คิดจาก ‘โซจู’ สู่ ‘อีสานรัม’

มุมที่เหมือนแต่มองต่างกันของภาครัฐไทย
กับประเด็นน่าสนใจ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า
.
.
‘โซจู’ สุราประจำชาติเกาหลีที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน สืบย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 13 และตอนนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างมากนอกประเทศบ้านเกิด จากการโฆษณาสอดแทรกวัฒนธรรมการดื่มผ่านซอฟต์พาวเวอร์อุตสาหกรรมบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือละครซีรีส์ที่เกาหลีใต้ส่งออก
.
แต่รู้ไหมว่า โซจูแบบดั้งเดิมเป็นเหล้าใสดีกรีสูงที่กลั่นจากข้าวขาวบริสุทธิ์เพียงอย่างเดียว จนเมื่อประมาณปี 1910 ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองเกาหลีใต้ การปันส่วนข้าวจึงไม่เพียงพอต่อการนำมาผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยิ่งเมื่อเกิดภาวะขาดแคลนข้าวในช่วงสงครามเกาหลี ทำให้ปี 1965 รัฐบาลมีคำสั่งห้ามผลิตเหล้าจากข้าวอย่างเป็นทางการ
.
ด้วยข้อจำกัดนี้ ผู้ผลิตโซจูจึงหันไปใช้วัตถุดิบทางเลือกอย่างแป้ง ธัญพืช มันเทศ หรือแม้กระทั่งมันสำปะหลังแทน รวมถึงปรับกระบวนการผลิตให้โซจูเจือจางและมีดีกรีต่ำลง แม้ปี 1999 คำสั่งของรัฐบาลที่ห้ามผลิตโซจูจากข้าวจะถูกยกเลิก แต่นักดื่มก็คุ้นชินกับโซจูแบบนี้แล้ว ด้านผู้ผลิตเองก็พอใจกับกรรมวิธีที่ช่วยประหยัดต้นทุน ทำให้สูตรที่ไม่จำกัดเฉพาะข้าวและมีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกลายมาเป็นมาตรฐานของโซจูสมัยใหม่ดังที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
.
ประกอบกับภาครัฐของเกาหลีใต้เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจได้พัฒนา-แข่งขัน จนเกิดเป็นโซจูรสชาติใหม่ ๆ แตกต่างกันไปตามวัตถุดิบและกรรมวิธีการผลิต โดยเฉพาะรสผลไม้ที่มีแอลกอฮอล์ต่ำ เพื่อเจาะกลุ่มนักดื่มผู้หญิงและคนรุ่นใหม่ รวมถึงการทำข้อตกลงกับธุรกิจเรื่องขนาดและการใช้ขวดสีเขียวใส ซึ่งไม่ใช่แค่การสร้างภาพจำ แต่ยังง่ายและลดต้นทุนในการคัดแยกก่อนนำไปรีไซเคิลด้วย
.
การบริโภคโซจูที่ได้รับความนิยมทั้งในเกาหลีและต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ปี 2020 ตลาดโซจูทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 3,025 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เรียกได้ว่าสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลยก็ว่าได้
.
เมื่อย้อนกลับมามองไทย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีเอกลักษณ์ไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ต้องเสียโอกาสไปอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาถูกปิดกั้นด้วยคำกล่าวอ้างด้านศีลธรรม และล่าสุดด้านสิ่งแวดล้อม
.
ยกตัวอย่าง เหล้าชั้นดีที่คนไทยด้วยกันเองก็แทบจะไม่รู้จัก ‘อีสานรำ’ (ISSAN RUM) แบรนด์ซึ่งเริ่มจากการทดลองปลูกอ้อยเอง หมักเอง กลั่นเองมาตั้งแต่ปี 2013 อีกทั้งมีโรงงานตั้งอยู่ในจังหวัดหนองคาย จึงใช้อ้อยสด ๆ ในพื้นที่เป็นวัตถุดิบหลัก และด้วยรสสัมผัสที่เฉพาะตัวทำให้อีสานรำได้รางวัลเหรียญเงินจากเวทีระดับโลก IWSC (International Wine and Spirit Competition) ในปี 2014
.
สุรากลั่นที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นเหมือนกัน แต่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดที่มากกว่า อย่างประเด็นล่าสุด พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ซึ่งมีสาระสำคัญต้องการเปิดเสรีให้ประชาชนที่ไม่ได้ผลิตสุราเพื่อการค้า ให้มีโอกาสสามารถดำเนินการได้ แต่ไม่ได้ไปต่อเนื่องจาก ครม.เป็นกังวลเกี่ยวกับมาตรฐาน คุณภาพ และสิ่งแวดล้อมในการผลิต ทั้งที่รัฐเองมีหน้าที่ต้องควบคุมมาตรฐานสินค้าและบริการต่าง ๆ อยู่แล้ว การเปิดให้มีการแข่งขันมากขึ้นจะไม่ทำให้มาตรฐานต่ำลง ตราบใดที่รัฐมีการกำกับอย่างจริงจัง
.
ธุรกิจสุราที่พัฒนาได้ช้า ออกไปแข่งขันกับโลกไม่ได้ สุดท้ายประเทศจะต้องขาดดุลการค้านำเข้าสุราทุกปี จากการที่คนหันไปดื่มแบรนด์นอกแทน ดังนั้น ถ้ารัฐอยากสนับสนุนธุรกิจสุราไทยโดยเฉพาะของผู้ประกอบการรายย่อยจริง ๆ ควรเปิดกว้างทางการแข่งขัน และใช้นโยบายอื่น ๆ เช่น ช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ดีขึ้น ทำโครงการ Reskill/Upskill ช่วยพัฒนามาตรฐานการผลิตให้มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับข้อบังคับกฎหมายเดิมเพื่อลดการมอมเมา เช่น การไม่ขายให้เด็กมีอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นต้น
.
.
อ้างอิงจาก : https://kku.world/heegg
https://kku.world/q7sbf
https://kku.world/qvuol
https://kku.world/8tf5p
.
ข้อมูลเพิ่มเติม พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ.2560
https://kku.world/r4qv8
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #โซจู #อีสานรัม

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top