อุดรธานี เป็นจังหวัดที่อยู่ในกลุ่มจังหวัด ‘สบายดี’ (ประกอบไปด้วย: บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี) มีผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) ในปี 2566 อยู่ที่ 124,478 ล้านบาท โดยอุดรธานีนั้นขึ้นชื่อเรื่องการค้า และการท่องเที่ยว มีแหล่งท่องเที่ยวหลากสายหลากสไตล์ ยกตัวอย่างเช่น:
- สายธรรมชาติ: ทะเลบัวแดง บึงหนองหานกุมภวาปี
- สายประวัติศาสตร์: พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง
- สายธรรมะและสายมู: วังนาคินทร์คำชะโนด วัดป่าภูก้อน
- สายเมือง: เซนทรัลพลาซ่าอุดรธานี ศูนย์การค้ายูดี ทาวน์
Agoda เผย อุดรธานีคว้าอันดับ 1 จุดหมายท่องเที่ยวสุดคุ้ม
อุดรฯ เป็นหมุดหมายแรกในการลงทุนในอีสาน
อุดรธานีตั้งอยู่ในภาคอีสานตอนบน และมีเขตติดต่อกับจังหวัดชายแดนลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งถือว่าใกล้กับประเทศลาว อีกทั้งอุดรธานี ยังเป็นจังหวัดที่สามารถเดินทางได้สะดวก ทั้งทางถนน ราง และทางเครื่องบิน จึงถือว่ามีศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลางคมนาคมเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการลงทุนจากภาครัฐในโครงการ “รถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทย กรุงเทพฯ – โคราช – หนองคาย”
โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – หนองคาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง แบ่งออกเป็นทั้งหมด 2 ระยะด้วยกัน
-
- ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 253 กิโลเมตร วงเงิน 179,413 ล้านบาท
- ระยะที่ 2 นครราชสีมา – หนองคาย ระยะทางประมาณ 357.12 กิโลเมตร วงเงินรวมกว่า 341,351 ล้านบาท
โดยหากโครงการนี้แล้วเสร็จในอนาคตจะย่นระยะเวลาการเดินทาง 606.17 กิโลเมตร ให้เหลือเวลาเดินทางเพียง 3 ชั่วโมง 36 นาที เท่านั้น และจะทำให้การเดินทางข้ามจังหวัด และขจัดอุปสรรคในการเดินทางข้ามจังหวัดในภาคอีสานลดลง และจะกระตุ้นการเดินทางและการท่องเที่ยวตลอดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงนี้มากขึ้น
.
นอกจากนี้แล้ว อุดรธานียังมีโครงการศูนย์กลางการค้าและการขนส่งสินค้า (Logistic Park) และโครงการท่าเรือบก (Inland Container Deport) ที่จะจัดตั้งขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เพื่อยกระดับการขนส่งสินค้าและพร้อมเป็นศูนย์โลจิสติกส์ประจำอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย
.
ส่วนในด้านเศรษฐกิจนั้น ปี 2565 อุดรธานี มีมูลค่าเศรษฐกิจ (GPP) 120,539 ล้านบาท มากเป็นอันดับ 4 ของอีสาน และมีรายได้ต่อหัว (GPP per capita) 96,546 บาท สูงเป็นอันดับ 5 ของอีสาน ซึ่งมีการเติบโตจากปีก่อนหน้าทั้งมูลค่าเศรษฐกิจและรายได้ต่อหัว
.
โดยเศรษฐกิจของอุดรธานีพึ่งพาภาคบริการเป็นหลัก เมื่อดูสัดส่วนโครงสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดอุดรธานี ในปี 2565 มาจาก
– ภาคบริการ 73,854 ล้านบาท (61%)
– ภาคอุตสาหกรรม 24,465 ล้านบาท (20%)
– ภาคเกษตรกรรม 22,219 ล้านบาท (18%)
.
ซึ่งธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก เป็นสัดส่วนมากที่สุดในภาคบริการ คิดเป็นสัดส่วนถึง 22% โดยอุดรธานีมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่อย่างเซ็นทรัล และศูนย์การค้ายูดีทาวน์ ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและช่วยดึงดูดผู้คนให้เข้ามาในพื้นที่มากขึ้น และส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดด้วย
.
อีกทั้ง อุดรธานียังเป็น 1 ใน 10 เมือง MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) ของประเทศ สะท้อนถึงความสามารถในการรองรับการจัดงานนิทรรศการ และการอีเวนท์ หรือประชุมขนาดใหญ่ได้ โดยในปี 2569 อุดรธานีจะเป็นเจ้าภาพการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก (International Horticultural Expo 2026) ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ระดับโลก คาดว่าจะมีจำนวนผู้เข้าชมงาน 3.6 ล้านคน แบ่งเป็นชาวไทย 70% และชาวต่างประเทศ 30% โดยคาดว่าจะมีประเทศที่เข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 20 ประเทศ และจะทำให้เกิดรายได้ในอุดรธานีกว่า 32,000 ล้านบาท
นอกจากนั้น อุดรธานี มีโครงการสำคัญที่กำลังอยู่ในช่วงเตรียมการอย่างต่อเนื่อง อย่าง “งานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 – 14 มีนาคม 2570 ณ หนองแด จังหวัดอุดรธานี ภายใต้แนวคิด “Diversity of Life: Connecting People, Water and Plants for Sustainable Living” พร้อมออกแบบพื้นที่ให้ต่อยอดสู่มรดกของเมืองในระยะยาว โดย ศ.ดร. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่างานมหกรรมครั้งนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก และจะคาดว่าจะทำให้เกิดเงินสะพัดกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท
อุดรธานี เมืองรองยอดนิยมอันดับ 1 ของภาคอีสาน
แม้ว่าอุดรธานีอาจจะยังไม่ได้ยกระดับสู่การเป็นเมืองหลักแห่งการท่องเที่ยว แต่หลายคนอาจทราบกันดีว่า อุดรธานี เป็นหนึ่งใน 10 เมือง MICE ของประเทศไทย ซึ่งหมายถึงเมืองที่มีศักยภาพในการรองรับกิจกรรมด้านธุรกิจ เช่น การประชุม สัมมนา และงานแสดงสินค้า โดยอุตสาหกรรม MICE นี้ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของจังหวัด และสร้างมูลค่าเพิ่มในระดับสูง ซึ่งธุรกิจจำพวกโรงแรม รีสอร์ทและห้องชุด ในอุดรธานีก็เรียกได้ว่ามีความพร้อม จากจำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนในจังหวัดกว่า 115 ราย รวมทุนจดทะเบียน 1,537 ล้านบาท และสามารถฟันรายได้ในปี 2566 ไปกว่า 616 ล้านบาท
หนึ่งในปัจจัยที่ตอกย้ำความพร้อมของอุดรธานีในฐานะเมืองศูนย์กลาง MICE และจุดหมายปลายทางยอดนิยม คือปริมาณการเดินทางทางอากาศ โดยในปี 2567 ท่าอากาศยานอุดรธานีมีจำนวนเที่ยวบินมากถึง 11,504 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสารรวมกว่า 1.76 ล้านคน ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในภาคอีสาน และมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากท่าอากาศยานกระบี่ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักของภาคใต้
ในด้านจำนวนผู้เยี่ยมเยือนก็เป็นอีกตัวเลขที่สะท้อนความนิยมของเมืองอุดร โดยในปี 2567 อุดรธานีมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนรวมกว่า 4.9 ล้านคน เป็นตัวเลขที่มากเป็นอันดับ 2 ของภาคอีสาน และมากที่สุดในเมืองรอง และคาดว่าในปี 2568 ตัวเลขจำนวนผู้เยี่มมเยือนอุดรธานีน่าจะทะลุ 5 ล้านคนได้ไม่ยาก
เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดขอนแก่น ซึ่งถือเป็นเมืองหลักของภาคอีสาน จะพบว่า ขอนแก่นมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยสูงกว่าอุดรธานี อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจำนวนผู้เยี่ยมเยือนโดยรวมแล้ว อุดรธานีกลับมีตัวเลขสูงกว่า
พามาเบิ่ง🚅🛩⛴ 🐉เส้นทางมังกร: การเดินทางของคนจีนสู่อีสาน 2024🇨🇳
ปัจจัยสำคัญมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าอุดรธานี ที่มีจำนวนกว่า 1,055,466 ราย ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 2 ของภาคอีสาน รองจากหนองคาย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจาก สปป.ลาว ที่นิยมเดินทางจากนครหลวงเวียงจันทน์ผ่านด่านพรมแดนจังหวัดหนองคาย เพื่อเข้ามาจับจ่ายสินค้าและใช้บริการต่าง ๆ ในเขตเมืองอุดรธานี
นักท่องเที่ยวชาวสปป.ลาว นั้นเป็นอุปสงค์ที่สำคัญของการท่องเที่ยวเมืองอุดร อุดรธานีได้รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสูงที่สุดในภาคอีสาน กว่า 3,605 ล้านบาท เฉลี่ยต่อหัวนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3,415 บาท สูงเป็นอันดับที่ 3 ของภาค
จุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของอุดรธานีในฐานะเมืองศูนย์กลางการค้าชายแดนที่มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งด้วยศักยภาพด้านการเชื่อมต่อ การท่องเที่ยว เศรษฐกิจชายแดน และโครงสร้างพื้นฐาน อุดรธานีมีโอกาสสูงในการพัฒนาเป็น “เมืองหลักใหม่” ของภาคอีสานในอนาคต หากได้รับการสนับสนุนจากนโยบายรัฐ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการวางแผนเมืองที่ตอบโจทย์การเติบโตอย่างยั่งยืน
ที่มา: