ฮู้บ่ว่า? บริษัทในเครือ เกียรติสุรนนท์ เป็นเครือบริษัทในกลุ่มธุรกิจขายมอเตอร์ไซค์ที่มีรายได้สูงที่สุดในภาคอีสาน โดยมีบริษัทรวมกันที่สิ้น 5 บริษัท 47 สาขา ใน 3 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธร มีรายได้รวมในปี 2566 ที่ผ่านมารวมกันกว่า 4,668 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 175 ล้านบาท
จังหวัด | ชื่อบริษัท | รายได้รวม | %YoY | กำไรสุทธิ | %YoY | จำนวนสาขา |
อุบลราชธานี | บริษัท เกียรติสุรนนท์อุบลราชธานี จำกัด | 1930 | 9.6% | 88 | 357.4% | 30 |
หนองบัวลำภู | ห้างหุ้นส่วนจำกัด ณัฐพงษ์มอเตอร์ (1989) | 1539 | 3.5% | 19 | 45.9% | 45 |
อุดรธานี | ห้างหุ้นส่วนจำกัด ณัฐมอเตอร์เซลล์ | 1175 | 5.3% | 2 | 42.9% | 34 |
มุกดาหาร | บริษัท พรประเสริฐมอเตอร์ จำกัด | 1053 | -9.9% | 11 | -62.3% | 66 |
สกลนคร | บริษัท อึ้งกุ่ยเฮงสกลนคร จำกัด | 1034 | 20.3% | 13 | 32.4% | 54 |
บุรีรัมย์ | บริษัท บุรีรัมย์ยนตรการ จำกัด | 888 | 15.2% | 8 | 15.2% | 18 |
ศรีสะเกษ | บริษัท ศรีสะเกษกิจเจริญไทย จำกัด | 870 | -2.1% | 19 | -19.0% | 22 |
ร้อยเอ็ด | บริษัท ชัยรักษ์มอเตอร์ จำกัด | 779 | 8.6% | 20 | 59.7% | 92 |
มหาสารคาม | บริษัท ที.โอ.เอช.มอเตอร์ จำกัด | 628 | 5.9% | 4 | -5.2% | 23 |
ขอนแก่น | บริษัท ซี.เค.เจริญยนต์ จำกัด | 604 | -2.4% | 9 | 132.5% | 13 |
กาฬสินธุ์ | ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุพัฒน์มอเตอร์ | 586 | 18.2% | 7 | 156.0% | 32 |
หนองคาย | บริษัท เจียง ฮอนด้า หนองคาย จำกัด | 401 | 12.2% | 2 | -23.5% | 35 |
นครราชสีมา | บริษัท ทองแท้เจริญยนต์ จำกัด | 377 | 14.4% | 7 | 14.9% | 2 |
สุรินทร์ | บริษัท วรรณเทพยนต์ จำกัด | 362 | -0.2% | 1 | -10.6% | 11 |
อำนาจเจริญ | บริษัท เกียรติสุรนนท์อำนาจเจริญ จำกัด | 324 | 3.5% | 2 | 43.2% | 8 |
ยโสธร | บริษัท เกียรติสุรนนท์ยโสธร จำกัด | 276 | 17.5% | 1 | 1563.7% | 9 |
เลย | ห้างหุ้นส่วนจำกัด พัฒนชัยยนต์-ปืนวิฑูรย์ | 270 | 7.2% | 2 | -45.4% | 21 |
ชัยภูมิ | ห้างหุ้นส่วนจำกัด ชัยภูมิศรีสมวงศ์กลการ | 199 | 5.9% | 5 | 6.6% | 8 |
นครพนม | บริษัท มังกรมอไซค์ จำกัด | 118 | -10.0% | 1 | 149.1% | 19 |
บึงกาฬ | บริษัท ลิ้มมณี เจริญยนต์ จำกัด | 80 | 30.4% | 1 | 248.6% | 3 |
แบรนด์รถมอเตอร์ไซค์ที่มีการจดทะเบียนใหม่สูงสุดในอีสานปี 2567
- อันดับ 1 Honda จำนวน 331,905 คัน (85.8%)
- อันดับ 2 Yamaha จำนวน 41,123 คัน (10.6%)
- อันดับ 3 Vespa จำนวน 4,252 คัน (1.1%)
รถจักรยานยนต์พาหนะที่มีทุกบ้าน
รถจักรยานยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ ยานพาหนะที่ใช้เดินทางยอดนิยมของคนไทย แม้จะเป็นสินค้าที่มีราคาย่อมเยาเมื่อเทียบกับบ้านหรือรถยนต์ แต่หลายคนกลับเลือกผ่อนชำระในระยะยาว ด้วยค่างวดรายเดือนที่ไม่สูงนัก อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยที่สะสมตลอดสัญญากลับสูงมาก ซึ่งกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของธุรกิจมอเตอร์ไซค์ ไม่ใช่เพียงแค่กำไรจากการขายตัวรถเท่านั้น แต่รายได้จากการปล่อยสินเชื่อก็มีมูลค่าสูงและสร้างกำไรอย่างมหาศาลให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มนี้
ภาคอีสานถือเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์สะสมสูงสุดในประเทศอยู่ที่ 5.2 ล้านคัน จากทั้งหมด 22.9 ล้านคันทั่วประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนประชากรในภาคอีสานที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ นอกจากรถจักรยานยนต์แล้วรถกระบะก็เป็นอีกหนึ่งประเภทยานยนต์ที่มีการจดทะเบียนสะสมสูงสุดในภาคอีสานเช่นกัน อยู่ที่ 1.8 ล้านคัน จากทั้งหมด 7 ล้านคันทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลซึ่งมักใช้ในชีวิตประจำวันภาคอีสานกลับมีการจดทะเบียนสะสมเพียง 1.8 ล้านคัน จากจำนวนรวมทั่วประเทศที่ 12.3 ล้านคัน ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนวิถีชีวิตของชาวอีสานที่ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่สูงนัก รถจักรยานยนต์จึงเป็นทางเลือกที่ประหยัดและเหมาะสมกับการใช้งานประจำวัน ขณะที่รถกระบะก็ถูกนำมาใช้ในเชิงอาชีพ เช่น การขนส่งสินค้าและประกอบกิจการขนาดย่อม ซึ่งสอดคล้องกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้
แม้ว่าภาคอีสานจะมียอดการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์สะสมสูงที่สุดในประเทศ แต่หากย้อนดูข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า ยอดการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ใหม่ (รถป้ายแดง) กลับมีแนวโน้มลดลง แม้จะพ้นช่วงวิกฤตโควิด-19 มาแล้วก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนถึงการชะลอตัวของการบริโภคสินค้าคงทนซึ่งสอดคล้องกับปัญหาเรื้อรังในภาคอีสาน โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่สามารถคลี่คลายได้ ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นและลดการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูง
แม้ว่ายอดการจดทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ใหม่จะชะลอตัวลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ธุรกิจร้านจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์กลับยังมีการเปิดสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง และผู้ประกอบการหลายรายยังสามารถสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจมอเตอร์ไซค์ไม่ได้ยึดรายได้หลักจากการขายรถเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
แต่ในความเป็นจริงแล้ว “การขายรถ” เป็นเพียงหนึ่งในกลไกของรายได้ในธุรกิจนี้เท่านั้น ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยได้ขยับบทบาทมาเป็น “ผู้ให้สินเชื่อ” โดยตรงกับลูกค้า เช่น การให้ผ่อนชำระผ่านร้านเอง หรือผ่านบริษัทในเครือ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทหรือภูมิภาคที่ลูกค้าอาจเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ยาก การให้ผ่อนกับร้านจึงกลายเป็นตัวเลือกหลัก ซึ่งมีความสะดวกและไม่ซับซ้อน
ธุรกิจขายรถจักรยานยนต์ บน โมเดลรายได้หลักจากการปล่อยสินเชื่อ
ดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อเหล่านี้จึงกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าราคาขายมอเตอร์ไซค์ต่อคันมีกำไรไม่ได้มากนัก การปล่อยสินเชื่อผ่อนชำระจึงเป็นทางออกในการเพิ่มกำไรต่อหน่วย แม้จะเสี่ยงเรื่องลูกหนี้ค้างจ่าย แต่ผลตอบแทนที่ได้รับจากดอกเบี้ยยังคงสูงเพียงพอให้ธุรกิจเดินหน้า อย่างไรก็ตาม การปล่อยสินเชื่อจะต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติการกำกับดูแลผู้ให้สินเชื่อรายย่อย หรือข้อกำหนดจากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมักกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไว้ เช่น ไม่เกิน 15% หรือ 23% ต่อปี แล้วแต่ประเภทของสินเชื่อ เพื่อป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อยหรือเข้าถึงสถาบันการเงินหลักได้ยาก
ภาพจากงาน Motor Expo 2021
โดยข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยธุรกิจ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่า แนวโน้มธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในช่วง 1 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ “Negative” โดยปัจจัยสำคัญที่กดดันคือระดับหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้สถาบันการเงินมีแนวโน้มเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อยานยนต์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนผ่านจากปรากฏการณ์เอลนีโญไปสู่ลานีญาเร็วกว่าที่คาดในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ทำให้หลายพื้นที่ประสบกับภาวะน้ำท่วม ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ภาคเกษตรที่มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างจำกัด เมื่อรวมกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนการฟื้นตัวที่ยังอยู่ในระดับต่ำของภาคการผลิต การส่งออก และการลงทุนภาคเอกชน ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในปีนี้ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ และอาจต่อเนื่องไปถึงปี 2568 ขณะเดียวกัน การส่งออกรถจักรยานยนต์ของไทยยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่ช่วยประคับประคองภาพรวมของธุรกิจ ได้แก่ นโยบายส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และมาตรการอุดหนุนจากภาครัฐ รวมถึงการแข่งขันของผู้ให้บริการสินเชื่อกลุ่ม Non-bank ที่เร่งการปล่อยสินเชื่อก่อนสิ้นปี 2567
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ควรติดตามในปี 2568 ได้แก่ ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อาจปรับตัวลดลง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ และระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP หากสามารถปรับลดลงได้ ก็อาจช่วยให้สถาบันการเงินผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น
อ้างอิงจาก
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
- กรมสรรพากร
- กรมการขนส่งทางบก
- แนวโน้มธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์, LH Bank Business Research
- เว็บไซต์ของบริษัท