ก้าวแรกของเส้นทางโคขุนโพนยางคำ
.
เริ่มจากการจัดตั้ง ‘สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป. กลาง โพนยางคำ จำกัด’ ขึ้นในปี พ.ศ. 2523 เพราะต้องการพัฒนาพันธุ์โคเนื้อของไทยให้เป็นเนื้อระดับพรีเมียมที่สามารถขายได้ แต่ในตอนนั้นยังขาดความเชี่ยวชาญ จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและฝรั่งเศสขึ้น เพื่อพัฒนาพันธุ์โคให้ได้มาตรฐาน
.
โดยของบประมาณจากรัฐฯ ในการจัดหาน้ำเชื้อโคพันธุ์เนื้อต่างประเทศมาผสมเทียมให้สมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงโคในภาคอีสาน ปัจจุบันสหกรณ์ฯ โพนยางคำมีสมาชิกกว่า 6,000 คน และมีจำนวนโคมากกว่า 10,000 ตัว โคขุนที่ได้มาตรฐาน ราคาขายอยู่ที่ตัวละ 80,000-100,000 บาท จากเดิมซึ่งขายได้เพียงตัวละ 30,000 บาท
.
ด้วยสภาพภูมิอากาศในไทยที่ร้อน ทำให้การขุนให้มีไขมันแทรกตามธรรมชาติยากกว่าสัตว์ที่อยู่ในสภาพภูมิอากาศหนาวและเย็น เมื่อต้องขุนให้ได้เนื้อคุณภาพดี จึงต้องปรับปรุงสายพันธุ์ โดยนำสายพันธุ์ยุโรปมาผสมด้วย เช่น พันธุ์ชาร์โรเลส์ (Charolais), พันธุ์ลิมูซ่า (Limousin) และพันธุ์ซิมเมนทัล (Simmental) ทำให้ได้โคที่มี่โครงสร้างกล้ามเนื้อและไขมันที่ดี ทนอากาศในไทยได้ โดยเกษตรกรจะนิยมขุนโคพันธุ์ชาร์โรเลส์มากที่สุด
.
กรรมวิธีการ ‘ขุน’ ด้วยความรักและใส่ใจเป็นพิเศษ
.
ฟรังซัว แดร์โฟร์ (Francois Dervaux) ผู้เชี่ยวชาญการเกษตรจากฝรั่งเศส ผู้คอยให้คำแนะนำกับเกษตรกรมาตลอด ได้เปรียบการขุนวัวเหมือนการเลี้ยงเด็ก ที่ร่างกายจะเจริญเต็มที่เมื่อย่างเข้า 25 ปี เมื่อกินอาหารเข้าไปก็จะออกด้านข้าง
.
โคก็เหมือนกัน เริ่มแรกจึงเลี้ยงแบบปล่อยปกติ พอโตสักประมาณ 2 ปี จะได้โครงสร้างโคหนุ่มที่สมบูรณ์ และจะเริ่มเข้าสู่การขุน คือ ให้ยืนในคอกแล้วเอาอาหารมาป้อน โดยมาตราฐานโพนยางคำคือขุน 12-18 เดือน ซึ่งเป็นเวลาที่เทียบเท่ากับที่ใช้ขุนเนื้อวากิว ประเทศญี่ปุ่น ประกอบกับ การขุนด้วยอาหารสูตรพิเศษที่เกษตรกรได้คิดค้นลองผิดลองถูกจนได้สูตรอาหารที่ทำให้เกิดไขมันแทรกได้ดีขึ้น
.
หัวใจสำคัญที่สุดยังคงเป็นขั้นตอนการเลี้ยงอย่างเอาใจใส่ แต่ละครัวเรือนจึงขุนโคไม่เกินครั้งละ 5 ตัว เพื่อให้ให้ทำงานหนักเกินไปจนเกิดความเครียด ทำให้การดูแลเอาใจใส่ทำได้ดี การอาบน้ำ ทำความสะอาด ทำได้อย่างเต็มที่ คนเลี้ยงมีความสุข โคก็ไม่เครียด กินได้เยอะ ขุนได้ดี ได้เนื้อที่มีคุณภาพ
.
เนื้อโคขุนโพนยางคำ ต่างจากเนื้อทั่วไปตามท้องตลาดอย่างไร?
.
ปกติเนื้อจะมีกลิ่นเฉพาะที่ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ อาหาร และการเลี้ยงดู บางที่ที่ใช้เวลาขุนเพียง 3 เดือน ทำให้ไม่ค่อยมีไขมันแทรก สำหรับเนื้อโคขุนโพนยางคำจะไม่มีกลิ่นสาบ หรือกลิ่นคาว แต่จะมีกลิ่นหอมจากอาหารธรรมชาติที่เกษตรกรใช้เลี้ยง การชำแหละโดยใช้มาตรฐานฝรั่งเศส ตัดแบ่งชิ้นส่วนและกำหนดชื่อเรียกได้ 23 ส่วน ได้เนื้อสีแดงสดใส มีไขมันแทรกระหว่างเนื้อ ทำให้มีสัมผัสนุ่มเป็นพิเศษ จากการขุนที่ใช้เวลานานพอสมควร
.
ปัจจุบันเนื้อโคขุนโพนยางคำถือเป็นเนื้อที่มีคุณภาพสูงและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างชาติ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดสกลนคร ส่วนที่นิยมรับประทานมากสุดจะเป็นเนื้อส่วนริบอาย (Ribeye) ราคาเฉลี่ย กก.ละ 1,200-1,300 บาท ซึ่งราคาก็จะแบ่งตามเกรดของเนื้อ โดยดูจากไขมันแทรก โดยสหกรณ์โคขุนโพนยางคำสามารถผลิตได้ที่เกรด 3.5-4 และกำลังพัฒนาไปสู่เกรด 5 สูงสุด
.
อย่างไรก็ตามในเกรด 3.5-4 ก็ถือเป็นเนื้อที่มีมาตรฐานสูง และมีรสชาติอร่อยเช่นเดียวกัน เนื้อโคขุนโพนยางคำที่จำหน่ายทุกชิ้น สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า มาจากฟาร์มอะไร ชำแหละวันที่เท่าไหร่ และตรวจคุณภาพของเนื้อ ผ่านรหัสบาร์โค้ดได้ นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปอาหาร เช่น แหนมโคขุน ส้มเท้าวัว เนื้อแดดเดียว และลูกชิ้นโคขุน เป็นต้น
.
.
อ้างอิง: a day BULLETIN, สำนักงานปศุสัตว์ จ.สกลนคร และสำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.สกลนคร
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #โคขุน #โพนยางคำ #สกลนคร