“บุญบั้งไฟ ถือเป็นหนึ่งในประเพณีที่สำคัญของภาคอีสานที่จะขาดไปไม่ได้เลย ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
ชาวอีสานมีความเชื่อว่า ถ้าปีใดไม่จัดงานบุญบั้งไฟ ฟ้าฝนก็จะไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดความแห้งแล้ง ไม่มีน้ำทำนา แต่ถ้าปีใดจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ฟ้าฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาล เกิดความอุดมสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัย งานบุญบั้งไฟจึงถือเป็นงานประเพณีประจำปีที่สำคัญของชาวอีสาน พอใกล้ถึงวันงานชาวอีสานไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะกลับบ้านไปร่วมงานบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นงานที่สร้างความรักความสามัคคีของคนท้องถิ่นเป็นอย่างดี
ภาพโดย คุณครูประภากร กลางคาร เผยแพร่โดย เพจ สุวรรณภูมิ
.
ณ จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอ สุวรรณภูมิ ที่กำเนิดหนึ่งใน บั้งไฟที่มีการเอ้บั้งไฟที่งดงามมากที่สุดได้มีการจัดงานบุญบั้งไฟลายศรีภูมิ
โดยในปีนี้ ประเพณีบุญบังไฟลายศรีภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด จะถูกจัดขึ้น วันที่ 4-8 เดือน มิถุนายน ปี 2568
ในงานประเพณีในปีนี้ ก็จะมีกิจกรรมตลอดทั้งงาน ไม่ว่าจะเป็น ขบวนมเหศักดิ์ สักการะและอัญเชิญถ้วยรางวัลพระราชทาน, ขบวนฟ้อน วัฒนธรรมเมืองศรีภูมิ, การแสดงวัฒนธรรม, ประกวดขบวนฟ้อนสวยงาม,
ประกวด บั้งไฟเอ้สวยงาม, และ จุดบั้งไฟถวยตามประเพณี และ ยังมีกิจกรรมอื่นๆอีกมากมายภายในงาน
ในงานนี้ยังเป็นหนึ่งในงานที่ได้รับ โปรดเกล้าฯ พระราชทาน ถ้วยรางวัล การแข่งขันประเภท บั้งไฟเอ้สวยงาม และนอกจากนี้ ยังมีการประกวด “ขบวนฟ้อนสวยงาม” ขิงถ้วยรางวัลพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกด้วย ส่งผลให้ งานประเพณีบุญบั้งไฟลายศรีภูมิ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็น งานเดียวในประเทศไทย ที่มี การประกวดชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน ของทั้งสองพระองค์
ทำไมถึงว่าบั้งไฟลายศรีภูมิเป็นหนึ่งในบั้งไฟที่มีการเอ้บั้งไฟสวยมากที่สุด
จากการศึกษาวิจัย ของ ดร.อำคา แสงงาม ปราชญ์แห่งท้องทุ่งกุลา เรื่องการตกแต่งบั้งไฟของชาวอำเภอสุวรรณภูมิ ในปี 2535 นั้น ได้ให้ข้อสังเกตในเบื้องต้นว่า การ “เอ้บั้งไฟ”หรือ การประดับตกแต่งบั้งไฟ
ของชาวสุวรรณภูมิ มีลักษณะที่เป็นแบบแผนเฉพาะถิ่น ในด้านการใช้วัสดุ วิธีการสร้าง รูปทรงวิธีการการเอ้ การใช้สีจากกระดาษ เอ้ตัวบั้งไฟ ประการที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้ “การเอ้บั้งไฟ” ของสุวรรณภูมิ แตกต่างจากที่อื่นโดยชัดเจน คือ ลวดลายที่นำไปใช้ประดับตกแต่งนั้น จะเป็น ลวดลายที่เกิดจากการใช้ เทคนิคการตัดกรรไกรด้วยกระดาษ เท่านั้น ซึ่ง แตกต่างจากที่อื่นโดยสิ้นเชิง โดยลวดลาย มีพัฒนาการ โดยช่างในท้องถิ่น และมีการพัฒนาลวดลาย ไม่น้อยกว่า 100 ปี ในอีกประการหนึ่ง ของเอกลักษณ์การตกแต่งเอ้บั้งไฟ ของชาวสุวรรณภูมิ คือ รูปเศียรนาค ที่ใช้เอ้ ส่วนหัวบั้งไฟ โดย เสมือนเป็นการระลึกถึง ท้าวสุวรรณภังคี ซึ่งเป็นพยานาค ตามตำนานผาแดง นางไอ่ และ เป็นส่วนหนึ่งที่เชื่อมโยงกับ พุทธประวัติพระยานาคมุจรินทร์ ด้วยนั้น “ส่วนหัวนาค” จะเหมือนกันกับ นาคในช่อฟ้า คือ คอยาว มีเต้า มีหน้าอก และมีปีกยื่นออกไปทั้งสองข้าง จากข้อสังเกตดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงลักษณะเด่นของการเอ้บั้งไฟที่
สุวรรณภูมิที่มีแบบแผนทางศิลปะที่เป็นแบบท้องถิ่นนิยม ซึ่งมีคุณค่าควรแก่การศึกษา และอนุรักษ์
.
ทั้งนี้บั้งไฟลายศรีภูมิ จะมีองค์ประกอบหลัก 8 ประการ ได้แก่
- ลายลูก ใช้ลายกรรไกร กระดาษจังโกสีแดง พื้นใช้กระดาษขัดมันสีเหลือง
- ลายปอก ใช้ลายประจำยามประดิษฐ์ พื้นใช้กระดาษขัดมันสีเหลือง มีการประดิษฐ์ลวดลายแข่วหมา (ฟันสุนัข) สลับสีดำ แดง เหลือง เป็นเส้นขนาดเล็ก ประดับกับลายประจำยาม
- ประดิษฐ์ลายแส้ หรือลายพระอินทร์เป็นเส้นเล็กๆพับด้วยกระดาษขัดมันสีดำ สลับเหลืองสอดอยู่ระหว่างลูกบั้งไฟ
- อกนาค ใช้ไม้แกะสลักที่มีขามใหญ่เต็มหัวบั้งไฟ ลงสีสันเป็นเกล็ดนาคด้วยสีเหลือง ส้ม แดง และดำ
- หัวนาค ใช้ไม้แกะสลักเป็นพญานาค ประกอบด้วยลายกนก สีเหมือง ส้ม แดง และดำ ปากนาคขยับขึ้นลง พร้อมประดิษฐ์ให้สามารถพ่นน้ำได้
- แผงนาค ใช้ไม้ลงสีสันเป็นเกล็ดนาค ด้วยสีเหลือง ส้ม แดง และดำ
- หางนาค เป็นลายกนก ลงสีสันสลับกันกับแผงนาค และหัวนาคอย่างลงตัว
- ประดิษฐ์ลายยาบ หรือยาบบั้งไฟ ด้วยการหนีบกระดาษเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายกนก ลายประจำยาม ลายพู่กัน ลายพู่ ลายเฟื่อง ลายแข่วหมา ตัวลายใช้กระดาษจังโกสีแดง พื้นลายใช้กระดาษขัดมันสีเหลืองสลับกับลายเส้นแข่วหมาได้อย่างลงตัว
คุณพ่อเลียบ แจ้งสนาม ศิลปินพื้นบ้านอีสานช่างเอ้บั้งไฟลายศรีภูมิ ภาพโดย :สุวรรณภูมิ
ภาพจาก “ลายศรีภูมิ เอกลักษณ์บั้งไฟเมืองสุวรรณภูมิ” เอกสารกองวิชาการและแผนงานเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ
.
ความเชื่อในการเอ้บั้งไฟ
การเอ้บั้งไฟ ภาพจาก อุบลราชธานีบ้านเฮา
การประดิษฐ์ลวดลายเอ้บั้งไฟก็มีความเชื่อสืบเนื่องมาจากความเชื่อเรื่องเทพเจ้า พระยาแถน ผู้ประทานน้ำฝนในงานบุญบั้งไฟ โดยบั้งไฟที่สร้างขึ้นและเอ้ด้วยลวดลายที่สวยงาม ก็เพื่อใช้เป็นเครื่องถวายบูชาพระยาแถน เพื่อให้สิ่งที่ถวายมีความสวยงาม มีความเป็นมงคลชาวบ้านจึงเอ้บั้งไฟด้วยดอกไม้ ลวดลายดอกไม้ที่เป็นมงคลนานาพันธ์ ให้มีความวิจิตรสวยงามเป็นพิเศษ นอกจานี้ ความเชื่อที่มีต่อลายกบปิ้ง หรือ ลายตากบ
เป็นความเชื่อเกี่ยวกับความไม่เป็นมงคลของลวดลาย เนื่องจาก คำว่า “ลายบั้งไฟ” ชาวบ้านเชื่อว่าบั้งไฟ หรือลายเอ้บั้งไฟ หรือคำว่าไฟ เป็นของร้อน จึงไม่นิยมนำลวดลายบั้งไฟเอ้ ไปประยุกต์ใช้กับสิ่งต่างๆ โดยนัยหนึ่ง ตามทัศนคติและความเชื่อ การตกแต่งด้วยลวดลายตากบ หรือ เกี่ยวกับกบ นั้น นอกจากลักษณะของลายจะเหมือนกับกบแล้วยังเสมือนเป็นตัวแทนของพระยาคันคากที่สามารถรบชนะพระยาแถนจนทำให้เกิดข้อตกลง ให้พระยาแถนส่งฝนให้ตกลงมาเมื่อจุดบั้งไฟขึ้นไป
.
สิ่งที่สะท้อนถึง “ทุนวัฒนธรรม”
ได้อย่างชัดเจน คือ การที่ชาวบ้านร่วมกันผลิตบั้งไฟทั้งในเชิงศิลป์และวิศวกรรม โดยใช้วัสดุพื้นบ้านผสมผสานกับเทคนิคดั้งเดิม กลายเป็นงานฝีมือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เช่น โมเดลจำลองบั้งไฟ หรือศิลปะลวดลายบนผ้าหรือของตกแต่งบ้าน ทั้งหมดนี้ถือเป็น
“เศรษฐกิจวัฒนธรรม” (Cultural Economy) ที่มีศักยภาพสูงในการสร้างรายได้แก่ชุมชน
ยิ่งไปกว่านั้น งานบุญบั้งไฟยังเป็นงานเทศกาลสำคัญที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในระดับอำเภอได้อย่างแท้จริง ทั้งการสร้างงานชั่วคราวให้กับแรงงานในท้องถิ่น การหมุนเวียนของเงินในร้านค้าชุมชน และการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ หากได้รับการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การตลาด และการเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น นักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหรือกลุ่มนักถ่ายภาพ งานบั้งไฟลายศรีภูมิจะสามารถยกระดับเป็นเทศกาลระดับภูมิภาคได้
อ้างอิงจาก