มรดกโลกถิ่นอีสาน

แหล่งมรดกโลก (World Heritage Site) เป็นพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ว่าเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญและมีคุณค่าทางด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือด้านอื่น ๆ ที่ควรได้รับการปกป้องคุ้มครองทางกฎหมายตามอนุสัญญาว่าด้วยเรื่อง “มรดกโลก” ถือเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ที่จะได้ร่วมกันชื่นชมและอนุรักษ์สืบต่อไป
.
ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกแล้วทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่
.
มรดกโลกทางวัฒนธรรม 3 แห่ง ประกอบด้วย
1. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns)
2. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (Historic City of Ayutthaya)
3. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (Ban Chiang Archaeological Site)
.
มรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง ประกอบด้วย
1. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง (Thungyai-Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuaries)
2. กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ (Dong Phayayen-Khao Yai Forest Complex)
3. กลุ่มป่าแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Forest Complex) ซึ่งเป็นมรดกโลกแหล่งล่าสุดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมานี้
.
.
โดยหากนับเฉพาะภาคอีสานจะมี 2 แห่ง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก คือ
.
1. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (Ban Chiang Archaeological Site) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี 2535
.
แหล่งโบราณคดีสำคัญของประเทศไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 2509 เป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาค้นคว้าของนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มีงานวิจัยเปิดเผยว่า พื้นที่ดังกล่าวมีอายุกว่า 1,495 ปีก่อนคริสตกาล มีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงการทำเกษตรกรรม การผลิตเซรามิก และเทคโนโลยีการทำเครื่องมือทองสัมฤทธิ์
.
เคยเป็นที่อยู่อาศัยและที่ฝังศพของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ นับว่าเป็นแหล่งตั้งถิ่นฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดที่ถูกค้นพบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม สังคม และเทคโนโลยีของมนุษย์ ปรากฏชัดถึงความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและความซับซ้อนทางสังคมของชุมชนในอดีต เห็นได้จากการค้นพบหลุมฝังศพที่เต็มไปด้วยเครื่องปั้นดินเผาและโลหะหลากหลายรูปแบบ
.
ด้วยคุณค่าและความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงนั้นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากกับชุมชนในปัจจุบัน บ้านเชียงได้กลายเป็นหมู่บ้านมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในฐานะแหล่งมรดกโลกด้านวิชาการ ข้อมูล และโบราณวัตถุจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรื่องราวของมนุษยชาติทั้งของประเทศไทยและของโลก
.
.
2. กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ (Dong Phayayen-Khao Yai Forest Complex) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเมื่อปี 2548
.
ผืนป่าที่เป็นที่อยู่ของสัตว์นานาชนิดกว่า 800 สายพันธุ์ ประกอบด้วยพื้นที่คุ้มครองอุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่อีก 1 แห่ง พื้นที่รวมกว่า 3.8 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ นครราชสีมา สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์
.
เป็นป่าที่มีบทบาทสำคัญระดับสากลในด้านของความหลายหลายทางชีวิต ที่มีตั้งแต่ป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบเขา ป่าดงดิบแล้ง ไปจนถึงป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง นอกจากนี้ยังมีทุ่งหญ้าเขตร้อนกระจายตัวอยู่ทั่วไป รวมไปถึงป่าบนเขาหินปูนและป่าริมห้วยลำธาร ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ป่าจำนวนมาก
.
โดยมีสัตว์ป่ามากกว่า 800 สายพันธุ์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 112 สายพันธุ์ (ในจำนวนนี้มีชะนี 2 สายพันธุ์) นก 392 สายพันธุ์ รวมถึงสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอีกกว่า 200 สายพันธุ์ ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลว่ามีความสำคัญระดับโลก มี 3 ชนิดพันธุ์ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (endangered) ได้แก่ ช้างป่า เสือโคร่ง และวัวแดง นอกจากนี้ยังพบว่ามีสัตว์ป่าที่มีแนวโน้มสูญพันธุ์ไปจากโลก (vulnerable) อาศัยอยู่ในผืนป่าแห่งนี้ด้วย อาทิ ลิงกังหรือลิงก้นแดง ชะนีมงกุฎ เม่นใหญ่ หมาไน หมีควาย เสือลายเมฆ กระทิง เลียงผา นกลุมพูแดง ไก่ฟ้าพญาลอ นกยูง และนกฟินฟุต
.
.
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังมีอีก 6 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นภาคอีสานถึง 3 แห่งที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) เพื่อเข้ารับการพิจารณาจากคณะกรรมการมรดกโลก ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี พระธาตุพนม สิ่งก่อสร้างประวัติศาสตร์และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง จังหวัดนครพนม และกลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด จังหวัดบุรีรัมย์ ที่เรียกได้ว่าเป็น “ว่าที่มรดกโลก” ของไทย
.
.
อ้างอิง
https://whc.unesco.org/en/list/575
https://whc.unesco.org/en/list/590/

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top