ปี 65 รัฐประกาศให้เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน”

หลายปีที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือนได้รับความสนใจจากหลายหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากหนี้ที่เร่งตัวสูงขึ้นถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ
.
ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนหรือหนี้สินครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 4/2564 อยู่ที่ 14.58 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 3.9% (YOY)
.
และด้วยภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังเติบโตช้า ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ สิ้นปี 2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.1% จากระดับ 89.7% ในปี 2563 (เปรียบเทียบง่าย ๆ คือ ถ้าให้ GDP เป็นรายได้ 100% คนไทยเป็นหนี้ 90.1%)
.
โดยหนี้ส่วนใหญ่ของครัวเรือน 3 อันดับแรกยังคงเป็น
1.เงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย (34.5% ของหนี้ครัวเรือนรวม)
2.เงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจ (18.1% ของหนี้ครัวเรือนรวม)
3.เงินกู้เพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ (12.4% ของหนี้ครัวเรือนรวม)
.
ปริมาณหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับผลจากวิกฤต COVID-19 ที่ประชาชนไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ ก็อาจไปสร้างภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในอนาคต (ตามภาวะดอกเบี้ยในตลาดโลก)
.
ยิ่งในยุคที่ค่าครองชีพสูง จากปัญหาราคาสินค้าต่าง ๆ ทยอยปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่รายได้ประชาชนไม่ได้เพิ่มหรือเพิ่มขึ้นน้อยกว่า
.
ทำให้ปี 2565 รัฐบาลประกาศให้เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน” ด้วยการจัดการกับก้อนหนี้ในปัจจุบัน และชะลอการก่อหนี้ใหม่ในอนาคต
.
แม้หลักการภาพกว้างจะดูเหมือนง่าย แต่การแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากแหล่งที่มาของหนี้ครัวเรือนจริง ๆ แล้วไม่ได้มาจากระบบสถาบันการเงินที่ ธปท.เป็นผู้ที่ดูแลเพียงแหล่งเดียวเท่านั้น
.
ยังมีหนี้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงเกษตรฯ ขณะที่หนี้สินจากบริษัทเช่าซื้อและลีสซิ่งจำนวนมากก็ยังไม่มีผู้กำกับดูแลชัดเจน รวมไปถึงหนี้นอกระบบที่ไม่มีตัวเลขเก็บเป็นข้อมูลสถิติไว้
.
ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้กว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา (2552-2562) การแก้ไขปัญหาทำได้เพียงลดสัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้ลง ในขณะที่ภาระหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนยังเพิ่มขึ้น
.
โดยเฉพาะภาคอีสานที่แม้สัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้จะลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าทุกภูมิภาค และภาพรวมประเทศ อีกทั้งภาระหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่เพิ่มสูงกว่าทุกภูมิภาค ก็เป็นไปได้ว่า หนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นกระจุกตัวอยู่กับครัวเรือนหรือผู้กู้รายเดิม
.
ดังนั้น จากปัญหานี้ ลำพังจะให้ ธปท.หรือกระทรวงการคลังขับเคลื่อนเพียงหน่วยงานเดียวไม่มีทางสำเร็จ
การจัดการหนี้สินครัวเรือนจะต้องใช้พลังจากระดับนโยบายที่จะต้องขับเคลื่อนในภาพกว้าง ครอบคลุมในทุกมิติ
.
ไม่ใช่แค่การจัดการเฉพาะหนี้ในระบบเท่านั้น แต่รวมถึงหนี้นอกระบบด้วย ยิ่งเงินกู้ทั้งสองแห่งมีอัตราดอกเบี้ยต่างกันราวฟ้ากับดิน ถึงแม้จะแก้ไขหนี้ในระบบได้ดีสักเพียงใด แต่ไม่ได้ล้างหนี้นอกระบบไปด้วย สุดท้ายหนี้นอกระบบจะเพิ่มพูนจนครัวเรือนไทยจมกองหนี้
.
ทั้งนี้ หนี้สินในระบบสถาบันการเงิน ธปท.ก็มีแนวทางในการกำกับดูแล ทั้งการพักหนี้ ปรับโครงสร้าง เบรกชำระ เพื่อให้ระบบเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนหนี้นอกระบบนั้น คงจะต้องมีการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สายปราบปราม เพื่อจัดการเจ้าพ่อเจ้าแม่เงินกู้ และเพิ่มช่องทางให้ผู้กู้เข้าถึงแหล่งเงินในระบบมากที่สุด
.
สุดท้าย การปลูกฝังทัศนคติการออม การลงทุน และการวางแผนทางการเงิน ควรบรรจุเป็นหลักสูตรวิชาบังคับตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เพื่อให้รู้จักวางแผนและบริหารความเสี่ยงอย่างถูกวิธี
.
อ้างอิงจาก:
https://kku.world/y9yvg
https://kku.world/3k5pa
https://kku.world/4qjd4
https://kku.world/gyvx2
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #หนี้ครัวเรือน #หนี้นอกระบบ

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top