง ‘สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป. กลาง โพนยางคำ จำกัด’ ขึ้นในปี พ.ศ. 2523 เพราะต้องการพัฒนาพันธุ์โคเนื้อของไทยให้เป็นเนื้อระดับพรีเมียมที่สามารถขายได้ แต่ในตอนนั้นยังขาดความเชี่ยวชาญ จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและฝรั่งเศสขึ้น เพื่อพัฒนาพันธุ์โคให้ได้มาตรฐาน . โดยของบประมาณจากรัฐฯ ในการจัดหาน้ำเชื้อโคพันธุ์เนื้อต่างประเทศมาผสมเทียมให้สมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงโคในภาคอีสาน ปัจจุบันสหกรณ์ฯ โพนยางคำมีสมาชิกกว่า 6,000 คน และมีจำนวนโคมากกว่า 10,000 ตัว โคขุนที่ได้มาตรฐาน ราคาขายอยู่ที่ตัวละ 80,000-100,000 บาท จากเดิมซึ่งขายได้เพียงตัวละ 30,000 บาท . ด้วยสภาพภูมิอากาศในไทยที่ร้อน ทำให้การขุนให้มีไขมันแทรกตามธรรมชาติยากกว่าสัตว์ที่อยู่ในสภาพภูมิอากาศหนาวและเย็น เมื่อต้องขุนให้ได้เนื้อคุณภาพดี จึงต้องปรับปรุงสายพันธุ์ โดยนำสายพันธุ์ยุโรปมาผสมด้วย เช่น พันธุ์ชาร์โรเลส์ (Charolais), พันธุ์ลิมูซ่า (Limousin) และพันธุ์ซิมเมนทัล (Simmental) ทำให้ได้โคที่มี่โครงสร้างกล้ามเนื้อและไขมันที่ดี ทนอากาศในไทยได้ โดยเกษตรกรจะนิยมขุนโคพันธุ์ชาร์โรเลส์มากที่สุด . กรรมวิธีการ ‘ขุน’ ด้วยความรักและใส่ใจเป็นพิเศษ . ฟรังซัว แดร์โฟร์ (Francois Dervaux) ผู้เชี่ยวชาญการเกษตรจากฝรั่งเศส ผู้คอยให้คำแนะนำกับเกษตรกรมาตลอด ได้เปรียบการขุนวัวเหมือนการเลี้ยงเด็ก ที่ร่างกายจะเจริญเต็มที่เมื่อย่างเข้า 25 ปี เมื่อกินอาหารเข้าไปก็จะออกด้านข้าง . โคก็เหมือนกัน เริ่มแรกจึงเลี้ยงแบบปล่อยปกติ พอโตสักประมาณ 2 ปี จะได้โครงสร้างโคหนุ่มที่สมบูรณ์ และจะเริ่มเข้าสู่การขุน คือ ให้ยืนในคอกแล้วเอาอาหารมาป้อน โดยมาตราฐานโพนยางคำคือขุน 12-18 เดือน ซึ่งเป็นเวลาที่เทียบเท่ากับที่ใช้ขุนเนื้อวากิว ประเทศญี่ปุ่น ประกอบกับ การขุนด้วยอาหารสูตรพิเศษที่เกษตรกรได้คิดค้นลองผิดลองถูกจนได้สูตรอาหารที่ทำให้เกิดไขมันแทรกได้ดีขึ้น . หัวใจสำคัญที่สุดยังคงเป็นขั้นตอนการเลี้ยงอย่างเอาใจใส่ แต่ละครัวเรือนจึงขุนโคไม่เกินครั้งละ 5 ตัว เพื่อให้ให้ทำงานหนักเกินไปจนเกิดความเครียด ทำให้การดูแลเอาใจใส่ทำได้ดี การอาบน้ำ ทำความสะอาด ทำได้อย่างเต็มที่ คนเลี้ยงมีความสุข โคก็ไม่เครียด กินได้เยอะ ขุนได้ดี ได้เนื้อที่มีคุณภาพ . เนื้อโคขุนโพนยางคำ ต่างจากเนื้อทั่วไปตามท้องตลาดอย่างไร? . ปกติเนื้อจะมีกลิ่นเฉพาะที่ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ อาหาร และการเลี้ยงดู บางที่ที่ใช้เวลาขุนเพียง 3 เดือน ทำให้ไม่ค่อยมีไขมันแทรก สำหรับเนื้อโคขุนโพนยางคำจะไม่มีกลิ่นสาบ หรือกลิ่นคาว แต่จะมีกลิ่นหอมจากอาหารธรรมชาติที่เกษตรกรใช้เลี้ยง การชำแหละโดยใช้มาตรฐานฝรั่งเศส ตัดแบ่งชิ้นส่วนและกำหนดชื่อเรียกได้ 23 ส่วน ได้เนื้อสีแดงสดใส มีไขมันแทรกระหว่างเนื้อ ทำให้มีสัมผัสนุ่มเป็นพิเศษ จากการขุนที่ใช้เวลานานพอสมควร . ปัจจุบันเนื้อโคขุนโพนยางคำถือเป็นเนื้อที่มีคุณภาพสูงและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างชาติ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดสกลนคร ส่วนที่นิยมรับประทานมากสุดจะเป็นเนื้อส่วนริบอาย (Ribeye) ราคาเฉลี่ย กก.ละ 1,200-1,300 บาท ซึ่งราคาก็จะแบ่งตามเกรดของเนื้อ โดยดูจากไขมันแทรก โดยสหกรณ์โคขุนโพนยางคำสามารถผลิตได้ที่เกรด …

เนื้อพรีเมี่ยม “โพนยางคำ” สกลนคร ยกระดับยังไง ถึงเป็นที่ยอมรับในสากล อ่านเพิ่มเติม »

คิดจาก ‘โซจู’ สู่ ‘อีสานรัม’

มุมที่เหมือนแต่มองต่างกันของภาครัฐไทย กับประเด็นน่าสนใจ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า . . ‘โซจู’ สุราประจำชาติเกาหลีที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน สืบย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 13 และตอนนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างมากนอกประเทศบ้านเกิด จากการโฆษณาสอดแทรกวัฒนธรรมการดื่มผ่านซอฟต์พาวเวอร์อุตสาหกรรมบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือละครซีรีส์ที่เกาหลีใต้ส่งออก . แต่รู้ไหมว่า โซจูแบบดั้งเดิมเป็นเหล้าใสดีกรีสูงที่กลั่นจากข้าวขาวบริสุทธิ์เพียงอย่างเดียว จนเมื่อประมาณปี 1910 ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองเกาหลีใต้ การปันส่วนข้าวจึงไม่เพียงพอต่อการนำมาผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยิ่งเมื่อเกิดภาวะขาดแคลนข้าวในช่วงสงครามเกาหลี ทำให้ปี 1965 รัฐบาลมีคำสั่งห้ามผลิตเหล้าจากข้าวอย่างเป็นทางการ . ด้วยข้อจำกัดนี้ ผู้ผลิตโซจูจึงหันไปใช้วัตถุดิบทางเลือกอย่างแป้ง ธัญพืช มันเทศ หรือแม้กระทั่งมันสำปะหลังแทน รวมถึงปรับกระบวนการผลิตให้โซจูเจือจางและมีดีกรีต่ำลง แม้ปี 1999 คำสั่งของรัฐบาลที่ห้ามผลิตโซจูจากข้าวจะถูกยกเลิก แต่นักดื่มก็คุ้นชินกับโซจูแบบนี้แล้ว ด้านผู้ผลิตเองก็พอใจกับกรรมวิธีที่ช่วยประหยัดต้นทุน ทำให้สูตรที่ไม่จำกัดเฉพาะข้าวและมีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกลายมาเป็นมาตรฐานของโซจูสมัยใหม่ดังที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน . ประกอบกับภาครัฐของเกาหลีใต้เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจได้พัฒนา-แข่งขัน จนเกิดเป็นโซจูรสชาติใหม่ ๆ แตกต่างกันไปตามวัตถุดิบและกรรมวิธีการผลิต โดยเฉพาะรสผลไม้ที่มีแอลกอฮอล์ต่ำ เพื่อเจาะกลุ่มนักดื่มผู้หญิงและคนรุ่นใหม่ รวมถึงการทำข้อตกลงกับธุรกิจเรื่องขนาดและการใช้ขวดสีเขียวใส ซึ่งไม่ใช่แค่การสร้างภาพจำ แต่ยังง่ายและลดต้นทุนในการคัดแยกก่อนนำไปรีไซเคิลด้วย . การบริโภคโซจูที่ได้รับความนิยมทั้งในเกาหลีและต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ปี 2020 ตลาดโซจูทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 3,025 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เรียกได้ว่าสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลยก็ว่าได้ . เมื่อย้อนกลับมามองไทย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีเอกลักษณ์ไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ต้องเสียโอกาสไปอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาถูกปิดกั้นด้วยคำกล่าวอ้างด้านศีลธรรม และล่าสุดด้านสิ่งแวดล้อม . ยกตัวอย่าง เหล้าชั้นดีที่คนไทยด้วยกันเองก็แทบจะไม่รู้จัก ‘อีสานรำ’ (ISSAN RUM) แบรนด์ซึ่งเริ่มจากการทดลองปลูกอ้อยเอง หมักเอง กลั่นเองมาตั้งแต่ปี 2013 อีกทั้งมีโรงงานตั้งอยู่ในจังหวัดหนองคาย จึงใช้อ้อยสด ๆ ในพื้นที่เป็นวัตถุดิบหลัก และด้วยรสสัมผัสที่เฉพาะตัวทำให้อีสานรำได้รางวัลเหรียญเงินจากเวทีระดับโลก IWSC (International Wine and Spirit Competition) ในปี 2014 . สุรากลั่นที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นเหมือนกัน แต่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดที่มากกว่า อย่างประเด็นล่าสุด พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ซึ่งมีสาระสำคัญต้องการเปิดเสรีให้ประชาชนที่ไม่ได้ผลิตสุราเพื่อการค้า ให้มีโอกาสสามารถดำเนินการได้ แต่ไม่ได้ไปต่อเนื่องจาก ครม.เป็นกังวลเกี่ยวกับมาตรฐาน คุณภาพ และสิ่งแวดล้อมในการผลิต ทั้งที่รัฐเองมีหน้าที่ต้องควบคุมมาตรฐานสินค้าและบริการต่าง ๆ อยู่แล้ว การเปิดให้มีการแข่งขันมากขึ้นจะไม่ทำให้มาตรฐานต่ำลง ตราบใดที่รัฐมีการกำกับอย่างจริงจัง . ธุรกิจสุราที่พัฒนาได้ช้า ออกไปแข่งขันกับโลกไม่ได้ สุดท้ายประเทศจะต้องขาดดุลการค้านำเข้าสุราทุกปี จากการที่คนหันไปดื่มแบรนด์นอกแทน ดังนั้น ถ้ารัฐอยากสนับสนุนธุรกิจสุราไทยโดยเฉพาะของผู้ประกอบการรายย่อยจริง ๆ ควรเปิดกว้างทางการแข่งขัน และใช้นโยบายอื่น ๆ เช่น ช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ดีขึ้น ทำโครงการ Reskill/Upskill ช่วยพัฒนามาตรฐานการผลิตให้มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับข้อบังคับกฎหมายเดิมเพื่อลดการมอมเมา เช่น การไม่ขายให้เด็กมีอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นต้น . . อ้างอิงจาก …

คิดจาก ‘โซจู’ สู่ ‘อีสานรัม’ อ่านเพิ่มเติม »

อีสานพ้อ (พบ) ผึ้งสายพันธุ์ใหม่ของโลก กับโอกาสต่อยอดเศรษฐกิจเป็นแหล่ง Ecotourism

เมื่อ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีได้แถลงข่าวการค้นพบ “ผึ้งหยาดอำพันภูจอง” (Phujong resin bee) ผึ้งเฉพาะถิ่นชนิดใหม่ของโลก ที่พบแห่งเดียวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี . ผึ้งหยาดอำพันภูจอง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Anthidiellum (Ranthidiellum) phujongensis n. sp. เป็นกลุ่มผึ้งหายากที่เคยมีการค้นพบก่อนหน้านี้เพียง 4 ชนิดในโลกเท่านั้น และค้นพบเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ . นอกจากนี้ยังพบผึ้งปรสิตชนิดใหม่ ที่พบภายในรังของผึ้งหยาดอำพันภูจอง คือ “ผึ้งบุษราคัมภูจอง” (Topaz cuckoo bee) โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stelis flavofuscinular n. sp. จากลักษณะพิเศษที่มีสีเหลืองเข้ม สลับลายดำบริเวณลำตัว ทำให้นึกถึงความสวยงามของบุษราคัม . . สร้างจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวเชิงเชิงนิเวศ (Ecotourism) . การค้นพบผึ้งหายากเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์และความสำคัญของผืนป่าได้เป็นอย่างดี เหมาะกับการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรธรรมชาติที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ โดยคณะผู้วิจัยร่วมมือกับอุทยานแห่งชาติภูจองนายอยได้เพิ่มพื้นที่การสร้างหน้าผาดินธรรมชาติบริเวณพื้นที่ใกล้กับลำห้วย เพื่อเพิ่มโอกาสและสถานที่ในการสร้างรังและขยายพันธุ์ของผึ้งกลุ่มนี้ . อีกทั้งยังจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อ “สร้างการรับรู้เรื่องราวของผึ้ง” ทั้งความสำคัญ ความงดงาม รวมทั้งข้อมูลทางชีววิทยาที่ให้ประชาชนได้ตระหนักและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับชุมชนโดยให้ความรู้ถึงประโยชน์ของผึ้งต่อระบบนิเวศ และสร้างให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ผลักดันให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ . พัฒนาต่อยอด สร้างงานหัตถศิลป์ ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน . ชุมชนได้มีการนำลักษณะเฉพาะของผึ้งหยาดอำพันภูจอง และ ผึ้งบุษราคัมภูจอง ไปสร้างงานศิลปะส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ผ้าทอมือ เครื่องจักสาน เสื่อกก ตามความถนัดของชุมชน นับเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ BCG model อีกทางหนึ่ง . ประกอบกับช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้มีแรงงานย้ายถิ่นออกจากกรุงเทพฯ รวมถึงคนรุ่นใหม่ หรือบัณฑิตจบใหม่ที่มีความรู้และทักษะทางเทคโนโลยีย้ายคืนสู่ถิ่นฐานภูมิลำเนาของตน ในหมู่บ้านใกล้กับอุทยานฯ ทำให้มีโอกาสในการสร้างงานสร้างอาชีพในถิ่นฐานของตนอีกครั้ง ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างอาชีพและเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชน . ทั้งนี้ ทีมวิจัยยังได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารระดับนานาชาติ Zookeys และถูกรวบรวมไว้ในฐานข้อมูลของผึ้งในประเทศไทยที่ สวทช. ได้สนับสนุนให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว สามารถอ่านงานวิจัยได้ที่ https://kku.world/xw4vh . . อ้างอิง: https://kku.world/bxef9 https://kku.world/gv566 https://kku.world/0dbtx . #ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ผึ้ง #Ecotourism #การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

Scroll to Top