อีสาน ภูมิภาคที่เคยปลูกโกโก้ได้เป็นอันดับ 2 ในไทย

ภูมิภาคที่เคยปลูกโกโก้ได้เป็นอันดับ 2 ในไทย
แต่ทำไม บ่ค่อยมีไผฮู้?
.
.
โกโก้ วัตถุดิบสำคัญในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และขนม โดยเฉพาะช็อกโกแลต แต่หลายคนคงยังไม่รู้ว่าทุกภูมิภาคของไทยรวมถึงภาคอีสานก็สามารถปลูกต้นโกโก้ได้ ซึ่งเป็นเพราะเหตุใด และมีโอกาสพัฒนาต่อยอดหรือไม่ วันนี้อีสานอินไซต์จะเล่าให้ฟัง
.
👉ทำความรู้จัก “โกโก้”
.
โกโก้ เป็นไม้ผลเขตร้อน (Tropical Fruit Crop) มีถิ่นกำเนิดเนิดในประเทศเม็กซิโก และเปรู
.
สามารถยืนต้นยาวนานกว่า 70 ปี แต่อายุการให้ผลผลิตเชิงพาณิชย์อยู่ระหว่าง 30-40 ปี
.
โดยจะเริ่มให้ผลผลิตและเก็บเกี่ยวในปีที่ 3 ขึ้นไป (เก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี มากน้อยขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์และสภาพแวดล้อม)
.
ซึ่งตามธรรมชาติของโกโก้ เป็นพืชที่ต้องการแสงแดด (ภายใต้ร่มเงา) และน้ำสม่ำเสมอ จึงเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนชื้น
.
สามารถปลูกได้ทั้งแบบเชิงเดี่ยว และแบบปลูกแซมกับพืชเศรษฐกิจอื่นที่มีขนาดใหญ่
.
สำหรับผลผลิตโกโก้ของโลกมีประมาณ 4.6 ล้านตัน ในปี 2563
.
แหล่งเพาะปลูกสำคัญ ได้แก่ ประเทศไอวอรีโคสต์ กานา เอกวาดอร์ อินโดนีเซีย และไนจีเรีย
.
👉การเพาะปลูกโกโก้ในไทย
.
ปี 2563 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกโกโก้ 5,913 ไร่ ผลผลิตรวม 859 ตัน แบ่งสัดส่วนแต่ละภูมิภาค ดังนี้
.
ภาคใต้ 1,799 ไร่ (30%)
ภาคอีสาน 1,696 ไร่ (29%)
ภาคเหนือ 1,379 ไร่ (23%)
ภาคตะวันตก 501 ไร่ (9%)
ภาคกลาง 295 ไร่ (5%)
ภาคตะวันออก 244 ไร่ (4%)
.
👉ทำไมภาคอีสานถึงปลูกโกโก้ได้เป็นอันดับ 2 ในไทย
.
ก่อนหน้านั้นภาคอีสานมีเกษตรกรปลูกโกโก้ไม่มากนัก เนื่องจากไม่มีความรู้ ปลูกมาแล้วผลผลิตไม่ได้คุณภาพ ต้องเผชิญกับราคาต่อกิโลกรัมที่ไม่สูง และมีตลาดรับซื้อน้อย โดยส่วนใหญ่เป็นรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ซึ่งก็มักมีปัญหาหลอกขายกล้าพันธุ์และไม่มารับซื้อตามสัญญา
.
ประกอบกับสภาพภูมิอากาศของภาคที่ไม่ได้ร้อนชื้นหรือมีฝนตกชุก ทำให้คนจำนวนมากเข้าใจว่าอีสานไม่เหมาะกับการปลูกโกโก้ ทั้งที่ปลูกได้ แต่หากอยากให้มีผลผลิตตลอดทั้งปีอาต้องลงทุนระบบน้ำเพิ่ม
.
ส่วนการที่ภาคอีสานมีพื้นที่ปลูกโกโก้มากเป็นอันดับ 2 รองจากภาคใต้ เนื่องจากภายหลังความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ภาครัฐจึงมีแนวคิดขยายพื้นที่เพาะปลูกในอีสาน โดยส่งเสริมให้ปลูกแทนสวนยางพาราที่มีอายุมากกว่า 25 ปีและให้น้ำยางน้อย หรือปลูกแซมพืชเศรษฐกิจอื่นเพื่อเป็นรายได้เสริม
.
👉พันธุ์โกโก้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตรอย่างถูกต้องมีเพียง 2 พันธุ์ คือ
.
1. พันธุ์ลูกผสมชุมพร 1 : ให้ผลผลิตสูง เมล็ดมีปริมาณไขมันสูงประมาณ 57%
2. พันธุ์ไอ.เอ็ม.1 (I.M.1) : ให้ผลผลิตสูง เมล็ดมีปริมาณไขมันสูงระหว่าง 52-67%
.
👉ปริมาณการนำเข้าและส่งออก
.
ปี 2563 ไทยนำเข้าโกโก้ 4.2 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่า 5.9 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบผงโกโก้ และช็อกโกแลต (95%) เนื่องจากการนำเข้าเมล็ดแห้งจำเป็นต้องมีใบอนุญาตนำเข้า
.
ด้านการส่งออก 2.3 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่า 2.3 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปช็อกโกแลตและอาหารปรุงแต่งอื่น ๆ ที่มีโกโก้ (99%)
.
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังถือว่าผลิตได้น้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศและการส่งออก ทำให้ที่ผ่านมาจำเป็นต้องนำเข้าในสัดส่วนที่สูง
.
👉โอกาสในการเติบโตของโกโก้ไทย
.
หากมองความได้เปรียบเชิงพื้นที่ที่สามารถเพาะปลูกได้ทุกภูมิภาคของประเทศ บวกกับปัจจัยสนับสนุนอย่างเทรนด์รักสุขภาพ เนื่องจากโกโก้สามารถช่วยลดความดันโลหิตสูง ช่วยให้อารมณ์ดี มีประสิทธิภาพความจำ และป้องกัน/รักษาโรคซึมเศร้าได้ รวมถึงเทรนด์ความยั่งยืนแบบ Zero Waste เพราะทุกส่วนของโกโก้สามารถนำมาแปรรูปได้ ก็ถือเป็นโอกาสเติบโตของโกโก้ไทยในอนาคต
.
ทั้งนี้จะเกิดขึ้นได้ เกษตรกรที่สนใจควรศึกษาข้อมูลโกโก้ให้รอบด้านก่อนเริ่มเพาะปลูก ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การปรับปรุงดิน และการจัดการน้ำ รวมถึงการเข้าใจ Contract Farming และเงื่อนไขก่อนตัดสินใจเซ็นสัญญา โดยเฉพาะคุณภาพผลผลิตที่โรงงานรับซื้อ และความเสียหายหากมีการยกเลิกสัญญา
.
ส่วนภาคเอกชน ควรหาทางเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ผ่านการสร้างเอกลักษณ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการยกระดับคุณภาพสินค้าสู่มาตรฐานสากลเพื่อการขยายฐานลูกค้า
.
และภาครัฐ ควรเป็นตัวกลางระหว่างเกษตรกรกับบริษัทที่รับซื้อ/โรงงานในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และอาจต้องอำนวยความสะดวกด้านระบบฐานข้อมูลให้ครบวงจร ตั้งแต่ทะเบียนสายพันธุ์ เนื้อที่ จำนวนเกษตรกร บริษัทที่รับซื้อ/โรงงาน ตลอดจนการนำเข้าและส่งออก เพื่อเป็นข้อมูลให้เกษตรกรและเอกชนใช้วางแผนด้านการผลิต การตลาด และการลงทุน
.
.
อ้างอิงจาก
https://kku.world/7fgd8
https://kku.world/7wvf9
https://kku.world/ygo8p
https://kku.world/wdl0o
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #โกโก้

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top